25 กันยายน 2563
แถลงการณ์ด่วน
เรียกร้องสำนักงานประกันสังคมการเคารพสิทธิของผู้ประกันตนข้ามชาติ ในการเลือกตั้งกรรมการการประกันสังคม
ที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างยกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 และที่ประชุมคณะอนุกรรมการยกร่างฯเห็นว่าผู้ประกันตนที่เป็นคนต่างด้าวไม่ควรมีสิทธิเลือกตั้ง เนื่องจากการบริหารกองทุนถือเป็นอธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของการบริหารกองทุน และมีมติกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งดังนี้
(1)มีสัญชาติไทย
(2)ขึ้นทะเบียนนายจ้างหรือผู้ประกันตนตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือน
(3)จ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่าสามเดือนในระยะเวลาหกเดือนก่อนเดือนมีการประกาศให้มีการเลือกตั้ง
(4)ได้ลงทะเบียนเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้ง และ
(5)กำหนดให้มีการเพิ่มชื่อ-ถอนชื่อผู้มีสิทธิ
การที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯเห็นว่า กฎหมายประกันสังคมใช้ถ้อยคำว่า “การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและสัดส่วนระหว่างหญิงชาย รวมทั้งการมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิผลของคนพิการและผู้ด้อยโอกาส” หมายความว่า ควรที่จะมีไม่ใช่ต้องมี และจากความเห็นดังกล่าวได้นำไปสู่การลงมติกำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่กล่าวมาข้างต้น
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมีความเห็นว่า
- การตีความถ้อยคำกฎหมายว่า “ควรที่จะมีไม่ใช่ต้องมี” นั้นเป็นการลดทอนการมีส่วนร่วมของ
ผู้ประกันตนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย กฎหมายบัญญัติว่า “การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง” ซึ่งแสดงว่ากฎหมายมีเจตนาเพื่อให้ผู้ปฎิบัตินำบทบัญญัตินี้ไปบังคับใช้อย่างแท้จริงเพื่ออำนวยให้ผู้ประกันต้องใช้สิทธิและได้รับการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมายมิใช่ให้ผู้ปฎิบัติใช้บทบัญญัติดังกล่าวเป็นเพียงตัวเลือกว่าจะปฎิบัติหรือไม่ก็ได้ตามที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯตีความ
- นอกจากนี้การที่คณะอนุกรรมการยกร่างฯมีมติกำหนดคุณสมบัติปฎิบัติเกินกว่าที่กฎหมายให้อำนาจไว้และ
คุณสมบัติที่กำหนดนั้นเป็นการขัดต่อหลักการมีส่วนร่วมตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 8 วรรคสามแห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม และขัดต่อหลักการการมีส่วนร่วมของการสานเสวนาทางสังคม (Social dialogue) ซึ่งมีข้อกำหนดต้องมีการแต่งตั้งผู้แทนลูกจ้าง เป็นผู้แทนในการร่วมปรึกษาหารือ หรือร่วมให้ความคิดเห็นกับผู้มีอำนาจตัดสินใจขององค์กร
- แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตนในกองทุนประกันสังคมมีจำนวนกว่า 1.2 ล้านคนซึ่งไม่อาจจะปฎิเสธการ
มีอยู่ของผู้ประกันตนข้ามชาติได้(ตัวเลขนี้ควรเป็นนัยยะของแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ใช่หรือไม่คะ) ดังนั้นคณะอนุกรรมการยกร่างฯจึงต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนทุกคน การอ้างว่าการบริหารกองทุนถือเป็นอธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของการบริหารกองทุนนั้นเป็นข้อกล่าวอ้างที่ไร้หลักการและเป็นข้อกล่าวหาว่าผู้ประกันตนที่เป็นคนข้ามชาติเป็นบุคคลที่เป็นภัยต่ออธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของกองทุนอันเป็นข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง
- เครือข่ายฯ เห็นว่า กองทุนก่อตั้งและตั้งอยู่ด้วยเงินสมทบจากสามส่วน คือรัฐ ผู้ประกอบการและ
ผู้ประกันตน เพื่อเป็นหลักประกันของผู้ประกอบการและผู้ประกันตนที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ผู้ที่ชำระเงินสมทบทุกส่วนต้องมีส่วนร่วมในการบริหารกองทุน รัฐต้องไม่กีดกัน จำกัดหรือสร้างเงื่อนไขให้ผู้มีส่วนได้เสียจากการบริหารกองทุนด้วย
- นอกจากนี้กฎระเบียบดังกล่าวยังอาจขัดต่อข้อตกลงระหว่างประเทศเรื่องหลักความเสมอภาคหรือหลัก
ความเท่าเทียมกัน (equality principle) การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรม (unfair / unjust discrimination) ที่ประเทศเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (International Covenant on Economic, Social and Cultural Rights: ICESCR) ที่วางหลักการเรื่องความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติไว้ว่า “รัฐภาคีแห่งกติกานี้รับที่จะประกันว่าสิทธิทั้งหลายที่ระบุไว้ในกติกานี้ปราศจาก การเลือกปฏิบัติใด ๆ …” รวมทั้งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) และ อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (Convention on the Elimination of All Forms of Racial Discrimination: CERD) ว่าด้วยการห้ามเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง สัญชาติ สถานะทางเศรษฐกิจ สังคม ถิ่นกำเนิด หรือสภาพอื่นใด การคุ้มครองแรงงานทุกคนโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติที่ไทยได้ให้การรับรองไว้ในอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 111 ตลอดจนบทสนทนาเชิงนโยบายในเวทีการประชุมระดับสูงด้านแรงงานระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป (Thailand - EU Labour Dialogue) ระหว่างกระทรงวงแรงงานไทยและกระทรวงการจ้างงาน กิจการสังคม และการหลอมรวมทางสังคมแห่งสหภาพยุโรป (Directorate-General for Employment, Social Affairs and Inclusion (DG EMPL)) ที่ให้ความสำคัญเรื่องการคุมครองทางสังคม (social protection)
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติขอเรียกร้องให้คณะกรรมการยกร่างระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคมทบทวนมติเรื่องคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งโดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของผู้มีส่วนได้เสียในกองทุนประกันสังคม ดังนี้
- ยกเลิกร่างยกระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อันมีลักษณะที่กีดกันทางเชื้อชาติและสัญชาติของผู้ประกันตนที่เป็นประชากรข้ามชาติ
- ยกเลิกหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนและระยะเวลาการจ่ายเงินสมทบ เนื่องจากผู้ที่ขึ้นทะเบียนประกันตนมีผลเป็นผู้ประกันตนทันทีแม้จะยังไม่สามารถใช้สิทธิประโยชน์ในทองทุนประกันสังคมได้ แต่การมีสถานะเป็นผู้ประกันตนย่อมหมายถึงการเป็นผู้มีส่วนได้เสียในกองทุนประกันสังคม ดังนั้น การกำหนดเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาการขึ้นทะเบียนติดต่อกันไม่น้อยกว่าหกเดือนหรือจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนไม่น้อยกว่าสามเดือนนั้นเป็นการสร้างเงื่อนไขที่เป็นการกีดกันผู้ประกันตนในการปกป้องส่วนได้เสียของตน
- การลงทะเบียนเพื่อจะใช้สิทธิเลือกตั้งต้องคำนึงถึงความหลากหลายของผู้ประกันตนเป็นสำคัญและควรเป็นกลไกที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ประกันตนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ง่ายและไม่มีค่าใช้จ่าย
กองทุนประกันสังคมเป็นผลประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกคนจึงเป็นอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจและความมั่นคงของผู้ประกันตนที่จะมีส่วนร่วมในตัดสินใจเลือกผู้แทนที่จะทำหน้าที่ในการบริหารกองทุนและรัฐมีหน้าที่ที่จะต้องอำนวยและคุ้มครองให้ผู้ประกันตนทุกคนให้มีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนเพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนทุกคนโดยเสมอภาค
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
----------------------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ [email protected]