Skip to main content

กลายเป็นเรื่องใหญ่เรื่องร้อนเมื่อรัฐบาลเตรียมชง พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ไปดูกันว่าสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในไทยตอนนี้เป็นอย่างไร?

เรื่องร้อนสุดเวลานี้ไม่มีเรื่องใดเกินเรื่องพ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ที่บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. 2560 ทำให้ทั้งเอกชน พรรคการเมืองออกมาเรียกร้องขอให้ทบทวนมติดังกล่าว เพราะไม่เช่นนั้นจะส่งผลกระทบกับธุรกิจในวงกว้าง เพราะประเทศไทยพึ่งพิงแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เราใช้มากแค่ไหน? แรงงานต่างด้าวมีความสำคัญต่อประเทศอย่างไร?

แรงงานต่างด้าว ตัวจักรสำคัญของไทย

จากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน พบว่าในกันยายนปี 2559   มีจำนวนกว่า 1.5 ล้านคน แต่มีการคาดการณ์ว่าหากรวมไปถึงการจ้างงานแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายอาจสูงถึง 5-6 ล้านคน  โดยส่วนมากอยู่ในภาคการผลิตอุตสาหกรรม แรงงานไร้ทักษะ และ งานประเภทที่คนไทยไม่นิยมทำกัน เช่น งานภาคเกษตร งานประมง งานโรงงาน และภาคอุตสาหกรรมบริการท่องเที่ยว

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าเป็นจำนวนไม่น้อย แม้กระทั่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังเล็งเห็นว่าการออกพ.ร.ก. การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าว นั้นมีปัญหาอย่างแน่นอนเพราะต้องยอมรับความจริงว่าประเทศไทยเราเป็นประเทศที่ขาดแคลนแรงงานมาระยะหนึ่งแล้ว เพราะว่าคนเกิดน้อย อัตราการเกิดต่ำสุดในอาเซียน ทำให้เราขาดแคลนแรงงาน

ด้านพรรคเพื่อไทยนางลดาวัลลิ์ วงศ์ศรีวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วงการออก กฎหมายจากมุมมองของข้าราชการอย่างเดียว จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งในความเป็นจริง ประชาชน ทุกภาคส่วน อยากทำให้ถูกกฎหมายทั้งนั้น ไม่มีใครอยากทำผิดกฎหมายอยู่แล้ว หน่วยงานราชการ จึงควรอำนวยความสะดวกให้คนที่อยากทำตามกฎหมายได้รับความสะดวก

ข้อดีและข้อเสียที่ถกเถียงมากที่สุดใน พ.ร.ก.ดังกล่าวคือ ในส่วนข้อดี คือมีกลไกกำหนดนโยบายระยะยาวได้ ผ่านกรรมการตามกฎหมาย มีกองทุนที่จะมาช่วยในเรื่องการจัดการ การคุ้มครองสิทธิแรงงาน มีบทลงโทษและกลไกที่ช่วยเหลือกรณีการถูกหลอกหรือละเมิดในเรื่องนำเข้าแรงงาน และมีบทลงโทษในเรื่องที่เสี่ยงต่อการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการยึดเอกสาร หรือการหลอกลวงแรงงาน

แต่ในส่วนข้อเสียที่ภาคเอกชนกังวลก็คือยาแรงในกฎหมายฉบับดังกล่าว นายจ้างรับคนต่างด้าวทํางานที่ห้ามคนต่างด้าวทํา  รับคนต่างด้าวที่ไม่มีใบอนุญาตทำงาน  รับคนต่างด้าวซึ่งไม่มีใบอนุญาตทำงานกับตนเข้าทํางาน มีโทษปรับตั้งแต่400,000 - 800,000 บาท ต่อคนต่างด้าวที่จ้าง 1 คน นายจ้างให้คนต่างด้าวทำงานไม่ตรงตามที่กำหนดไว้ในใบอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 400,000 บาทต่อคนต่างด้าว 1 คน

ผลกระทบและการเยียวยาของปัญหา พ.ร.ก.แรงงานต่าวด้าว

ความตั้งใจของรัฐบาลในการผลักดันพ.ร.ก.ดังกล่าว คือการต้องการปราบปรามการค้ามนุษย์ แรงงานเถื่อนในประเทศไทย โดยล่าสุดสหรัฐฯยังคงสถานะไทยให้เป็น "เทียร์2 ต้องจับตา" อยู่และมีมาตรฐาน IUU ของสหภาพยุโรปรออีกด่านหนึ่ง คำถามสำคัญคือรัฐต้องแก้เร่งด่วนขนาดออกเป็น พ.ร.ก.เชียวหรือ? และถ้า พ.ร.ก.ใช้จริงจะมีมาตรการการเยียวยาผู้ประกอบการและแรงงานอย่างไรบ้าง?

นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงในเรื่องดังกล่าวว่านายกรัฐมนตรีกำชับว่า ต้องหามาตรการมาดูแลเพื่อลดผลกระทบกับผู้ประกอบการ โดยกรมการจัดหางาน ได้มีแนวทางวางไว้ให้3 แนวทางด้วยกันได้แก่ โดยข้อแรก มีมาตรการผ่อนคลายด้วยการให้แรงงานต่างด้าวที่ผิดกฎหมาย กลับไปดำเนินการให้เข้าสู่ระบบอย่างถูกต้อง เป็นเวลาประมาณ 1 - 2 เดือน ข้อที่สองเปิดโอกาสให้นายจ้างมายื่นขอเปลี่ยนชื่อนายจ้างใหม่ได้ โดยจ่ายค่าธรรมเนียมเพียง 100 บาท เนื่องจากเดิมทีนายจ้างจะประสบปัญหาแรงงานต่างด้าวย้ายงาน แต่ชื่อยังติดกับนายจ้างคนเดิม อาจจะเกิดปัญหาได้  และข้อที่สามการลงนามความร่วมมือกับเมียนมา เพื่อลดขั้นตอนในกระบวนการเข้าสู่ระบบแรงงานที่ถูกกฎหมายซึ่งมีการเจรจาไปเมื่อ 29 มิ.ย.

ด้านนายอดิศร เกิดมงคล ผู้ปฏิบัติงาน Migrant Working Group (MWG) ให้ความเห็นกับวอยซ์ทีวี ว่า เรื่องที่นายจ้างตระหนกที่สุดคือเรื่องบทลงโทษ ส่วนผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจคิดว่ามีแน่ๆ เพราะมันเกิดภาวะหวาดกลัวทั้งในกลุ่มนายจ้างและแรงงานข้ามชาติในประเด็นเรื่องโทษที่สูง ทำให้เกิดข่าวลือต่าง ๆ นานา จนเกิดภาวะความไม่มั่นใจแก่คนงาน ประกอบกับมีเรื่องการเข้าจับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้กระแสข่าวลือเพิ่มมากขึ้นในกลุ่มแรงงานข้ามชาติแต่จะระยะยาว หรือมีผลกระทบแบบตอนปี 2557 ไหมอันนี้มีความเป็นไปได้เช่นกัน

ต้องจับตาดูว่ามาตรการการเยียวยา เช่นวันนี้ (30 มิ.ย.) กลุ่มผู้แปรรูปยางพาราในจังหวัดภาคใต้เข้ายื่นหนังสือถึงสนช. ขอให้ขยายเวลาการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าวไปอีก 3 เดือน ส่วนบางกระแสกดดันขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้ม.44 ขอให้เลื่อนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อน

ต้องจับตาดูว่าท้ายที่สุดมาตรการชดเชยเยียวยาเรื่องนี้จะเป็นเช่นไร และ พ.ร.ก.ดังกล่าวที่มีทั้งข้อดีและข้อด้อย เพราะก็พยายามผลักดันแรงงานเถื่อน แรงงานต่างด้าวเข้าระบบ แต่ต้องดูว่าระบบนั้นมีความสอดคล้องหรือไม่?

ที่มา http://www.voicetv.co.th/read/503419