Skip to main content

28 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สหกรณ์ฯกล้วยไม้ไทย บุกสภาฯร้อง สนช.ชะลอ พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ครวญกฎใหม่ค่าธรรเนียมสุดแพง แถมค่าปรับก็สุดโหด 8 แสนบาท/แรงงานต่างด้าว 1 คน แถมเปิดช่อง จนท.เรียกรับผลประโยชน์มากขึ้น วอนเปิดเวทีประชาพิจารณ์ก่อนบังคับใช้ ด้าน "สาธิต" เรียกร้อง สนช.คว่ำร่างในสภาฯลดความเดือดร้อนคนไทย เตือนกฎโหดกระทบทุกสาขาอาชีพที่ใช้แรงงาน หวั่นกระทบเป็นลูกโซ่ฉุดเศรษฐกิจดิ่งเหว ส่วน “ปชป.” ยื่น 4 ข้อเสนอนายกฯแก้วิกฤติยางพารา 

วันนี้ (28 มิ.ย.) นายมิตร ปานเจริญ ประธานคณะกรรมการสหกรณ์ผู้ประกอบการสวนกล้วยไม้ไทย จำกัด พร้อมคณะเดินทางเข้ายื่นหนังสือถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรียกร้องให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชะลอการบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ออกไปก่อน

นายมิตร กล่าวว่าเนื้อหาในกฎหมายดังกล่าวกระทบกับผู้ประกอบการผู้ปลูกกล้วยไม้ไทย ที่จำเป็นต้องใช้แรงงานต่างด้าวมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ การต้องขออนุญาตนำแรงงานต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชนเท่านั้น ในความเป็นจริงผู้ประกอบการรายเล็กปฏิบัติตามได้ยาก เรื่องอัตราค่าธรรมเนียมการได้มาซึ่งแรงงานต่างด้าว 1 คนประมาณ 50,000 บาท และการต่อใบอนุญาตครั้งละ 20,000 บาท ส่วนบทลงโทษปรับผู้ฝ่าฝืนยังมีอัตราสูงสุดถึง 400,000 - 800,000 บาท ต่อต่างด้าว 1 คน บัญญัติเหมือนเกษตรเป็นผู้ร้าย

“นอกจากนี้เป็นห่วงว่า พ.ร.ก.นี้จะเป็นช่องทางหารายได้ของเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มหาผลประโยชน์แอบแฝง จากหน่วยงานที่นำเข้าแรงงานต่างด้าว จึงขอให้ช่วยผ่อนผันการจับกุมแรงงานต่างด้าวด้านภาคเกษตรกร ที่ยังมิได้ขึ้นทะเบียนก่อนการประกาศใช้พ.ร.ก.นี้สักระยะ เพื่อให้ดำเนินธุรกิจได้ ขอให้เปิดเวทีรับฟังความเห็นจากภาคเกษตรกร เกี่ยวกับปัญหาของพ.ร.ก.ฉบับนี้อย่างทั่วถึงด้วย“นายมิตรกล่าว

ด้านนายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กฎหมายนี้รัฐบาลมีเจตนาที่จะทำให้แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทยเข้าสู่ระบบ สามารถตรวจสอบได้ แต่ผลของการบังคับใช้โดยการเพิ่มบทลงโทษ โดยเฉพาะการปรับสูงสุดที่ 400,000-800,000 ต่อแรงงานต่างด้าวหนึ่งคน จะยิ่งกระทบเศรษฐกิจให้แย่ไปกว่าเดิมอีก เมื่อเลือกวิธีการบังคับเพิ่มโทษให้นายจ้างถูกปรับแพงแบบหมดตัวเช่นนี้ โดยอ้างเรื่องความมั่นคงภายในและทางเศรษฐกิจมาเล่นงานประชาชนคนไทยของตัวเอง

ทั้งที่นายจ้างคนไทยพยายามทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพียงแต่ปัญหาคือ การจัดการหน่วยงานภาครัฐ กำลังคนที่มีและช่วงเวลาที่จำกัด ที่สำคัญคือ การไร้ความรับผิดชอบของตัวแรงงานต่างด้าวเองที่เข้าสู่ระบบไม่ถึง 30 %  เมื่อบังคับใช้เช่นนี้ผลกระทบที่ตามมาคือ  รงงานขนาดกลางที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวจะไม่กล้าจ้างแรงงานต่างด้าว จะทำให้กำลังการผลิตลดน้อยลง งานล่าช้ากว่ากำหนด  แถมเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการทั้งบนโต๊ะและใต้โต๊ะ  แทนที่รัฐจะเลือกใช้วิธีบังคับใช้กฎหมายฉบับเดิมให้ได้ผลในการปฏิบัติในการเข้าระบบให้มากขึ้นเพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยตกต่ำ ประชาชนเดือดร้อน ราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ หากยิ่งมาเจอสถานการณ์แรงงานต่างด้าวเช่นนี้อีก จะเป็นการซ้ำเติมคนไทยด้วยกันเอง

"ขอเรียกร้องถึง สนช.ในฐานะปฎิบัติหน้าที่แทนส.ส. และกินเงินเดือนภาษีอากรของประชาชน ขอให้คว่ำกฎหมาย พ.ร.ก. ฉบับนี้เพื่อลดความเดือดร้อนของคนไทยตามอำนาจหน้าที่ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ ขอให้ท่านเปลี่ยนจากรับใช้ คสช.มารับใช้ประชาชนบ้าง”นายสาธิตกล่าว

“ปชป.” ยื่น 4 ข้อเสนอนายกฯแก้วิกฤติยางพารา

นายนิพิฏฐ์  อินทรสมบัติ นายสาธิต  ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พร้อมด้วยอดีต ส.ส.ปชป. เข้ายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยนายนิพิฏฐ์กล่าวว่า จากการปรึกษากับตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางพาราเห็นว่าวิกฤตราคายางพาราที่ตกต่ำอยู่ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพของเกษตรกร และกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากยางพาราเป็นสินค้าเกษตรตัวเดียวที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตรายใหญ่และสามารถกำหนดราคาตลาดโลกได้โดยการใช้การบริหารตลาดให้เหมาะสม

นายนิพิฏฐ์ กล่าวอีกว่า ในเรื่องนี้เคยกระทำสำเร็จในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มาแล้ว ที่ได้ริเริ่มคุยกับผู้ผลิต 3 ประเทศ  คือ ประเทศไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยได้ดำเนินการเจรจา 3 ฝ่ายเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทาง ปชป. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติราคายางพาราตกต่ำดังนี้ 1.ขอให้รัฐบาลใช้การบริหารตลาดโดยประกาศว่าจะไม่ขายยางพาราในสต๊อกและจะนำมาใช้ในประเทศไทยเท่านั้น 2.ให้รัฐบาลเร่งรัดให้หน่วยงานของรัฐนำยางพาราไปแปรรูปเพื่อใช้ในประเทศให้มากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล และขอให้รัฐบาลถือว่าการนำยางพาราไปใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินการปฏิบัติงานของผู้ว่าราชการจังหวัดที่มีการปลูกยางพารา และเป็นเกณฑ์ประเมินการปฏิบัติงานของผู้บริหารในหน่วยงานที่สามารถใช้ยางพาราได้ และให้หน่วยงานนั้นแจ้งตัวเลขการใช้ยางพาราในหน่วยงานต่อรัฐบาลทุก 4 เดือน

นายนิพิฏฐ์ กล่าวต่อไปว่า 3.ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของราคายางพาราราคาไม่ได้เป็นไปตามอุปสงค์-อุปทาน แต่มีการตั้งราคาเพื่อแสวงหากำไรตามใจผู้ซื้อ ดังนั้น การยางแห่งประเทศไทย (ก.ย.ท.) จึงควรจัดตั้งบริษัทจำกัด หรืบริษัทมหาชนจำกัด เพื่อประกอบธุรกิจเกี่ยวกับยางพารา โดยเร็ว และป้องกันไม่ให้มีการตั้งราคาซื้อขายโดยแสวงหากำไรเกินควรจากผู้ซื้ออีก และ 4.ขอให้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศผู้ผลิตยางกลางคือ  ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เพื่อกำหนดแผนการผลิตและการจำหน่ายร่วมกันอย่างชัดเจน เราหวังว่ารัฐบาลจะนำข้อเสนอทั้ง 4 ประการ ที่ได้จากการประชุมหารือร่วมกับตัวแทนเกษตรกรผู้ทำสวนยางพาราไปปฏิบัติโดยเร็ว

ที่มา https://www.banmuang.co.th/news/politic/84289