Skip to main content

4 ก.ค. 2560

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ชายแดนไทยกำลังคึกคักเป็นพิเศษเมื่อบรรดาแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา กัมพูชา เเละลาว พากันเเบกสัมภาระเดินทางข้ามเขตแดนกลับประเทศบ้านเกิดกันอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายจ้างคนไทยก็กำลังหวาดผวากับยาแรงของ "พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560" ที่บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา

บทลงโทษหนักปรับสูงสุดถึง 1 ล้านบาท ภายใต้การรับรู้อย่างกะทันหันของนายจ้างและลูกจ้าง ทำให้สุดท้าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจใช้อำนาจมาตรา 44 ขยายเวลาบังคับใช้ออกไปอีก 180 วัน เพื่อให้นายจ้างได้เตรียมความพร้อมและปรับตัวได้ทัน

วันนี้มีกระแสแตกเป็น 2 ฝ่ายว่า โทษอันรุนแรงและความเข้มงวดของ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทํางานของคนต่างด้าว นั้นเหมาะแล้วจริงหรือ

หยุดเสียเบี้ยบ้ายรายทาง-ใช้เทคโนโลยีทดแทนแรงงาน

จำนวนแรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ทั้งหมดทั่วประเทศไม่มีตัวเลขที่เเน่ชัด มีเพียงการประมาณ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เคยประมาณการแรงงานต่างด้าวในปี 2558 ว่ามีจำนวน 3.9 ล้านคนเเละจะขึ้นเป็น 4.4 ล้านคน ในปี 2563 ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับการประเมินของ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ที่ระบุว่าปัจจุบันไทยมีแรงงานต่างชาติมากกว่า 3 ล้านคน

ขณะที่สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ให้ข้อมูลว่า แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ณ เดือนพฤษภาคม 2560 ได้รับอนุญาตทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 1,267,671 คน โดยประเภทกิจการที่ได้รับอนุญาตทำงานมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้เเก่  กิจการก่อสร้าง การให้บริการต่างๆ เเละ เกษตรและปศุสัตว์

ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เล่าว่า ในอดีตทุกครั้งที่รัฐบาลเปิดให้มีการจดทะเบียนแรงงานต่าวด้าว  สถิติการจดทะเบียนจะพุ่งขึ้นสูงมาก ก่อนจะเริ่มลดลงเนื่องจากไม่ต่ออายุหรือหลุดจากระบบ ก่อนจะกลับมาพุ่งสูง 20-30 เปอร์เซนต์อีกครั้งเมื่อเปิดให้มีการจดทะเบียนรอบใหม่ ซึ่งสถิติและกราฟลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวของรัฐและผู้ประกอบการให้อยู่ในระบบ

“จดทะเบียนเข้าไปสู่ระบบแล้วแต่ลดลงมาเรื่อยๆ เสมอ เพราะการดูแลคนในระบบไม่ดี ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ พอแรงงานออกนอกระบบ ก็ถูกจับ หรือย้ายออกจากนายจ้างเป็นว่าเล่น”

ดร.ยงยุทธ บอกว่า ที่ผ่านมาการเปิดให้นายจ้างนำลูกจ้างมาลงทะเบียนหลายครั้งโดยไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิด กลับกลายเป็นการสร้างพฤติกรรมไม่ดีให้กับนายจ้างและลูกจ้าง

“เป็นการสร้างนิสัยไม่ทนให้กับลูกจ้าง นึกจะหนีก็หนี หนีแล้วไม่มีใครทำอะไร ไปอยู่กับนายจ้างใหม่ รอวันรัฐบาลผ่อนผัน ก็ไปจดทะเบียนใหม่ เขารู้ว่ายังไงรัฐบาลก็ยอม พูดง่ายๆ ว่ายกโทษให้เสมอ”

ผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงานติงว่า แม้พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับใหม่จะมีแนวคิดและนโยบายที่ดี แต่ค่าปรับบทลงโทษนั้นสูงเกินไป อาจขาดบรรทัดฐานทางกฎหมาย ซึ่งในอนาคตภาครัฐอาจออกกฎหมายฉบับอื่นๆ มารองรับเพื่อให้บทลงโทษสอดรับกับสถานการณ์มากขึ้นได้

ในสายตาของนักวิชาการรายนี้ ความเข้มงวดทางกฎหมายจะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศ เนื่องจากที่ผ่านมางานวิจัยระบุชัดว่า ไทยล่าช้าในการลงทุนและใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนามากว่า 10 ปี ผลจากการใช้แรงงานระดับล่างค่าแรงต่ำ ซึ่งในภาพใหญ่ยังส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตและการสร้างกำไรในธุรกิจหรืออุตสาหกรรม ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ย้อนกลับมากระทบต่อโครงสร้างค่าจ้างของแรงงานไทยที่เติบโตได้ช้า

“ไม่คิดจะลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยี เพราะเห็นว่ามีของถูก ใช้ๆ ไปเถอะ หลบๆ ซ่อนๆ เสียเบี้ยบ้ายรายทางเอา เดี๋ยวเขาก็อนุญาตให้จดทะเบียนใหม่ ความเคยชินแบบนี้ในอดีตน่าจะถึงจุดที่ต้องยุติลงแล้ว”

'แรงงานต่างชาติจำเป็นต่อประเทศไทยมาก เนื่องจากอาชีพบางประเภทคนไทยไม่ทำ' ดร.ยงยุทธ ส่ายหัวไม่เห็นด้วยกับคำพูดดังกล่าว พร้อมกับบอกว่า ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ไม่มีคำว่า “งานที่คนไม่ทำ”

“คนไทยไม่ทำนั่นจริงหรือเปล่า จะทำหรือไม่ทำเป็นของเรื่องราคาค่าจ้างค่าตอบแทน ถูกต้องเพียงพอกับความเสี่ยงและการทำงานหนักหรือเปล่าล่ะ อย่ามาพูดว่าคนไทยไม่ทำ ลองจ้าง 500 บาทต่อวันสิ”

โดยสรุปก็คือ ค่าแรงที่แพงมากขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการวางแผนลงทุนเรื่องเทคโนโลยี และกำหนดกะเกณฑ์ค่าใช้จ่ายส่วนอื่นได้ดียิ่งขึ้น ต่างจากที่ผ่านมามักเลือกใช้กลุ่มแรงงานราคาถูกจนปิดกั้นการเติบโตของเทคโนโลยี และเป็นส่วนหนึ่งให้กระบวนการหากินกับแรงงานผิดกฎหมายเติบโต

“พวกเหลือบไรหากิน เกี้ยเซียะกันไป หมดสมัยแล้ว แรงงานต่างด้าวทุกคนไม่ใช่ของถูกที่ใครจะทำอะไรก็ได้ ต้องดูแลสวัสดิการให้เขา ช่วงเปลี่ยนผ่านต้องมีคนไม่พอใจบ้าง แต่อนาคตจะดีขึ้นด้วยมาตรฐานใหม่ของ พ.ร.ก.ฉบับนี้” ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงานจาก TDRI แสดงความมั่นใจและบอกว่า ถึงเวลาที่ผู้ประกอบต้องวางแผนการทำธุรกิจอย่างมีมาตรฐานเหมือนในต่างประเทศ อาทิ ภาคก่อสร้างที่จำเป็นต้องวางแผนการนำเข้าแรงงานในระยะยาว แทนการควานหาในระยะสั้นจากผู้รับเหมา

“เมื่อประกาศจะทำโครงการต้องรับรู้ล่วงหน้าหลายปีแล้วว่าต้องใช้คนเท่าไหร่  ต้องวางแผน  ไม่ใช่ปล่อยให้มีการหาแรงงานกันเอง รับกันเองและแย่งกันเองเหมือนในปัจจุบัน”

ลดขั้นตอนยุ่งยาก-หยุดมองต่างด้าวเป็นปัญหา

สาระสำคัญของ พ.ร.ก. ฉบับนี้ที่กลายเป็นประเด็นร้อน อาทิ รับคนต่างด้าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ปรับ 4-8 แสนบาทต่อต่างด้าว 1 คน เลิกจ้างหรือออกจากงานไม่แจ้งอธิบดีกรมการจัดหางาน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท เรียกรับเงิน ทรัพย์สินจากคนต่างด้าว จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท หลอกลวงคนต่างด้าวทำงานโดยเรียกเงิน ทรัพย์สินเเละประโยชน์อื่นๆ โทษจำคุก 3-10 ปี ปรับ 6 เเสน- 1 ล้านบาท

ในมุมมองของ สุรพงษ์ กองจันทึก ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสัญชาติ อดีตประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติฯ สภาทนายความ บอกว่า กระทรวงแรงงานและรัฐบาลไทยมองปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวด้วยทัศนคติลบมาตลอด ทำให้การผลักดันผู้กระทำความผิดไม่ประสบความสำเร็จ โดยตามกฎหมายการส่งตัวแรงงานต่างด้าวกลับประเทศได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างคือ ต้องรับสารภาพ ต้องสมัครใจ และต้องกลับโดยปลอดภัย ประเทศต้นทางรับทราบ มิใช่ปล่อยทิ้งไว้ที่ชายแดนเท่านั้น

“ส่งกลับไปทุกวันนี้ เข้าองค์ประกอบหรือเปล่า แทบไม่เข้าสักอัน ที่สำคัญไม่ได้ส่งผลดีต่อไทยเลย ขัดหลักกฎหมายเเละไม่ได้แก้ไขปัญหาด้วย ส่งไปที่ชายแดนเดี๋ยวพวกเขาก็เข้ามาใหม่ อาจลักลอบหรือเจอนายหน้าเข้าไปหากิน แทนที่จะส่งให้ถูกต้อง มีหน่วยงานจากประเทศต้นทางรับทราบ ทำให้เขาเกิดการรับรู้และพัฒนา คราวหน้าจะได้รู้ช่องทางเข้ามาทำงานในเมืองไทยอย่างถูกต้อง มาอย่างไรไม่ผิด ไม่ถูกหลอก”

สุรพงษ์ บอกว่า วิธีคิดของเจ้าหน้าที่กระทรวงและรัฐมักเป็นการดูถูก กดขี่ และมุ่งหาเงิน โดยไม่คิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ หากดูบทลงโทษของกฎหมายอาญาที่ผ่านมา ชัดเจนว่า ค่อนข้างสอดคล้องกันระหว่างโทษปรับและจำคุก เช่น จำคุกไม่เกิน 5 ปีปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่ พ.ร.ก.ฉบับนี้มีการปรับสูงถึง 4-8 แสนบาท ซึ่งโทษจำคุกตลอดชีวิตยังไม่มีการปรับมากเท่านี้เลย

“ค่าปรับและการลงโทษที่แรงเกินจริงทำให้คนแตกตื่น ถ้าโทษน้อยไปคนก็ไม่กลัว มากไปก็แตกตื่น เพราะงั้นต้องอยู่บนความเหมาะสม”

วิธีการแก้ไขปัญหานายหน้าแรงงานต่างด้าว สุรพงษ์ บอกว่า เริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิดของรัฐให้สอดรับกับสถานการณ์ของประเทศ ปัจจุบันไทยขาดแคลนแรงงาน แต่การขึ้นทะเบียนแรงงานกลับทำได้ยาก มีขั้นตอนและเสียค่าใช้จ่ายสูง จนเอื้อต่อกระบวนการใต้ดิน

“ทุกคนอยากเข้าระบบ ไม่มีใครอยากหลบๆ ซ่อนๆ ถ้าให้พวกเขาขึ้นทะเบียนง่าย ไม่เสียค่าใช้จ่ายมาก ขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้ นายหน้าก็จะลดลง ทุกวันนี้คุณทำให้มันยาก นายหน้าเลยได้โอกาส รัฐมักจะอ้างว่ากลัวแรงงานต่างด้าวจะทะลักมาแต่ข้อเท็จจริงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ถึงขั้นทะลักเลย มีแต่เดินทางกลับบ้าน เพราะประเทศเพื่อนบ้านมีความเจริญและมีโอกาสรองรับมากขึ้น”

สุรพงษ์ เพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากขั้นตอนที่ยากลำบากในการขึ้นทะเบียนและการกีดกัดแรงงานต่างด้าว ก็คือ ธุรกิจใต้ดินเท่านั้น

180 วันเพื่อการปรับตัวและกลับมาใหม่

สำหรับภาครัฐ วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เห็นว่า โทษปรับที่สูงนั้นเป็นไปตามาตรฐานเดียวกับ พ.ร.ก.ประมง อาทิ มาตรา 11 ระบุ นายจ้าง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลรายใดที่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ก็มีโทษปรับเริ่มที่ 4 แสนบาท กฎหมายการใช้แรงงานเด็ก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ ก็ปรับ 4 แสน หลักของกฎหมายจะต้องมีกลุ่มของความผิดในชุดเดียวกัน

กระทรวงแรงงานไม่ได้ปิดกั้นการจ้างแรงงานต่างด้าว เเต่ต้องการให้ทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านกระบวนการที่ถูกต้องตามเอ็มโอยู นายจ้างที่ต้องการใช้แรงงานต่างด้าว สามารถยื่นขอโควตาได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อนำเข้ามาทำงานกิจการกรรมกร คนรับใช้ในบ้านประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ

เขาบอกต่อว่า การขอโควตาปัจจุบันลดเวลาลงเหลือ 5 วันเท่านั้น ส่วนขั้นตอนการนำเข้ามาจะใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หลัง พ.ร.ก.ต่างด้าวฉบับนี้บังคับใช้ ทำให้แรงงานผิดกฎหมายทยอยเดินทางกลับประเทศเพื่อกลับเข้ามาใหม่อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

ทั้งนี้ ล่าสุด คสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 ผ่อนปรน 4 มาตรา พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ชะลอการบังคับใช้ออกไปอีก 6 เดือน เพื่อให้แรงงานที่ทำผิดกฎหมายไปจดทะเบียน ดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้อง ใน 4 มาตรา คือ มาตรา 101 ว่าด้วยการเอาผิดลูกจ้าง 102 ว่าด้วยการเอาผิดนายจ้างที่รับคนมาทำงานในอาชีพพิเศษบางอย่างโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 122 ว่าด้วยการรับคนที่ไม่มีใบอนุญาตมาทำงาน มาตรา 119 ว่าด้วยการทำงานโดยไม่มีหนังสือแจ้งนายทะเบียนทราบ

1 ม.ค. 2561 พ.ร.ก.ฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ เมื่อนั้นคงมีคำตอบว่า เนื้อหากฎเกณฑ์ที่กำหนดนั้นเป็นการเพิ่มหรือแก้ไขปัญหากันแน่

ที่มา https://www.posttoday.com/politic/report/501405