“หนูทำงานได้ 3 เดือนครบกำหนดที่เขาจะพิจารณาผ่านโปรพอดี ก็มีเหตุการณ์โควิด-19 เลยค่ะ ที่เชียงใหม่หลายโรงแรมได้รับผลกระทบเพราะไม่มีใครมาเที่ยวหนูก็เข้าใจนะคะ ก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะต้องให้เงินเดือนหนูเต็มเดือน หนูขอแค่ให้มีข้าวกิน มีที่อยู่ มีงานให้ทำที่ได้ค่าตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ พอเป็นค่าเช่าห้อง ไม่ต้องให้เต็มจำนวนก็ได้ค่ะ หนูก็อยู่ได้แล้วค่ะ
ตอนแรกเขาก็จะให้หนูผ่านโปรแล้วนะคะ แต่พอมีโควิดเข้ามาเขาก็บอกว่าหนูไม่ผ่านโปรแล้วก็ให้หนูออกจากงานเลยค่ะ แล้วหนูจะทำยังไงจะไปไหนได้อ่ะค่ะ มาบอกตอนนี้มันทำอะไรไม่ได้แล้วอ่ะค่ะพี่” ยี แรงงานข้ามชาติสาวชาวเมียนมาอดีตแม่บ้านโรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่บอกเล่าให้เราฟังถึงเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นกับเธอ
“ก็ไม่คิดว่าจะต้องตกงาน พอตกงานแบบนี้เงินชดเชยก็ไม่ได้ แล้วพี่รู้มั้ยคะว่าแรงงานข้ามชาติอย่างพวกหนูที่มาทำงานตาม MOU เขามีข้อกำหนดชัดเจนเลยนะคะว่าถ้าเราไม่ได้ทำงานกับนายจ้างคนเดิมก็ต้องหานายจ้างใหม่ให้ได้ภายใน 15 วันถ้าหาไม่ได้บัตร MOU ที่หนูใช้ทำงานก็จะขาด พอเขาบอกว่าหนูไม่ผ่านโปรหนูจะไปหานายจ้างที่ไหน ถ้าบัตรหนูขาดหนูก็ต้องกลับ บ้านซึ่งชายแดนก็ปิดแล้ว บัตร MOU มันคือชีวิตของแรงงานอย่างพวกหนูเลยนะคะ เป็นบัตรที่ทำให้เราทำงานที่ประเทศไทยได้ หางานหาเงินเลี้ยงครอบครัวได้ พอเจ้านายเขาบอกมาแบบนี้หนูจะไปหางานใหม่หาเจ้านายใหม่ที่ไหนทัน เขาเหมือนฆ่าหนูทั้งเป็นเลยค่ะ” ยีกล่าวย้ำถึงชะตากรรมที่เกิดขึ้นกับเธอด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ
“พอหนูรู้ว่าเขาใช้เหตุผลไม่ให้หนูผ่านโปร หนูก็เดินหางานใหม่ทันทีเลยค่ะ แล้วสถานการณ์แบบนี้คนไทยยังโดนเลิกจ้างเลยค่ะ แรงงานข้ามชาติอย่างพวกหนูจะไปเหลืออะไร บ้านก็กลับไม่ได้ งานใหม่ก็ไม่มีทำ ห้องก็ต้องจ่ายค่าเช่า ข้าวก็ต้องซื้อกินทุกวัน ถ้าบัตร MOU ขาด แล้วหนูก็กลับประเทศต้นทางก็ไม่ได้อีก หนูก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้วค่ะมันมืดแปดด้านเลยค่ะ ตอนนี้ก็มาขออาศัยอยู่กับเพื่อนไปก่อนค่ะ เพื่อนเขาบอกว่าจะไปคุยกับเจ้านายเขาให้ว่าเขายังจะรับคนอีกได้หรือไม่ ไม่ต้องให้เงินเดือนหนูเยอะหรอกค่ะ แค่ให้หนูได้มีนายจ้างได้ทำงานจ่ายค่าเช่าห้องได้ ระหว่างที่หนูยังกลับบ้านไม่ได้หนูก็จะขอบคุณมากๆเลยค่ะ” ยีกล่าวด้วยน้ำเสียงมีความหวังว่าเธอจะยังมีช่องทางในการได้งานทำที่ใหม่” ยีระบุ
“บางทีก็น้อยใจในโชคชะตาตัวเองนะคะ ประเทศของหนูงานที่จะทำให้เลี้ยงตัวเองและดูแลครอบครัวได้ก็มีน้อยมาก พอมาทำงานที่ประเทศไทยหนูก็ทำงานเต็มที่ ตั้งใจทำทุกงานอย่างเต็มที่เลยนะคะ ตอนก่อนจะมาทำงานแม่บ้านโรงแรมหนูก็ทำงานก่อสร้างมาก่อน เงินของงานก่อสร้างเถ้าแก่เขาก็จะจ่ายเป็นงวดๆ พอเงินมันทบกันเยอะๆก็แกล้งไม่ยอมจ่ายเงินให้เราอีก หรือให้เงินเราก็ไม่เต็มจำนวนที่เราทำงาน หนูจะไปร้องเรียนที่ไหนก็ไม่ได้เพราะกลัวจะทำงานที่ไทยไม่ได้ หนูแค่อยากได้เจ้านายที่ดีๆ เพราะหนูเต็มที่กับงานที่หนูทำค่ะ แล้วนี่ถ้าโควิด-19 มันยังนานไปอีกหลายเดือนแล้วหนูก็ยังไม่มีงานที่ใหม่ทำ หนูก็ยังไม่มีทางออกให้กับชีวิตตอนนี้เลยค่ะ” ยีกล่าวทิ้งท้ายกับเรา
ทั้งนี้ข้อมูลจากเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group:MWG) ระบุมีแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิอยู่อาศัยชั่วคราวขณะวิกฤติโควิด -19 ซึ่ง MWG ได้ประมาณการณ์จำนวนแรงงานข้ามชาติและผู้ติดตามซึ่งครั้งหนึ่งเคยมีเอกสารเดินทางแต่ปัจจุบันตกเป็นแรงงานที่มีสถานะเข้าเมืองผิดกฎหมายซึ่งอาจจะมีสาเหตุจาก 4 สถานการณ์หลัก คือ
1. แรงงานได้มีการเปลี่ยนย้ายนายจ้างแต่นายจ้างแจ้งย้ายเข้าและย้ายออกไม่ทันตามที่กำหนดไว้
2. แรงงานที่ไม่ประสงค์จะทำงานต่อแต่ด่านชายแดนปิดก่อน ทำให้แรงงานไม่สามารถเดินทางกลับได้
3. แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง ถูกปิดงาน หรือ ถูกสั่งพักงานและ
4 แรงงานข้ามชาติและคนต่างชาติที่ไม่มีเอกสารเดินทาง
MWG ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 54 วรรคสามและวรรคสี่มา พระราชบัญญัติคนเข้าเมืองฯเป็นการแก้ไขปัญหาแรงงานข้ามชาติ อนุญาตให้คนต่างชาติอื่น ๆ ที่อาจจะยังไม่มีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย อาศัยในท้องที่ที่อยู่ในปัจจุบันระหว่างรอการส่งกลับ หรือจนกว่าจะมีมาตรการอื่น ๆจากรัฐตามแต่กรณี ทั้งนี้ การที่เปิดให้มีการต่อวีซ่าอัติโนมัติตามมาตรการบรรเทาของมหาดไทยที่ผ่านมาก็ไม่ได้มีการพูดถึงคนข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารการเข้าเมือง ซึ่งคนกลุ่มนี้ MWG ประมาณการณ์ว่าอาจจะมีสูงถึง 500,000 คนในประเทศไทย