Skip to main content

23 ม.ค. 2019

รมว.แรงงาน กำชับหน่วยงานในสังกัดเร่งติดตามสถานการณ์ เหตุรถยนต์บรรทุกแรงงานต่างด้าวพลิกคว่ำเสียชีวิตที่ชุมพร ด้านกรมการจัดหางานลงพื้นที่ติดตามแล้ว ย้ำกระทรวงแรงงาน มีมาตรการเด็ดขาดในการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทางกว่า 4,300 คน ปรับทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวไปแล้วกว่า 17 ล้านบาท

นางเพชรรัตน์ สินอวย อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ติดตามสถานการณ์เหตุรถยนต์บรรทุกแรงงานต่างด้าว จำนวน 21 คน พลิกคว่ำเมื่อช่วงค่ำของวานนี้ โดยสั่งการให้กรมการจัดหางานเร่งตรวจสอบ ซึ่งเบื้องต้นเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางานได้ลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วพบว่า รถยนต์ได้บรรทุกแรงงานต่างด้าว จำนวน 21 คน พลิกคว่ำตกร่องกลาง บริเวณถนนเอเชีย 41 ขาล่องใต้ ประมาณ กม.5 ต.ขุนกระทิง อ.เมืองชุมพร จ.ชุมพร ผู้เสียชีวิตเป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา จำนวน 4 คน เป็นชายทั้งหมด ไม่มีหนังสือเดินทาง และมีแรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาบาดเจ็บ อีกจำนวน 17 ราย ไม่มีหนังสือเดินทาง ขณะนี้ออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว 8 คน ชาย 6 คน หญิง 2 คน ซึ่งกลุ่มนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำตัวส่งสภ.เมืองชุมพร และส่งรักษาตัวที่โรงพยาบาลจำนวน 9 คน เป็นชาย 8 คน หญิง 1 คน สำหรับผู้ขับขี่เป็นคนไทยได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย จากการตรวจสอบแรงงานต่างด้าวเบื้องต้นพบว่า ได้หลบหนีเข้าเมืองมาจาก จ.เกาะสอง ประเทศเมียนมา เข้ามาทาง อ.กระบุรี (บริเวณมะมุ ปากจั่น) จ.ระนอง เพื่อจะเดินทางไปจังหวัดปัตตานีและประเทศมาเลเซีย โดยได้เข้ามาพักอยู่ในป่าเป็นเวลา 1 คืน ซึ่งทางคดีพนักงานสอบสวน สภ.เมืองชุมพร จะได้ทำการสอบสวน และขยายผลต่อไป

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานขอย้ำว่า ได้เร่งตรวจสอบ ปราบปราม จับกุม และดำเนินคดีคนต่างด้าวที่ลักลอบทำงานโดยไม่ได้รับอนุญาตอย่างเคร่งครัด ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา กรมการจัดหางานได้บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และกรมการปกครอง เข้าตรวจสอบในพื้นที่/กิจการกลุ่มเสี่ยงที่จะมีแรงงานต่างด้าวทำงานผิดกฎหมาย แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 – 23 มกราคม 2562 ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบนายจ้างไปแล้วจำนวน 10,604 ราย/แห่ง ดำเนินคดี 785 ราย/แห่ง คิดเป็นมูลค่าค่าปรับ จำนวน 6,580,500 บาท ในข้อหารับคนต่างด้าวเข้าทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 557 แห่ง/ราย และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 114 แห่ง/ราย ความผิดตาม พรก.การบริหารฯ และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 894 แห่ง/ราย ขณะเดียวกันได้ตรวจสอบการทำงานของแรงงานต่างด้าว จำนวน 171,923 คน จับกุมดำเนินคดี จำนวน 4,506 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา 3,044 คน รองลงมาเป็นกัมพูชา 638 คน ลาว 386 คน เวียดนาม 246 คน และอื่นๆ อีก 192 คน ตามลำดับ โดยดำเนินคดีในข้อหาทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงาน จำนวน 1,809 คน และดำเนินคดีในความผิดตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.2522 จำนวน 1,742 คน พรก.การบริหารฯและ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฯ จำนวน 955 คน ผลักดันส่งกลับประเทศต้นทาง จำนวน 4,326 คน ปรับไปแล้ว 10,907,100 บาท รวมค่าปรับทั้งนายจ้าง/สถานประกอบการและแรงงานต่างด้าวจำนวนทั้งสิ้น 17,487,600 บาท

นายจ้างที่จ้างคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้ จะมีโทษปรับ 10,000 - 100,000 บาทต่อคนต่างด้าวที่จ้างหนึ่งคน หากกระทำผิดซ้ำต้องมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับตั้งแต่ 50,000 – 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และห้ามจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นเวลา 3 ปี ขณะเดียวกันแรงงานต่างด้าวที่ทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตทำงานหรือทำงานนอกเหนือจากที่มีสิทธิจะทำได้จะมีโทษปรับ 5,000 – 50,000 บาท และเมื่อชำระค่าปรับแล้ว คนต่างด้าวจะถูกส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักร และห้ามขออนุญาตทำงานภายใน 2 ปี ซึ่งหาก ผู้ใดพบเห็นคนต่างด้าวลักลอบทำงานโดยผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 เพื่อจะได้เร่งตรวจสอบ จับกุม และดำเนินคดีต่อไป อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าว

ที่มา https://www.facebook.com/new.labour2017/photos/a.255287091638019/544160792750646