Skip to main content

แรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา จำนวน 7 ราย ที่ถูกจับกุมจากเหตุการณ์การยื่นหนังสือสอบถามความคืบหน้าต่อนโยบายบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่กระทรวงแรงาน ได้ถูกผลักดันออกนอกราชอาณาจักรแล้ว

 

เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2564 สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ได้ดำเนินการผลักดันแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา จำนวน 7 คน ออกนอกราชอาณาจักร ภายหลังจากที่แรงงานทั้ง 7 คน ถูกนิติกรกรมการจัดหางานเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดีในข้อหา เป็นบุคคลต่างด้าวเดินทางเข้ามา และอยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต

การจับกุมแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชา จนนำไปสู่การผลักดันออกนอกราชอาณาจักร ครั้งนี้ สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 แรงงานข้ามชาติ 7 รายได้ร่วมเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่องติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและแรงงานข้ามชาติระหว่างการระบาดของโควิด-19 ตามที่เครือข่ายฯ เคยยื่นหนังสือไปแล้วเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พร้อมทั้งสอบถามถึงความชัดเจนในแนวปฏิบัติการขึ้นทะเบียนแรงงานตามมติ คณะรัฐมนตรี วันที่ 28 กันยายน 2564 โดยระหว่างผู้แทนแรงงานเข้าห้องประชุมหารือกับผู้แทนกระทรวงแรงงานที่ออกมารับหนังสือ ปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาแสดงตัวขอตรวจเอกสารประจำตัวของแรงงานที่มาร่วมยื่นหนังสือและจับกุมแรงงานชาวกัมพูชาจำนวน 7 คน และขณะที่มีการควบคุมตัว แรงงานข้ามชาติถูกปฎิเสธสิทธิในการเข้าถึงที่ปรึกษากฎหมายและล่ามที่ตนเองไว้วางใจได้

(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://mwgthailand.org/th/press/1635685831 )

จากการสอบถามแรงงานข้ามชาติทั้ง 7 คน รวมถึงญาติพี่น้องและเพื่อนร่วมงานของทั้ง 7 คนพบว่า ทั้งหมดได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานตาม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2563 โดยได้ดำเนินการถึงขั้นตอนการตรวจอัตลักษณ์ แต่ยังไม่สามารถเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และยื่นขออนุญาตทำงานตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีได้ ทั้งนี้เนื่องจากโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลไม่สามารถเปิดรับการตรวจได้ทัน อันเนื่องมาจากการระบาดของโรคโควิด-19 แม้จะมีการขยายเวลาการดำเนินการออกไป แต่ก็ยังพบสถานการณ์การระบาดอย่างหนักต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมา ขณะที่ทางกรมการจัดหางานก็ไม่ได้มีการชี้แจงนายจ้างในเรื่องการยื่นขออนุญาตทำงานเพิ่มเติมแต่อย่างใด จึงทำให้แรงงานทั้งหมดไม่สามารถดำเนินการได้จนครบขั้นตอนตามเงื่อนไขของมติคณะรัฐมนตรีและกลายเป็นแรงงานที่ผิดกฎหมายไปเมื่อเลยระยะเวลาที่กำหนด แม้แรงงานทั้งหมดจะตัดสินใจจะเริ่มต้นดำเนินการใหม่ตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กันยายน 2564 แต่ก็พบว่าความล่าช้าในการดำเนินการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงาน ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการและได้รับการคุ้มครองตามมติคณะรัฐมนตรีใหม่นี้ได้ จึงพิจารณาเห็นได้ว่าแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ยังมีสถานะผิดกฎหมายอยู่ส่วนหนึ่งนั้นเกิดจากความผิดพลาดในการดำเนินการตามนโยบายของหน่วยงานของรัฐ และไม่ได้รับการแก้ไ-

หลังจากเหตุการณ์จับกุมแรงงานข้ามชาติแล้ว ผู้นำแรงงานไทย 1 ราย ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลดินแดง ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 โดยมีกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองแรงงาน กล่าวหาว่า “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเหลือ หรือช่วยด้วยประการใดๆ..” แต่จากการสืบสวนของพนักงานสอบสวน ไม่สามารถดำเนินคดีต่อผู้นำแรงงานตามข้อกล่าวหาจากผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานได้ พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหากับผู้นำแรงงานใหม่ในฐานความผิดที่เกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 11 (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://mwgthailand.org/th/press/1639313642 )

 

ขณะที่แรงงานข้ามชาติอยู่ในการควบคุมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) คณะกรรมการธิการการแรงงานสภาผู้แทนราษฎรมีหนังสือ ลงวันที่ 14 ธันวาคม 2564 ถึงสตม. ขอให้ชะลอการส่งกลับเพื่อขอให้แรงงานทั้ง  7 เข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานตามมติคณะรัฐมนตรี 28 กันยายน 2564 แต่ไม่ได้รับการพิจารณาแต่อย่างใด

--
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group: MWG)
อีเมล์ /email : [email protected]