Skip to main content

รายงานการสำรวจสถานการณ์แรงงานข้ามชาติภายใต้การแพร่ระบาดของโรคโควิด–19

กรณีประมงและกิจการต่อเนื่องประมง จังหวัดระนองและสงขลา มิถุนายน- 15 สิงหาคม 2564

สรุปผลการสำรวจ

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG) จัดทำรายงานฉบับนี้ เพื่อสำรวจผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อแรงงานข้ามชาติในภาคประมงและกิจการต่อเนื่องประมงทะเลในจังหวัดระนองและจังหวัดสงขลา เนื่องจากทั้งสองจังหวัดมีการจ้างงานแรงงานข้ามชาติในกิจการดังกล่าวจำนวนมากและเป็นพื้นที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วย   

จังหวัดระนองมีชุมชนแรงงานข้ามชาติเป็นหนึ่งในพื้นที่เสี่ยง จังหวัดสงขลามีคลัสเตอร์การแพร่ระบาดในโรงงานแปรรูปอาหารทะเลที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เป็นอุปสรรค การเก็บข้อมูลในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2564 จึงเข้าถึงแหล่งข้อมูลจากผู้มีส่วนได้เสียได้อย่างจำกัด รายงานนี้จึงเป็นภาพสะท้อนประสบการณ์และมุมมองของผู้ให้ข้อมูลเท่านั้น รายงานสรุปประเด็นหลักจากการสำรวจ ดังนี้

1. โรงงานแปรรูปอาหารทะเล   จากการศึกษาข้อมูลพบว่าสภาพการจ้างโรงงานแปรรูปอาหารทะเลเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและประกันสังคม เมื่อโรงงานปิดกิจการชั่วคราว โรงงานทั้งสองได้มีการปฎิบัติตามมาตรการ Bubble and Seal ที่รัฐกำหนดมาเน้นบังคับใช้เฉพาะกับแรงงานข้ามชาติ โดยโรงงานแต่ละแห่งมีแนวปฏิบัติภายใต้มาตรการดังกล่าวแตกต่างกัน   โรงงานแห่งหนึ่งให้แรงงานกักตัวอยู่ในสภาพที่ไม่ถูกสุขลักษณะ การตรวจคัดกรองโรคไม่ทั่วถึง หน้ากากอนามัยและอาหารไม่เพียงพอ ใช้สิทธิชดเชยรายได้จากเหตุสุดวิสัยของประกันสังคม ขณะที่โรงงานอีกแห่งจัดหาสวัสดิการให้ลูกจ้างเพียงพอ ชดเชยรายได้สูงกว่ามาตรการของรัฐ จัดการด้านสาธารณสุขอยู่ในเกณฑ์ดี อย่างไรก็ตาม สถานประกอบยังขาดการทำกิจกรรมแรงงานสัมพันธ์ Worker Engagement ในช่วงวิกฤติ

2. ภาคประมงและกิจการต่อเนื่องประมง ลูกเรือไม่ประสบปัญหาเรื่องค่าจ้าง ในจังหวัดระนองและสงขลา ส่วนแรงงานในกิจการต่อเนื่องประมง เช่น แพปลา อยู่ในสภาพการจ้างแบบเหมาชิ้นและแบบรายวัน ถือเป็นรูปแบบการจ้างงานที่ไม่มีความมั่นคงทางรายได้ และ สภาพการจ้างในภาพรวม ลูกเรือประมงและลูกจ้างในกิจการต่อเนื่องประมงส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการตามกฎหมายหลายประการ ซึ่งมีสาเหตุหลักจาก 2 ปัจจัย

(1) อยู่ในสภาพการจ้างที่ไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 เช่น ไม่มีการกำหนดวันหยุด วันลา ชั่วโมงทำงาน ค่าจ้าง และสวัสดิการลูกจ้างไว้อย่างชัดเจน  การหลีกเลี่ยงจ้างแรงงานข้ามชาติตามระบบ สัญญาจ้างงาน

(2) ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสังคม และเข้าไม่ถึงสวัสดิการลูกเรือตามกฎหมายกำหนด

ด้วยสภาพที่ลูกจ้างไม่มีความมั่นคงด้านการจ้างงานและเข้าไม่ถึงสิทธิและสวัสดิการลูกจ้าง เมื่อโรคโควิดแพร่ระบาด แรงงานในกิจการต่อเนื่องประมงจึงมีความเปราะบางมากขึ้น จากการหยุดงาน การถูกลดวันและชั่วโมงทำงาน โดยเข้าไม่ถึงการชดเชยเยียวยา ในมิติสุขภาพ แรงงานเข้าถึงการตรวจคัดกรอง การตรวจหาเชื้อ และการรักษา แต่ด้วยเข้าไม่ถึงการชดเชยเยียวยา แรงงานจึงมีภาระทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นมาก เมื่อต้องหยุดงานกักตัวเพื่อควบคุมโรคและรักษาพยาบาล บางคนจึงหลีกเลี่ยงการตรวจหาเชื้อและปกปิดข้อมูล อีกทั้งยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดสรรวัคซีนให้กับแรงงานกลุ่มนี้

 

1. โรงงานแปรรูปอาหารทะเล

ในภาพรวมโรงงานมีสภาพการจ้างที่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน แรงงานได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสังคม อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของ Stella Maris ให้ข้อมูลว่า โรงงานแห่งที่ 1 มีปัญหาเรื่องสภาพการจ้างบ้าง และช่วงมีการแพร่ระบาดของโรควิดก็พบว่ามีการจัดการภายในที่ไม่ได้มาตรฐานหลายอย่าง ซึ่งส่งผลต่อปัญหาสุขภาพและความเป็นอยู่ของแรงงานในช่วงกักตัว

โรงงานในจังหวัดสงขลา เมื่อตรวจพบการแพร่ระบาด โรงงานจะทำงานร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อคัดกรอง ตรวจหาเชื้อ และส่งตัวผู้ป่วยเข้ารับการรักษา ส่วนการคัดกรองและการป้องกันโรคติดต่อเบื้องต้น เช่น เครื่องตรวจวัดอุณหภูมิ การเข้าถึงเจลล้างมือและหน้ากากอนามัยในโรงงานและที่พักอาศัยของแรงงาน รวมถึงการช่วยเหลือแรงงานที่กักตัวตามมาตรการ Bubble and Seal เป็นการจัดการภายในของโรงงาน ซึ่งแต่ละแห่งมีแนวปฏิบัติแตกต่างกัน

โรงงานแห่งที่ 1 

ประกอบกิจการแปรรูปสัตว์น้ำ มีลูกจ้างกว่า 2,900 คน สัญชาติไทยและเมียนมา แรงงานได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสังคม เริ่มพบผู้ติดเชื้อมาตั้งแต่ 30 เมษายน 2564 และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลามีคำสั่งปิดโรงงาน 14 วัน มีผลวันที่ 17 พฤษภาคม 2564

มาตรการชดเชยเยียวยา: มีการหารือระหว่างตัวแทนฝ่ายนายจ้างกับตัวแทนแรงงานเมียนมา เกี่ยวกับแนวทางจัดการเมื่อปิดโรงงานชั่วคราวเพื่อให้มีการชดเชยรายได้ให้แก่แรงงาน  โดยมีการเสนอจ่ายค่าจ้างช่วงโรงงานปิดไม่เกินร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ด้านตัวแทนแรงงานเคยยื่นข้อเสนอให้นายจ้างจ่ายค่าจ้างตามปกติ (ร้อยละ 100) แต่โรงงานแจ้งว่าให้ไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่าโรงงานไม่ได้มีผลกำไรมากพอจะจ่ายเงินชดเชยได้ขนาดนั้น ต่อมาโรงงานถูกสั่งปิดตามคำสั่งจังหวัด โรงงานจึงให้พนักงานใช้สิทธิทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยฯ สำนักงานประกันสังคม แรงงานคนหนึ่งได้รับเงินทดแทนจากประกันสังคม 2,500 บาท แต่หากทำงานได้ปกติเขาจะได้รับค่าจ้างกว่า 4,000 บาท ขึ้นอยู่กับชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา (สัมภาษณ์วันที่ 15 สิงหาคม 2564)  

Bubble and Seal:

- ลูกจ้างคนไทยกักตัวอยู่ที่พักของตัวเอง ลูกจ้างสัญชาติเมียนมาบางส่วนที่เช่าห้องพักเองโรงงานให้ย้ายเข้ามาอยู่ในที่พักของโรงงานทั้งหมด

- แรงงานให้ข้อมูลว่าวันแรกที่มีคำสั่งปิดโรงงาน โรงงานให้แรงงานกักตัวแต่ยังไม่มีการแจกอาหารให้

- วันที่สองของการกักตัวถึงได้รับอาหาร โดย 1 ครอบครัวหรือ 1 ห้อง อยู่รวมกันประมาณ 3 - 5 คน บางครอบครัวมีเด็กด้วย ได้รับการแจกข้าวสารน้ำหนักประมาณ 5 กิโลกรัม 1 ถุง ฟักทองหรือฟักขนาดใหญ่พอสมควร 1 ลูก นอกจากนี้ ได้รับแจกไข่ไก่สดคนละ 1 ฟอง ไก่สดหมดอายุ 2 กิโลกรัม

 

ข้อความในฉลากสินค้าระบุว่า “ผลิตวันที่ 07/01/2020 ควรบริโคก่อน 07/01/2021

 

ไข่คนละฟอง ข้าวสาร 1 ถุง สำหรับ 4 คน ในช่วงโควิดแบบนี้...” แรงงานแสดงความคิดเห็น

- แรงงานแสดงความไม่พอใจที่โรงงานแจกไก่สดหมดอายุ มีการจับกลุ่มแสดงความไม่พอใจแต่ไม่ถึงกับประท้วงหรือมีการยื่นข้อเสนอกับโรงงาน โรงงานจึงเปลี่ยนไก่สดชิ้นใหม่ให้

- อาหารที่ได้รับแจกไม่เพียงพอ แรงงานคนหนึ่งกล่าวว่า “กินได้ 2-3 วันก็หมด (สัมภาษณ์วันที่ 1 สิงหาคม 2564) แรงงานหลายคนอยู่รอดได้ด้วยข้าวสารสำรองของตัวเอง เพราะปกติจะซื้อเก็บไว้กินรอบละ 5-10 กิโลกรัม

- แรงงานมีการประสานขอความช่วยเหลือจาก NGO ทางหน่วยงานจึงเตรียมนำถุงยังชีพไปมอบให้ แต่แรงงานไม่ได้รับอนุญาตให้ออกมารับ และ NGO ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในโรงงาน

- โรงงานประสานกับรถขายผัก ไก่ หมู ไข่ น้ำปลา ด้านนอก และคัดเลือกแรงงานที่กักตัวอยู่ด้วยกันเป็นตัวแทนในการรับซื้อของมาขายในพื้นที่โรงงานอีกต่อ ราคาสินค้าจึงสูงกว่าปกติ เช่น กระเจี๊ยบปกติมัดละ 5 บาท ช่วงกักตัวราคามัดละ 10 บาท

- แรงงานสะท้อนว่าความเป็นอยู่ในช่วงกักตัวค่อนข้างลำบาก เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ออกนอกพื้นที่โรงงาน และสวัสดิการที่ได้รับจากโรงงานมีจำกัด เครื่องปรุงอาหาร เช่น พริก น้ำปลา น้ำมัน มีไม่เพียงพอ ขาดแคลนของใช้พื้นฐาน เช่น อุปกรณ์อาบน้ำและซักล้าง เป็นต้น

- แรงงานไม่ได้มีการเรียกร้องอะไรเพิ่มเติม เนื่องจากพอคาดการณ์ได้ว่าโรงงานคงไม่ตอบสนอง และแรงงานยังพอทนรับสภาพความเป็นอยู่ได้

- เจ้าหน้าที่ MWRN และ Stella Maris ได้รับการบอกเล่าจากแรงงานว่าโรงงานไม่ได้มีการตรวจเชิงรุกให้กับแรงงานเมียนมาทีต้องกักตัวรวมกันร่วม 1,500 คน เฉพาะผู้ป่วยแสดงอาการที่ได้รับการตรวจและส่งตัวไปรักษาตามอาการ ส่วนคนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงมักไม่ได้รับการตรวจหาเชื้อและใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในหอพัก คาดว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่น้อยที่ได้รับการตรวจ อีกทั้ง หอพักที่ใช้กักตัวมีสภาพค่อนข้างแออัด ห้องน้ำไม่สะอาดและไม่เพียงพอ หน้ากากอนามัยต้องใช้ซ้ำ มีไม่เพียงพอให้เปลี่ยนชิ้นใหม่ทุกวัน การสัมภาษณ์แรงงานเพิ่มเติมวันที่ 1 และ 15 สิงหาคม 2564 ได้รับข้อมูลเช่นเดียวกันนี้ เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานข้างต้นทั้งสองแห่งสะท้อนตรงกันว่า การขาดมาตรการตรวจเชิงรุกเพื่อคัดกรองและกักตัวผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยงสูง ความเป็นอยู่ที่ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ได้มาตรฐานสาธารณสุข ส่งผลต่อสุขภาพจิตใจและมีส่วนทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในโรงงานรุนแรงขึ้น

สื่อท้องถิ่นฉบับหนึ่งรายงานสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในโรงงานแห่งที่ 1 สรุปดังนี้

- วันที่ 16 พฤษภาคม รายงานข่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มมีการตรวจพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดภายในโรงงานแห่งที่ 1 [มาตั้งแต่ 30 เมษายน] หลังจากมีการตรวจคัดกรองแล้ว 4 ครั้ง ทุกครั้งพบจำนวนผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มขึ้น เช่น วันที่ 12 พฤษภาคม ได้ทำ swab ประมาณ 400 ทราบเบื้องต้นเป็น Positive จำนวนมาก เครือข่ายสวัสดิการภาคประชาชนจังหวัดสงขลาได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการพบผู้ติดเชื้อแต่ไม่มีการปิดโรงงาน เพราะยังคงมีคนไทยที่เดินทางไป-กลับบ้านเพื่อทำงาน [โรงงานแห่งนี้มีลูกจ้างคนไทยกว่า 1,400 คนที่อาศัยกระจายในหลายอำเภอ] ด้านเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมีการสอบสวนโรคและได้เสนอให้ปิดโรงงานเพื่อทำการควบคุมโรคเป็นเวลา 14 วัน และแม้โรงงานเริ่มปิดการดำเนินการบางส่วนไปเนื่องจากแรงงานบางคนต้องกักตัว แต่จังหวัดคงไม่สั่งปิดโรงงาน จนกระทั่งวันที่ 17 พฤษภาคมถึงมีคำสั่งปิด

- วันที่ 22 พฤษภาคม แรงงานเมียนมากว่า 400 คน ประท้วงหน้าโรงงาน เนื่องจากไม่ได้รับการชี้แจงข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดูแลรักษาโรคโควิด แรงงานจึงรวมตัวเรียกร้องให้โรงงาน ชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคโควิด หลังจากเข้าใจว่ามีการเลือกปฏิบัติ หยุดตรวจโควิดให้กับแรงงานเมียนมา

- การประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา วันที่ 24 พฤษภาคม ตัวแทนของโรงงานที่ 1 ได้นำเสนอแผนประคองกิจการภายหลังปิดกิจการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม เพื่อขออนุญาตเปิดดำเนินการในบางส่วน ให้สามารถส่งสินค้าที่เป็นปลากระป๋องซึ่งค้างคำสั่งซื้อของคู่ค้า 90 ตู้คอนเทนเนอร์ โดยร้องขอให้สามารถนำแรงงานไทย 200 - 300 คน ที่ตรวจ swab แล้วผลเป็นลบทั้ง 2 ครั้ง เข้าทำงานภายใต้มาตรการควบคุมเข้มงวด และแรงงานชาวเมียนมาที่อยู่ภายใต้มาตรการ Seal และไม่มีอาการ โดยจะให้ทำงานกันคนละฝั่ง ไม่ให้คนไทยและคนเมียนมาพบหรือสัมผัสกัน ซุปเปอร์ไวเซอร์ให้ใส่ชุด PPE ในการควบคุมงาน โดยอ้างให้เหตุผลว่าแผนการดำเนินการทั้งหมดนั้นมีแนวทางเดียวกับที่เคยมีการปฏิบัติในจังหวัดสมุทรสาครก่อนหน้านี้ ซึ่งที่ประชุมได้มอบหมายให้ฝ่ายสาธารณสุขพิจารณาแผน โดยแนวโน้มคาดว่าจะสามารถผ่อนคลายให้เปิดดำเนินการได้บางส่วน แต่อาจให้ใช้พนักงานคนไทยน้อยกว่าที่ร้องขอ

- แรงงานสัญชาติเมียนมา เพศหญิง ที่กักบริเวณอยู่ในหอพักคนงาน ติดเชื้อโควิดและเสียชีวิต 1 คน เธอเริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 9 ต่อมาวันที่ 10 มิถุนายน มีอาการเพลียมากหายใจเหนื่อยหอบ จึงถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล จนกระทั่งเสียชีวิตวันที่ 11 และทำพิธีเผาศพวันที่ 12 มิถุนายน

การจัดการหลังโรงงานกลับมาเปิดทำการ: หลังจากปิดโรงงานครบ 14 วัน โรงงานก็กลับมาเปิดปกติ แรงงานกลับมาใช้ชีวิตปกติ คนที่เช่าห้องพักอยู่นอกโรงงานก็กลับไปอยู่ห้องพักของตัวเอง ไม่ได้มีมาตรการกักตัวหรือควบคุมเป็นพิเศษ

คนที่หายป่วยจากโรงพยาบาลกลับเข้าทำงานต่อตามปกติ ไม่ต้องกักตัวต่อ แรงงานคนหนึ่งกล่าวถึงบรรยากาศในช่วงแรกที่โรงงานกลับมาเปิดทำการว่า ลูกจ้างคนไทยมักแสดงความเกลียดชังแรงงานเมียนมาว่าเป็นตัวเชื้อโรค ไม่กล้าเข้าใกล้ กลัวติดเชื้อ ปัจจุบันไม่มีเหตุการณ์นี้แล้ว

วัคซีนโควิด: ลูกจ้างคนไทยจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีนผ่านระบบการลงทะเบียนสำหรับบุคคลสัญชาติไทย ส่วนลูกจ้างสัญชาติเมียนมาได้รับการแจ้งว่าให้รอรับจากการจัดสรรตามสิทธิประกันสังคม

โรงงานแห่งที่ 2

ประกอบกิจการผลิตอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง มีลูกจ้างประมาณ 6,000 กว่าคน เริ่มพบผู้ติดเชื้อวันที่ 9 มิถุนายน 2564 โรงงานประกาศปิดตัวเอง 14 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2564

มาตรการชดเชยเยียวยา: โรงงานจ่ายค่าจ้างรายวันตามปกติ ไม่มีเฉพาะค่าล่วงเวลา

Bubble and Seal:

- ลูกจ้างคนไทยกักตัวอยู่ที่พักของตัวเอง ลูกจ้างสัญชาติเมียนมาและกัมพูชาบางส่วนที่เช่าห้องพักเอง โรงงานให้ย้ายเข้ามาอยู่ในที่พักของโรงงานทั้งหมด

- การจัดการอาหาร ช่วงแรกโรงงานสั่งอาหารปรุงสุกมาให้ลูกจ้างวันละ 3 มื้อ แต่ลูกจ้างสัญชาติเมียนมามีวัฒนธรรมการกินเฉพาะ จึงเสนอให้โรงงานจัดหาอาหารแบบเมียนมาให้ โรงงานรับข้อเสนอและมอบหมายให้ล่ามคัดเลือกคนอื่น ๆ มาช่วยกันปรุงอาหารสำหรับลูกจ้างสัญชาติเมียนมา

- ส่วนลูกจ้างสัญชาติกัมพูชาสามารถกินอาหารปรุงสุกที่โรงงานจัดให้ได้ตามปกติ เพราะมีวัฒนธรรมการกินใกล้เคียงกับไทย

การจัดการหลังโรงงานกลับมาเปิดดำเนินการ:

- ลูกจ้างที่ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือกลุ่มผู้ที่รักษาหายแล้วให้กักตัวต่อเนื่องอีก 14 วัน โดยได้รับค่าจ้างและอาหาร 3 มื้อระหว่างการกักตัว

- นับจากโรงงานเริ่มกลับมาเปิดเมื่อวันที่ 5 จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม  2564 ลูกจ้างที่ทำงานได้ค่าจ้าง 2 แรง หรือเพิ่มขึ้นจากค่าจ้างรายวันปกติ 1 เท่าตัว ระหว่างวันที่ 1 - 31 สิงหาคม 2564 ปรับลดลงมาเป็นมากกว่าค่าจ้างปกติครึ่งเท่าตัว เป็นจ่ายค่าจ้างเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งมีเหตุผลมาจากลูกจ้างยังกลับมาทำงานไม่ได้ทุกคน ส่งผลให้ลูกจ้างที่สามารถทำงานในช่วงนี้อาจมีภาระงานมากขึ้น

- ผู้ที่เช่าห้องพักอยู่เอง สามารถกลับไปอยู่ห้องเช่าได้ตามปกติ ให้เดินทางไป-กลับจากที่พักถึงโรงงานในเส้นทางที่กำหนดเท่านั้น ไม่อนุญาตให้พัก/แวะระหว่างทาง ยกเว้นซื้ออาหารในจุดที่ให้บริการ

วัคซีนโควิด: โรงงานจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับลูกจ้างฟรีทุกคน ทุกสัญชาติ โดยเริ่มฉีดเข็มแรกไปแล้วบางส่วน อย่างไรก็ตาม มีแรงงานข้ามชาติบางคนยังไม่ได้รับวัคซีน เนื่องจากบางคนยังมีความกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียง ขณะที่บางคนเป็นผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว จึงเลือกตรวจหาแอนติบอดีเพื่อดูว่าจำเป็นต้องรับวัคซีนหรือไม่

 

2. ภาคประมง: ผลกระทบด้านการจ้างงานและรายได้ในภาวะปกติและช่วงโควิดแพร่ระบาด

แรงงานข้ามชาติที่เป็นลูกเรือทั้งในจังหวัดระนองและจังหวัดสงขลา แทบไม่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ในช่วงที่โรคโควิดแพร่ระบาด เพราะออกเรือได้ตามปกติ

ในภาพรวม ภาคประมงประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน[1] นายจ้างแข่งขันกันหาลูกจ้าง ค่าจ้างลูกเรือในตลาดแรงงานจึงสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ โดยมักได้รับค่าจ้างรายเดือน แต่การคำนวณค่าจ้างจริงจะคิดตามจำนวนวันที่ออกเรือจับสัตว์ทะเลเท่านั้น เช่น ค่าจ้างเดือนละ 15,000 บาท จะเท่ากับได้ค่าจ้างวันละ 500 บาท วันไหนที่ไม่ได้ลงเรือค่าจ้างก็จะถูกหักออกวันละ 500 บาท

แม้ลูกเรือประมงไม่มีปัญหาเรื่องการจ้างงานและค่าจ้าง แต่ลูกเรือไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม และส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงสวัสดิการที่กระทรวงแรงงานกำหนดให้เจ้าของเรือจัดให้แก่ลูกเรือ[2] อีกทั้งมีสภาพการทำงานที่เสี่ยงต่อการถูกละเมิดสิทธิแรงงานหลายประการ เช่น ถูกละเมิดเรื่องค่าจ้างจากการเข้าไม่ถึงสัญญาจ้าง การทำงานบนเรือที่มีลักษณะเฉพาะ ถูกกำหนดโดยปริมาณสัตว์ทะเลที่จับได้ และความเป็นอยู่บนเรือที่ยากต่อการตรวจสอบของภาครัฐ บางคนถูกเรียกเก็บค่าทำใบอนุญาตทำงานสูงกว่ากฎหมายกำหนด บางคนถูกยึดเอกสารส่วนตัว

ลูกเรือประมง จังหวัดระนอง (สัมภาษณ์วันที่ 13 กรกฎาคม 2564) ได้ค่าจ้างเดือนละ 11,000 บาท ปกติออกเรือ 15 วัน กลับเข้ามาพักบนฝั่ง 1-2 วัน ช่วงโควิดออกเรือต่อเนื่อง 4 เดือน ได้ค่าจ้างล่วงหน้า 44,000 บาท หลังออกเรือได้ 3 เดือน เจอพายุต้องจอดเรืออยู่ที่เกาะ 10 วัน นายจ้างจึงจะเอาเงินคืนสามพันกว่าบาท อ้างว่าเรือจอดไม่ได้ทำงาน เขาไม่ยอมเพราะปกติถ้าเรือออกจากฝั่งแล้วจะนับเป็นวันทำงาน เขาจึงลาออกและขอเอกสารส่วนตัวฉบับจริงที่นายจ้างเก็บไว้คืน นายจ้างบอกให้เขาจ่ายเงิน 28,000 บาท เป็นค่าจ้างที่ขอคืนช่วงที่เจอพายุ 3,000 บาท และค่าทำใบอนุญาตทำงาน 25,000 บาทที่นายจ้างออกให้ก่อนหน้า ซึ่งเขาได้จ่ายค่าทำใบอนุญาตทำงานคืนไปแล้วบางส่วน แต่เขาจำจำนวนเงินไม่ได้ แต่นายจ้างจะเอาคืนตามที่บอก ซึ่งเขาไม่มีเงินจ่ายคืน จึงยังไม่ได้เอกสารส่วนตัวคืนและไปทำงานกับนายจ้างใหม่ไม่ได้

คุณัญญา สองสมุทร หัวหน้าสำนักงานกฎหมายทนายคุณัญญา สองสมุทร (สัมภาษณ์วันที่ 14 กรกฎาคม 2564) กล่าวถึงการละเมิดเรื่องค่าจ้างแรงงานประมงว่ายังคงเป็นปัญหาที่พบอยู่และมีความซับซ้อนขึ้น แม้กฎหมายกำหนดให้ต้องมีสัญญาจ้างประกอบการทำใบอนุญาตทำงาน และให้ลูกจ้างมีบัญชีธนาคารสำหรับรับโอนจ่ายค่าจ้าง แต่การดำเนินการเกี่ยวกับเอกสารหรือการขอใบอนุญาตทำงาน นายจ้างหลายคนมักจะใช้บริการนายหน้า และลูกจ้างมักมีหน้าที่แค่ลงชื่อหรืออาจไม่ได้ลงชื่อในสัญญาจ้างก็ได้ อีกทั้งลูกจ้างมักไม่มีสำเนาสัญญาจ้างอยู่กับตัวเองและยากที่จะเข้าถึงสัญญาจ้าง และแม้แรงงานส่วนใหญ่จะมีสมุดธนาคารและบัตรกดเงินสดเพื่อรับเงินค่าจ้าง แต่ในทางปฏิบัติ แรงงานส่วนใหญ่ไม่ได้ถือสมุดธนาคารและบัตรกดเงินสด และได้รับเงินค่าจ้างเป็นเงินสดซึ่งอาจมากกว่าที่ระบุในสัญญา แต่เมื่อมีปัญหาเรื่องค่าจ้างหรือหนี้สินเกิดขึ้น ตัวนายจ้างจะมีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักมากกว่ามาแสดงว่าไม่ได้ทำผิดสัญญาจ้าง ไม่มีปัญหาหนี้สิน ไม่ได้หักค่าใช้จ่ายเกินจริง เพราะนายจ้างสามารถเข้าถึงสัญญาจ้างและมีหลักฐานการโอนเงินค่าจ้างประกอบ

 

3. กิจการต่อเนื่องประมง เช่น แพปลา ล้ง และโรงงานขนาดเล็ก: ผลกระทบด้านการจ้างงานและรายได้ในภาวะปกติและช่วงโควิดแพร่ระบาด

จังหวัดสงขลา แรงงานข้ามชาติแทบไม่ได้รับผลกระทบด้านการจ้างและรายได้ ลูกจ้างในแพปลาอย่างน้อย 3 แห่งที่ให้สัมภาษณ์ ยังคงมีทำงานตามปกติ แม้ในพื้นที่จังหวัดสงขลามีการแพร่ระบาดรุนแรงจนต้องประกาศเคอร์ฟิว แต่การแพร่ระบาดยังจำกัดวงอยู่ในเขตอุตสาหกรรมที่มีโรงงานขนาดใหญ่

จังหวัดระนอง แรงงานชายที่ทำงานประเภทยกลังและถังบรรจุสัตว์ทะเล ทำความสะอาดแพปลา เป็นลูกจ้างกลุ่มน้อยของกิจการแพปลา ได้รับค่าจ้างเป็นรายเดือน แทบไม่ได้ผลกระทบด้านรายได้ เพราะยังคงมีหน้าที่ดูแลแพปลาแม้แพปลาหยุดทำการซื้อ-ขาย และนายจ้างอาจให้ทำงานอื่นแทน เช่น ทำสวน

ส่วนแรงงานที่ทำงานประเภทคัดแยกประเภท/ขนาดสัตว์ทะเล แกะกุ้ง เป็นต้น เป็นลูกจ้างกลุ่มหลักของกิจการแพปลา มีลูกจ้างหญิงจำนวนมาก ได้รับผลกระทบด้านรายได้ค่อนข้างหนัก ลูกจ้างแพปลาอย่างน้อย 6 แห่ง และโรงงานปลาหมึก 1 แห่ง มีรายได้ลดลงเกือบร้อยละ 50 ผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากมีสาเหตุมาจากการระบาดของโรคโควิดระลอกปัจจุบันแล้ว ยังเป็นผลมาจากการปิดพรมแดนและปิดอ่าวไทย-เมียนมา ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก ซึ่งภาคประมงระนองพึ่งพาสัตว์ทะเลจากฝั่งเมียนมา และเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม เป็นช่วงฤดูมรสุมของทะเลฝั่งอันดามัน ทำให้เรือประมงจับสัตว์ทะเลได้น้อยลง

มาตรการชดเชยเยียวยา

แรงงานข้ามชาติในจังหวัดระนองที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ เข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเยียวยา แรงงานหลายคนต้องกู้เงิน ต้องยังชีพด้วยการหาหอยไฟไหม้และหอยพงขาย บางวันได้เงิน 100-250 บาท  

แรงงานข้ามชาติในกิจการต่อเนื่องประมงในพื้นที่จังหวัดระนองและจังหวัดสงขลา กรณีได้ผลกระทบจากโรคโควิดแพร่ระบาดมีความเสี่ยงที่จะเข้าไม่ถึงการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐหรือนายจ้างหลายปัจจัย เช่น

(1) แรงงานจำนวนมากไม่ได้ขึ้นทะเบียนประกันสังคม โดยเฉพาะแรงงานที่จ้างงานตามมาตรา 64 ตามพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ในอำเภอเมือง จังหวัดระนอง

(2) ผู้ประกันตนไม่ได้รับการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิประกันสังคมและการเข้าถึงสิทธิอย่างเพียงพอ รวมถึงอุปสรรคที่เกิดจากแนวปฏิบัติในการเข้าถึงสิทธิของสำนักงานประกันสังคมเองด้วย

(3) สภาพการจ้างในกิจการต่อเนื่องประมงที่มักไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ไม่มีการกำหนดสวัสดิการลูกจ้างไว้อย่างชัดเจน และ พระราชกําหนดการบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.  2561 การจ้างงานมีทั้งลักษณะรายวัน รายชั่วโมง จ้างเหมา นิติสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างมักเป็นกึ่งงานประจำ กึ่งงานอิสระ ระยะเวลาการทำงานและค่าจ้างสุทธิแต่ละวันไม่แน่นอน เข้า/เริ่มงานตรงเวลา แต่เวลาออก/เลิกงานไม่แน่นอน จะถูกกำหนดโดยปริมาณงานในแต่ละวัน วันหยุดและวันลาไม่ได้รับค่าจ้าง การจ่ายค่าจ้างมีทั้งจ่ายรายวัน รายสัปดาห์ หรือรายเดือนตามแต่ตกลงกัน ลูกจ้างมีนายจ้างที่ทำงานด้วยเป็นประจำ กรณีนายจ้างประจำไม่มีงานให้ทำ หรือมีงานน้อย เมื่อทำเสร็จเร็ว ลูกจ้างสามารถไปทำงานกับนายจ้างอื่นได้ ช่วงโรคโควิดแพร่ระบาด นายจ้างก็ปฏิบัติกับลูกจ้างดังเดิม คือ มีงานก็เรียกมาทำงาน มีงานมากหรือน้อยก็ให้ทำงานตามนั้น ไม่มีงานก็ไม่ได้ทำ แทบไม่มีการมองว่าเป็นการหยุดงานหรือขาดรายได้จากเหตุสุดวิสัย และไม่มีมาตรการช่วยเหลือเยียวยารายได้ นายจ้างไม่ได้ร่วมรับผิดชอบต่อสวัสดิการและการคุ้มครองคนงาน

สภาพการจ้างในกิจการต่อเนื่องประมงทั้งในภาวะปกติและช่วงโควิดแพร่ระบาด

ลูกจ้างแพปลา จังหวัดสงขลา นำเข้าตาม MOU เป็นผู้ประกันตน (สัมภาษณ์วันที่ 17 กรกฎาคม 2564) รับจ้างเหมาขูดปลาโอได้กิโลกรัมละ 5 บาท ปกติได้เงินวันละ 400-500 บาทต่อวัน ทำงานตั้งแต่ 06.30 น. ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าปลาจะหมด ทุกวันนี้มีงานทำไม่เคยขาด แต่เคยได้กักตัว 14 วัน เนื่องจากคนขับรถที่นำปลาจากจังหวัดปัตตานีมาส่งที่แพปลาของเขา ตรวจพบว่าติดโควิด นายจ้างจึงสั่งปิดแพปลา ให้ลูกจ้างกักตัวสังเกตอาการ นายจ้างช่วงเรื่องอาหาร แต่ไม่จ่ายค่าจ้าง เพราะไม่ได้ทำงาน

ลูกจ้างแพปลา จังหวัดสงขลา นำเข้าตาม MOU เป็นผู้ประกันตน (สัมภาษณ์วันที่ 17 กรกฎาคม 2564) รับจ้างเหมาขูดเนื้อปลาโอได้กิโลกรัมละ 6 บาท ทำงานจ้างเหมาเหนื่อยและกดดันต้องทำยอดให้ได้ ปลาตัวใหญ่จะได้เงินวัน 500-600 บาท ปลาตัวเล็กได้ 300-400 บาท ปลาตัวเล็กมีเนื้อน้อย ทำยาก ใช้เวลาทำนาน เข้างานเช้ามืด ถ้าปลาตัวเล็กจะเลิกงาน 20.00 - 21.00น. แต่ถ้าปลาตัวใหญ่ จะเลิกงาน 15.00 น. ช่วงโควิดแพร่ระบาดมีทำงานตามปกติ แต่ไปตลาดลำบากเพราะกลัวติดโรควิด

ลูกจ้างแพปลา จังหวัดระนอง จ้างงานตามมาตรา 64 (สัมภาษณ์วันที่ 12 กรกฎาคม 2564) ทำงานคัดแยกกุ้ง ปลา และปลาหมึก ในแพปลาที่เขาทำงานมีสัตว์ทะเลทุกชนิด ทำงานทุกวัน ยกเว้นวันอาทิตย์ เริ่ม 04.00 น. ช่วงสาย ๆ ก็เลิก ได้ค่าจ้างวันละ 320 บาท แต่ปัจจุบันวันหยุดไม่แน่นอน บางสัปดาห์หยุด 1 วัน หรือ 2 วัน และเคยหยุดติดต่อกัน 7 วัน วันที่หยุดจะไม่ได้เงิน หกโมงเย็นนายจ้างจะโทรมาบอกหากวันพรุ่งนี้มีงาน ถ้าไม่มีงานจะไม่โทรมา ทุกวันลูกจ้างก็จะเฝ้ารอรับสายโทรศัพท์จากนายจ้าง และต้องอดทนเป็นพิเศษ เนื่องจากไม่มีงานจากเจ้าอื่นให้เวียนทำเหมือนเมื่อก่อน

ลูกจ้างโรงงานคัดแยกปลาหมึก จังหวัดระนอง หญิง MOU เป็นผู้ประกันตน (สัมภาษณ์วันที่ 13 กรกฎาคม 2564) ทำงานจ้างเหมาแกะหนามออกจากปากปลาหมึก ตัวใหญ่ได้กิโลกรัมละ 1 บาท ตัวขนาดกลางได้กิโลกรัมละ 3-4 บาท ตัวเล็กได้กิโลกรัมละ 5 บาท เริ่มงาน 05.00 น. เวลาเลิกงานไม่แน่นอน บางวันเลิกงาน 20.00 น. ได้เงินประมาณวันละ 300 - 500 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดและปริมาณปลาหมึก โควิดระบาดรอบนี้ได้รับผลกระทบอย่างมาก งานลดลงมาก บางวันทำงานได้เงินร้อยกว่าบาท บางวันไม่มีงานเลย แต่ต้องไปโรงงานทุกวัน ไม่เช่นนั้นหัวหน้าจะตำหนิ แต่ไปสายกว่าปกติ ถึงโรงงาน 8.00 น. ไปดูว่ามีปลาหมึกไหม หากไม่มีก็กลับบ้าน ครั้นจะไปหางานที่แพปลาอื่นก็ไม่มี หลายแห่งเงียบเหมือนกันแทบทุกที่

 

4. ประกันสังคมและสวัสดิการลูกจ้าง กรณีขาดรายได้จากการแพร่ระบาดของโรคโควิด

4.1 ลูกเรือประมง

- ลูกเรือประมงที่สัมภาษณ์ให้ข้อมูลว่าส่วนใหญ่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสังคม องค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพในจังหวัดระนอง (วันที่ 14 กรกฎาคม 2564) และ Stella Maris จังหวัดสงขลา (วันที่ 16 กรกฎาคม 2564) กล่าวว่า มีสาเหตุสำคัญมาจากการขึ้นทะเบียนประสังคมในกิจการประมงเป็นภาคสมัครใจไม่ใช่ภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 นายจ้างจึงให้แรงงานซื้อประกันสุขภาพ ทำให้เข้าไม่ถึงสิทธิประโยชน์จากกองทุนประกันสังคม การเสียชีวิตจากโควิด และสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากการระบาดของโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ อย่างไรก็ตาม ลูกเรือประมงมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนจากเจ้าของเรือตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง[3]

- ลูกเรือในจังหวัดระนองที่ให้สัมภาษณ์คนหนึ่ง (14 กรกฎาคม 2564) ติดเชื้อโควิด ต้องหยุดงานเพื่อรับการรักษา 16 วัน ระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม 2564 แม้เขาไม่ได้เป็นผู้ประกันตน แต่ยังคงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ดังความบางส่วนในข้อ 4 วรรคหนึ่ง ตามประกาศของกระทรวงแรงงานข้างต้น “ให้เจ้าของเรือจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย หรือประสบอันตรายให้แก่แรงงานประมง ในอัตราร้อยละห้าสิบของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนด สำหรับการที่แรงงานประมงต้องหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์ ในระยะเวลาหนึ่งปีปฏิทินต้องไม่เกินหนึ่งร้อยแปดสิบวัน” อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้รับสิทธิดังกล่าว

4.2 ลูกจ้างในกิจการต่อเนื่องประมง

- จังหวัดระนอง มีเพียงแรงงานโรงงานคัดแยกปลาหมึก นำเข้าตาม MOU ที่เป็นผู้ประกันตน ขณะที่ผู้ให้สัมภาษณ์อื่น ๆ ที่ทำงานในแพปลาส่วนใหญ่เป็นการจ้างงานตามมาตรา 64 ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนประกันสังคม

- การจ้างงานตามมาตรา 64 ในเชิงหลักกฎหมาย เป็นการจ้างงานชายแดนในลักษณะชั่วคราว ตามฤดูกาล ใบอนุญาตทำงานมีอายุ 90 วัน กฎหมายไม่ได้บังคับให้นายจ้างนำลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคม อย่างไรก็ตาม กิจการต่อเนื่องประมงมีลักษณะการทำงานประจำ มีการจ้างงานต่อเนื่องตลอดปี จึงมิใช่กิจการที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมายประกันสังคม นายจ้างที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป ต้องนำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม ปัญหานี้เกิดขึ้นในเขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตาก มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาชี้ให้เห็นว่า นายจ้างใช้แรงงานตามมาตรา 64 ในกิจการโรงงานที่มีลักษณะการทำงานแบบประจำ โดยให้แรงงานต่อใบอนุญาตทำงานทุก 90 วันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน และพระราชบัญญัติประกันสังคม ในการคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการของลูกจ้าง[4]

- จังหวัดสงขลา ผู้ให้สัมภาษณ์ทุกคนเป็นแรงงานนำเข้าตาม MOU เป็นผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม อย่างไรก็ตาม แรงงานคนหนึ่งที่ขาดรายได้จากการกักตัว 14 วัน เนื่องจากคนขับรถที่นำปลาจากจังหวัดปัตตานีมาส่งที่แพปลาของเขา ตรวจพบว่าติดโควิด นายจ้างจึงสั่งปิดแพปลา ให้ลูกจ้างกักตัวสังเกตอาการ นายจ้างให้ความช่วยเหลือเป็นข้าวสาร ปลากระป๋อง ไข่ และมาม่าเพียงพอต่อการบริโภค แต่ไม่จ่ายค่าจ้างเพราะไม่ได้ทำงาน เขาไม่ได้ยื่นคำขอรับเงินทดแทนการขาดรายได้ตามสิทธิประกันสังคมปกติและสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยฯ เพราะเขาไม่ได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทดแทนดังกล่าว (สัมภาษณ์วันที่ 17 กรกฎาคม 2564)

4.3 การขึ้นทะเบียนใช้สิทธิรับเงินทดแทนกรณีได้รับผลกระทบจากโรคโควิด

- เจ้าหน้าที่ศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลจังหวัดสงขลา (อ้างแล้ว) กล่าวว่า แรงงานมีอุปสรรคหลายอย่างในการยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยฯ ยกเว้นโรงงานขนาดใหญ่หรือกิจการที่ปิดตามคำสั่งของราชการ เช่น กรณีโรงงานแห่งที่ 1 เท่าที่ได้รับข้อมูล นับตั้งแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิดรอบแรก แทบไม่มีแรงงานในกิจการขนาดเล็กที่เข้าถึงสิทธิดังกล่าว

- เมื่อพิจารณาวิธีการและเงื่อนไขการยื่นคำขอรับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเนื่องจากมีเหตุสุดวิสัยฯ จะเห็นว่าไม่เอื้อประโยชน์ให้แรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะในกิจการต่อเนื่องประมง กล่าวคือ

                   (1) วิธีการและเอกสารที่ใช้ในการยื่นคำขอต้องทำในระบบออนไลน์ หรือ E-services เป็นหลัก ข้อมูลที่ปรากฎในระบบออนไลน์และเอกสารประกอบอื่น ๆ ใช้ภาษาไทยเป็นหลัก มีภาษาอังกฤษบางส่วน แต่ไม่มีภาษาของแรงงาน

                   (2) แรงงานข้ามชาติไม่สามารถยื่นว่างปกติผ่านช่องออนไลน์ได้ เพราะระบบให้ล็อคอินเข้าระบบด้วยเลขบัตรประชาชนไทยเท่านั้น

(3) แนวปฏิบัติในการยื่นคำขอว่างงานด้วยเหตุสุดวิสัยก็ซับซ้อน และกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้ยื่นคำขอแทนลูกจ้าง ดังนี้ (2.1) แรงงานดาวน์โหลดแบบคำขอออกมากรอกรายละเอียดพร้อมแนบสมุดบัญชีเงินฝากมอบให้นายจ้าง กรณีลูกจ้างติดโควิดต้องมีใบรับรองแพทย์ (2.2) นายจ้างบันทึกข้อมูลผ่านระบบ E-services พร้อมแนบเอกสารตามที่ประกันสังคมกำหนด กรณีมีการกักตัวหรือสถานประกอบการปิดชั่วคราวหรือได้รับผลกระทบจากคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ให้มีคำสั่งหรือจดหมายราชการรับรอง (2.3) เมื่อบันทึกข้อมูลผ่านระบบ E-services แล้ว ให้นายจ้างนำส่งเอกสารทางไปรษณีย์ให้สำนักงานประกันสังคมด้วย

                        (4) มีโอกาสสูงที่นายจ้างอาจไม่ดำเนินการให้ลูกจ้าง มีสาเหตุมาจากแนวปฏิบัติในการยื่นคำขอที่ซับซ้อนดังอธิบายในข้อ (2) บวกกับสภาพการจ้างงานในกิจการต่อเนื่องประมงที่มีลักษณะไม่เป็นทางการ และไม่มีการกำหนดสวัสดิการลูกจ้างไว้อย่างชัดเจน นายจ้างจึงอาจไม่ได้ตระหนักว่าลูกจ้างอยู่ในสภาวะขาดรายได้จากการถูกลดวันและเวลาทำงานเนื่องจากโรคโควิด

                        (5) เงื่อนไขการใช้สิทธิทดแทนการว่างงานของประกันสังคมที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะการทำงานในกิจการต่อเนื่องประมง เช่น กรณีแรงงานโรงงานคัดแยกปลาหมึกในจังหวัดระนอง ที่ไม่ได้เป็นการว่างงานหรือการถูกเลิกจ้างโดยสิ้นเชิง แต่เป็นการลดวันทำงาน ลดปริมาณการทำงานในแต่ละวันลง

 

5. ผลกระทบจากมาตรการควบคุมโรคระบาด

- แรงงานข้ามชาติถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทางและการออกจากเคหะสถานมากกว่าคนไทยทั้งในจังหวัดระนองและสงขลา ดังเห็นได้จากประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา เรื่อง มาตรการห้ามเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าว ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ข้อ 2 ความว่า ‘ควบคุมแรงงานข้ามชาติมิให้เดินทางไปในที่สาธารณะ สถานที่แออัด และรวมตัวกัน’ แต่ไม่ปรากฏว่ามีประกาศที่เน้นควบคุมคนไทยในลักณะเดียวกันนี้ หรือคำสั่งห้ามคนประจำเรือขึ้นฝั่งที่มีการบังคับใช้เข้มงวดกับแรงงานข้ามชาติมากกว่าคนไทย ดังที่ลูกเรือประมงที่ติดเชื้อโควิดในจังหวัดระนอง (อ้างแล้ว) ให้ข้อมูลว่าไม่ได้ขึ้นฝั่งเลยนับแต่เดือนพฤษภาคม 2564 เพราะมีคำสั่งไม่ให้คนประจำเรือขึ้นฝั่ง แต่ไต๋เรือที่เป็นคนไทยกลับขึ้นฝั่งได้ จากนั้นไต๋เรือก็ตรวจพบเชื้อโควิด และคนบนเรือที่ไม่ได้ขึ้นฝั่งก็ตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดในเวลาต่อมา

- Bubble and Seal เป็นมาตรการควบคุมโรคติดต่อที่โรงงานขนาดใหญ่เน้นบังคับใช้เฉพาะกับลูกจ้างต่างชาติ เช่น ให้ลูกจ้างต่างชาติที่เช่าห้องพักอยู่เอง ย้ายเข้ามาอยู่ในหอพักที่โรงงานจัดให้ ขณะที่คนไทยสามารถกักตัวอยู่ที่พักส่วนตัวได้ จำกัดเส้นทางและควบคุมกิจกรรมของลูกจ้างต่างชาติในระหว่างการเดินทางจากที่พักถึงโรงงาน ขณะที่ลูกจ้างคนไทยมีอิสระในการเดินทางระหว่างที่พักกับโรงงาน

 

6. การเข้าบริการสาธารณสุข

แรงงานในภาคประมงและกิจการต่อเนื่องจังหวัดระนองและสงขลาเข้าถึงบริการสาธารณสุข ดังนี้

6.1 การตรวจคัดกรองและการตรวจหาเชื้อโควิด

ลูกเรือประมงและลูกจ้างตามแพปลาได้รับการตรวจคัดกรองเบื้องต้นในที่ทำงาน โดยการวัดอุณหภูมิเป็นประจำ หากมีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในชุมชน บนเรือ หรือสถานประกอบการ จังหวัดจะทำการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ดังกล่าว

- จังหวัดระนอง หากพบมีการแพร่ระบาดในพื้นที่ใด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดจะมีการทำงานร่วมกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) องค์กรพัฒนาเอกชน และอาสาสมัครสาธารณสุขต่างชาติ (อสต.) ทำการสำรวจชุมชนเพื่อระบุกลุ่มเสี่ยง ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้นายจ้างและเจ้าของห้องเช่าให้พาแรงงานข้ามชาติไปรับการตรวจเชิงรุกตามจุดบริการต่าง ๆ

- แรงงานข้ามชาติบางคนพยายามเลี่ยงไม่ให้ความร่วมมือในการตรวจหาเชื้อ ปกปิดข้อมูลกรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิด เนื่องจากกังวลเรื่องการขาดรายได้จึงไม่อยากกักตัวและเข้ารับการรักษาพยาบาล เพราะไม่ได้รับความช่วยเหลือจากนายจ้างและไม่ได้รับเงินชดเชยการขาดรายได้

6.2 การรักษา

แรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา กรณีที่เป็นผู้ป่วยไม่แสดงอาการจะได้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม กรณีแสดงอาการจะได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ลูกเรือประมงในพื้นที่จังหวัดระนองที่ให้สัมภาษณ์เคยติดเชื้อโควิด 1 คน เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนาม ซึ่งมีโรงพยาบาลสนามแยกระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ กรณีจังหวัดสงขลา องค์กรพัฒนาเอกชนไม่ได้รับข้อมูลว่ามีลูกเรือประมงตรวจพบเชื้อโควิด

6.3 วัคซีน

จังหวัดระนอง

- จังหวัดสำรวจจำนวนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่พบว่ามีประมาณ 80,000 คน และมีนโยบายฉีดวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติภายหลังจากที่คนไทยได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมายเชิงนโยบายแล้ว และตามที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาล แรงงานข้ามชาติกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนคาดว่าเป็นกลุ่ม อสต.

- จังหวัดเปิดให้ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้ลูกจ้างได้ แรงงานข้ามชาติคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า นายจ้างแจ้งว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนเร็ว ๆ นี้ แต่ไม่ทราบเวลาที่ชัดเจน และไม่ทราบว่ามีค่าใช้จ่ายหรือไม่ ด้านเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า มีภาคเอกชนหลายแห่งแสดงความสนใจสั่งจองวัคซีนทางเลือก ส่วนค่าใช้จ่าย เท่าที่มีข้อมูล โรงงานแห่งหนึ่งจะเก็บค่าวัคซีนจากลูกจ้างตามต้นทุนจริง

- นักข่าวท้องถิ่นรายงานว่า วันที่ 21 -23 กรกฎาคม 2564  สภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนองจัดให้มีการฉีดวัคซีนทางเลือกให้กับแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและกิจการต่อเนื่องประมงทั้งชาวไทยและเมียนมาจำนวน 3,000 คน โดยทางผู้ประกอบการเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายค่าวัคซีนให้กับแรงงาน

 

 

จังหวัดสงขลา

- เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนให้ข้อมูลว่า ยังไม่ปรากฏว่าจังหวัดมีนโยบายจัดสรรวัคซีนให้แรงงานข้ามชาติหรือไม่ อย่างไร

- กรณีผู้ประกันตน มีผู้ลงทะเบียนรับวัคซีนผ่านระบบประกันสังคมกว่า 108,000 คน โดยเป็นแรงงานข้ามชาติประมาณ 35,000 คน

- จังหวัดมีการประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนที่มีความประสงค์สั่งจองวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับลูกจ้างสามารถดำเนินการได้

- ภาคประมงสามารถรวบรวมจำนวนที่ต้องการเพื่อสั่งจองวัคซีนทางเลือกในนามสมาคมประมงได้

- เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนสองแห่งให้ข้อมูลตรงกันว่า ผู้ประกอบการเรือประมงแสดงความสนใจสั่งจองวัคซีนทางเลือก แต่ไม่มีข้อมูลเรื่องการบริหารจัดการว่าจะมีการเก็บค่าใช้จ่ายจากแรงงานหรือไม่ อย่างไร และยังไม่ได้รับการร้องเรียนจากแรงงานถึงปัญหาดังกล่าว

- แรงงานที่ให้ข้อมูลทุกคนกล่าวว่า ยังไม่ได้รับแจ้งจากนายจ้างหรือมีการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานใดเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน

 

7. ข้อเสนอเชิงนโยบาย

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับโรคโควิดที่มีการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นทุกวันจนโรงพยาบาลรองรับไม่ไหว ในวิกฤตโควิดแพร่ระบาดนี้ แรงงานข้ามชาติถือเป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะเมื่อเข้าไม่ถึงการคุ้มครองสิทธิแรงงาน และถูกเลือกปฏิบัติด้านสาธารณสุข ดังปรากฏชัดในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล เช่น ปลายเดือนมิถุนายน 2564 กระทรวงสาธารณสุขติดประกาศหน้าสำนักงานในภาษาไทย เมียนมา และกัมพูชา ว่า ‘งดรับต่างด้าว’ และกรมการจัดหางาน มีบันทึกข้อความ วันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ถึงสำนักจัดหางานกรุงเทพเขตพื้นที่ 1-10 เรื่อง ‘แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข’

ข้อเท็จจริงที่รัฐและสังคมไทยต้องตระหนัก คือ โรคโควิดจะอยู่กับเราไปอีกนาน ตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถจัดหาวัคซีนคุณภาพดีมาให้บริการฟรีแก่ประชาชนได้ทั่วถึงและทันเวลา และสังคมไทยจะไม่มีความปลอดภัย หากมีใครถูกทอดทิ้งให้เป็นกลุ่มเสี่ยง ดังนั้น แรงงานข้ามชาติจึงควรได้รับการคุ้มครอง ‘สิทธิสุขภาพ’ ควบคู่กับการคุ้มครอง ‘สิทธิแรงงาน’ และการส่งเสริมให้เข้าถึง ‘สิทธิประกันสังคม’ 

โรงงานขนาดใหญ่ ยังขาดแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการแรงงานข้ามชาติในวิกฤตโรคโควิดที่เป็นไปตามมาตรฐานกลาง และการที่รัฐปล่อยให้การจัดการภายในเป็นความรับผิดชอบของโรงงาน โดยขาดการตรวจสอบมาตรฐาน ก็อาจทำให้ลูกจ้างเผชิญปัญหาด้านความเป็นอยู่ และมีความเสี่ยงด้านสุขภาพมากขึ้นในระหว่างกักตัวได้

แรงงานข้ามชาติในภาคประมงและกิจการต่อเนื่องประมงจังหวัดระนองและสงขลา แม้เข้าถึงบริการสาธารณสุข แต่ยังคงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพราะเมื่อมีอาการป่วยหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง พวกเขาไม่กล้าเข้ารับการตรวจคัดกรอง เนื่องจากเกรงว่าจะต้องหยุดงานและขาดรายได้โดยไม่ได้รับการชดเชยเยียวยา ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการอยู่ในสภาพการจ้างที่นายจ้างไม่ได้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยวันหยุด วันลา ชั่วโมงทำงาน ค่าจ้าง ไม่มีการกำหนดสวัสดิการลูกจ้างไว้ชัดเจน ไม่ได้นำลูกจ้างขึ้นทะเบียนประกันสังคม

เพื่อยกระดับแนวปฏิบัติของโรงงานขนาดใหญ่ในการจัดการแรงงานข้ามชาติในวิกฤตงโรคโควิดแพร่ระบาด รวมถึงปรับปรุงสภาพการจ้างในภาคประมงและกิจการต่อเนื่องประมงให้เป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองสิทธิแรงงาน อันจะเป็นหลักประกันพื้นฐานที่สามารถช่วยให้แรงงานเข้าถึงการคุ้มครองด้านสุขภาพและการชดเชยเยียวยาผลกระทบที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อเสนอดังนี้

  1.  จัดทำคู่มือแนวปฏิบัติที่ดีในการจัดการแรงงานข้ามชาติในในวิกฤตโควิดแพร่ระบาด

สำหรับโรงงานขนาดใหญ่

กระทรวงสาธารณสุข ควรทำงานรวมกับภาคธุรกิจ ตัวแทนแรงงาน และองค์กรพัฒนาเอกชน ในการถอดบทเรียนมาตรการ แนวปฏิบัติ และประสบการณ์ของโรงงานขนาดใหญ่ ทั้งที่ประสบความสำเร็จและมีข้อจำกัดในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในการจัดการแรงงานข้ามชาติในวิกฤตโควิดแพร่ระบาด เพื่อจัดทำคู่มือแนวปฏิบัติที่สำหรับโรงงานขนาดใหญ่

หน่วยงานด้านสาธารณสุขในระดับจังหวัดควรมีบทบาทในการให้คำแนะนำ มีความร่วมมือ มีมาตรการในการกำกับและตรวจสอบการดำเนินการตามมาตราการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดภายในโรงงานและหอพักแรงงานข้ามชาติ และสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ควรมีความร่วมมือและมีมาตรการตรวจสอบสถานการณ์ด้านสิทธิแรงงานในช่วงดังกล่าวด้วย

2. บังคับใช้กฎหมายเพื่อการคุ้มครองสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องมีมาตรการบังคับและตรวจสอบให้มีการจัดทำสัญญาจ้าง เพื่อให้ลูกจ้างเข้าถึงและเข้าใจสัญญาจ้าง โดยสัญญาจ้างต้องระบุอัตราค่าจ้างและเงื่อนไขการจ้าง เช่น วันหยุด วันลากิจ วันลาป่วย และต้องได้รับค่าจ้างในวันหยุดวันลา ขั้นต่ำให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานกำหนด

กรมสวัสดิการฯ ต้องมีมาตรการเข้าไปกำกับ ตรวจสอบ ควบคุมดูแลการจ้างให้เป็นไปตามสัญญา

3. จัดตั้งคณะกรรมการทำงานระดับจังหวัด เพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานในช่วงโควิด

ควรมีการจัดตั้งคณะทำงานที่บูรณาการร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานการจัดหางาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม กรมเจ้าท่า และศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้าออก (PIPO) ในเบื้องต้นอาจใช้ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ภายใต้กรมจัดการงาน เพื่อเป็นกลไกรับเรื่องร้องเรียน ให้คำปรึกษา และแก้ไขปัญหาให้แรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์และประสิทธิภาพในการบริการจัดการแรงงาน การตรวจคัดกรองและการควบคุมโรค ควบคู่กับสร้างหลักประกันด้านสุขภาพและการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

4. ประกันสังคม

4.1 กระทรวงแรงงานควรมีมาตรการบังคับนายจ้างที่จ้างแรงงานตามมาตรา 64 ในกิจการต่อเนื่องประมง ที่ไม่ได้เป็นจ้างงานชั่วคราว หรือการจ้างตามฤดูกาล ให้นำแรงงานเข้าระบบประกันสังคมโดยเร็ว และการเร่งรัดให้นายจ้างที่ยังไม่ได้นำลูกจ้างเข้าสู่ประกันสังคม สามารถเข้าสู่ประกันสังคม

4.2 สำนักงานประกันสังคมควรจัดตั้งกรรมการที่มีตัวแทนฝ่ายนายจ้าง ลูกจ้าง และภาคประชาสังคมในพื้นที่ร่วมด้วย เพื่อตรวจสอบและพิจารณาการอนุมัติสิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ ลักษณะการจ้างงาน การว่างงาน รวมถึงการพิจารณาอนุมัติคำร้องย้อนหลัง ดังนี้

(1) ควรพิจารณาปรับเงื่อนไขและหลักเกณฑ์การยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานให้สอดคล้องกับสภาพการจ้างและการขาดรายได้ของลูกจ้างในกิจการประมง โดยเฉพาะกิจการต่อเนื่องประมง ที่ไม่ได้มีลักษณะการถูกเลิกจ้างหรือว่างงานอย่างสมบูรณ์ แต่เป็นการขาดรายได้เนื่องจากการถูกลดปริมาณงาน ชั่วโมงทำงาน และวันทำงาน

(2) เปิดให้ลูกจ้างและสถานประกอบการที่ยังไม่ได้ยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัย ให้สามารถยื่นได้ใหม่ ให้ลดเงื่อนไขการพิจารณา โดยยึดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเป็นหลัก เช่น พิจารณาเพียงว่าสถานประกอบการได้ปิดกิจการในช่วงดังกล่าวจริงหรือไม่

กรณีลูกจ้างหยุดงานเพื่อกักตัวและรักษาพยาบาล ควรอนุมัติสั่งจ่ายเงินทดแทนทันทีที่มีคำสั่งกักตัวจากหน่วยงานคัดกรองหรือจากนายจ้าง และเมื่อตรวจพบเชื้อโควิด โดยไม่ต้องรอยื่นเรื่องขอพิจารณาอนุมัติจากประกันสังคม หรือหนังสือรับรองจากหน่วยงานอื่น

(3) ปลดล็อคข้อจำกัดที่นายจ้างไม่ดำเนินการให้ลูกจ้าง ควรให้ลูกจ้างยื่นขอใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยได้เอง ลดเงื่อนไขการพิจารณาโดยยึดสิทธิประโยชน์ลูกจ้างเป็นหลัก

(4) กรณีลูกจ้างได้ยื่นคำขอไปแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ให้เร่งการพิจารณาและลดเงื่อนไขการพิจารณา โดยยึดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเป็นหลัก

(5) กรณีที่ยื่นคำขอไปแล้วไม่ผ่าน ควรมีการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการ อนุมัติจ่ายเงินชดเชยย้อนหลังและลดเงื่อนไขการพิจารณาโดยยึดสิทธิประโยชน์ของลูกจ้างเป็นหลัก

(6) กลุ่มที่ยังไม่ได้เป็นผู้ประกัน กระทรวงแรงงานควรมีมาตรการบังคับให้นายจ้างนำเข้าระบบและจ่ายเงินสมทบย้อนหลัง และนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการเพื่อใช้สิทธิประโยชน์ทดแทนการว่างงานจากเหตุสุดวิสัยย้อนหลังให้แก่แรงงานที่ควรได้รับสิทธิประกันสังคม

5. มาตรการห้ามคนประจำเรือหรือลูกเรือขึ้นฝั่งซึ่งเป็นการปฎิบัติที่อาจจะขัอต่อหลักสิทธิเสรีภาพของประชาชนจะต้องมีการแผนรองรับที่ชัดเจนและได้รับความยิน

การห้ามคนประจำเรือขึ้นฝั่งตามมาตรการควบคุมโรค แม้การขัดกับหลักสิทธิเสรีภาพ แต่สามารถทำได้ผ่านการกระบวนการปรึกษาหารือ ได้รับการยินยอม มีแผนรองรับที่ชัดเจน ดังนี้

(1) นายจ้างมีความรับผิดชอบในการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวก อาหาร และเครื่องอุปโภค ให้กับลูกเรือในระหว่างใช้ชีวิตอยู่บนเรืออย่างเพียงพอและอย่างเหมาะสม

(2) ระหว่างที่อยู่บนเรือ นายจ้างควรอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างติดต่อกับครอบครัวและบุคคลอื่นได้ เช่น ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเติมเงินโทรศัพท์ให้ฟรี มีมาตรการดูแลครอบครัวของลูกจ้าง

(3) การห้ามคนประจำเรือขึ้นฝั่งตามมาตรการควบคุมโรคติดต่อ ต้องบังคับใช้กับคนประจำเรือทุกคน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติหรือข้อปฏิบัติที่แตกต่างระหว่างคนไทยกับคนต่างชาติ

(4) ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การใช้เรือประมงในการกักตัวผู้ที่ติดเชื้อหรือมีความเสี่ยง (Boat Isolation) นั้น เรือประมงยังไม่ใช่พื้นที่ที่เหมาะสมเพื่อใช้สำหรับการกักตัว เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในเรือไม่สามารถจัดการให้ถูกสุขลักษณะสำหรับผู้ป่วยได้ เช่น ห้องน้ำ ที่พักนอน การเว้นระยะห่าง และการจัดการขยะ เป็นต้น อีกทั้งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลของแรงงานประมงนั้นยังขาดความชัดเจน และวิธีการขอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากแรงงานไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ทันในกรณีที่แรงงานติดเชื้อ อาจจะส่งผลกระทบต่ออาการป่วยที่ทวีความรุนแรงของแรงงานได้ รัฐควรจัดสรรพื้นที่กักตัวในบริเวณท่าเรือ แทนการกักตัวบนเรือประมง โดยให้มีการคัดกรองแยกผู้ป่วยและผู้สัมผัสเสี่ยงสูงออกจากกัน และมีระบบการจัดการที่ผู้ป่วยจะสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้

(5) การทำงานของแรงงานประมงมีการเคลื่อนย้ายบ่อยครั้ง รวมทั้งสถาพในการทำงานที่ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ ซึ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อ และการระบาดของเชื้อสูงเมื่อเข้าเทียบท่า หรือเข้าพักอาศัยในชุมชน ทำให้มีแนวโน้มเป็นกลุ่มเสี่ยง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งจัดสรรวัคซีน เพื่อให้แรงงานได้เข้าถึงการป้องกันโรค

6. การกักตัวสังเกตอาการและเพื่อควบคุมโรคติดต่อต้องไม่ผลักภาระค่าใช้จ่ายให้แรงงาน

ลูกจ้างได้รับค่าจ้างในระหว่างการกักตัว และไม่ควรมีภาระค่าใช้ในระหว่างการกักตัว ดังนี้

(1) นายจ้างมีความรับผิดชอบในการจัดสรรสิ่งอำนวยความสะดวก อาหาร และเครื่องอุปโภค ให้กับลูกจ้างในระหว่างกักตัวในสถานที่ที่นายจ้างจัดให้อย่างเพียงพอและอย่างเหมาะสม

(2) ระหว่างกักตัวในสถานที่ที่นายจ้างจัดให้ นายจ้างควรอำนวยความสะดวกให้ลูกจ้างสามารถติดต่อกับครอบครัวและบุคคลอื่นได้ เช่น ให้บริการอินเทอร์เน็ตและเติมเงินโทรศัพท์ให้ฟรี รวมถึงมีมาตรการดูแลครอบครัวของลูกจ้าง

(3) กรณีกักตัวเองที่บ้าน/หอพัก นายจ้างควรจัดส่งอาหารและเครื่องอุปโภคให้อย่างเพียงพอ และอย่างเหมาะสม รวมถึงมีมาตรการดูแลด้านสาธารณสุขด้วย

(4) กรณีนายจ้างให้เช่าห้องเพื่อแยกกักเป็นส่วนตัว นายจ้างต้องเป็นฝ่ายจ่ายค่าเช่าสถานที่

(5) กรณีต้องการให้ลูกจ้างตรวจโควิดก่อนกลับเข้าทำงาน นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าตรวจ

(6) การหยุดงานกักตัวเพื่อสังเกตอาการ เพื่อควบคุมโรคติดต่อ ให้ถือเป็นการลาป่วยที่ต้องได้รับการค่าจ้าง หรือได้รับการชดเชยเยียวยาการขาดรายได้ในระหว่างการกักตัว

  • กรณีเป็นผู้ประกันตนให้ยื่นขอรับเงินทดแทนจากประกันสังคม
  • กรณีไม่ได้เป็นผู้ประกันตน ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบจ่ายค่าจ้าง กรณีนายจ้างไม่จ่าย ให้สำนักงานประกันสังคมต้องจ่ายทดแทนการขาดรายได้ให้แก่ลูกจ้างดังกล่าว
  • กรณีลูกเรือประมงที่ไม่ได้เป็นผู้ประกันตน เจ้าของเรือมีหน้าที่รับผิดชอบตามประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง

7. การตรวจหาชื้อและการรักษาพยาบาล

7.1 สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดและนายจ้าง ควรจัดให้แรงงานกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเบื้องต้นด้วย Antigen Test Kits (ATK) หรือการตรวจเชิงลึกตามนโยบายของท้องที่โดยเร็วและฟรี

7.2 ผู้ตรวจด้วย ATK ได้ผลบวก (Positive) ให้เข้าถึงการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR โดยเร็วและฟรี

7.3 เป็นผู้ป่วยยืนยัน (Confirmed case) ให้สามารถเข้าถึงการรักษาตามนโยบายและแนวปฏิบัติของท้องที่และสถานประกอบการโดยทันทีและฟรี

7.4 หยุดงานเพื่อรับการรักษาโรคโควิด ต้องได้รับค่าจ้างหรือสิทธิประโยชน์ทดแทนการขาดรายได้

8. การเข้าถึงวัคซีน

8.1 รัฐบาลและจังหวัดที่มีการจ้างแรงงานข้ามชาติจำนวนมาก ควรมีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดหาวัคซีนโควิดสำหรับแรงงานข้ามชาติ

8.2 แรงงานข้ามชาติควรสามารถลงทะเบียนในระบบรับฉีดวัคซีนโควิดสำหรับคนต่างชาติได้ โดยควรมีการจัดทำระบบลงทะเบียนในภาษาของแรงงานด้วย (https://expatvac.consular.go.th/)

8.3 รัฐบาลควรมีการรณรงค์ส่งเสริม หรือมาตรการเชิงนโยบาย เพื่อจูงใจให้นายจ้างจัดหาวัคซีนทางเลือกมาฉีดให้กับแรงงานข้ามชาติ

 

[1]สภาผู้แทนราษฎร. กระทู้ถามที่ 1 1 8 ร ขอให้รัฐบาลเร่งรัดแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการประมงอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านปัญหา ระเบียบกฎหมาย และมาตรการเยียวยาช่วยเหลืออย่างเป็นรูปธรรม. (18 มิถุนายน 2563). ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 137 ตอนพิเศษ 230 ง หน้า 41- 51.

[2] กระทรวงแรงงาน. การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง. (26 พฤศจิกายน 2562). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 137. ตอนพิเศษ 5 ง. หน้า 30-31.

[3] กระทรวงแรงงาน. การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง. (26 พฤศจิกายน 2562). ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 137. ตอนพิเศษ 5 ง. หน้า 30-31.