Skip to main content

6 ก.ค. 2560

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ในเวทีเสวนาเชิงวิชาการเรื่อง "พ.ร.ก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร" ซึ่งกระทรวงแรงงานจัดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา วรานนท์  ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า การออก พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวมีข้อดีอยู่เช่นกัน โดยเฉพาะการให้ อำนาจ รมว.แรงงาน กำหนดงานที่ชัดเจนสำหรับแรงงานต่างด้าว และกำหนดห้ามให้แรงงานต่างด้าวทำงาน ซึ่งเป็นการปรับปรุงให้ทันสมัยต่อ ภาวการณ์การพัฒนาด้านเศรษฐกิจ

"เราไม่อาจปฏิเสธการใช้แรงงานต่างด้าวได้ และในอนาคตก็ต้องใช้แรงงานกลุ่มนี้อย่างแน่นอน แต่นัยอีกอย่างคือต้องแก้ไขบางส่วน เพราะไทยตกอยู่ในสถานะที่ถูกกล่าวหาในเรื่องค้ามนุษย์จากนานาชาติ มันส่งผลให้เกิดการค้าขายระหว่างประเทศเป็นไปด้วยความยากลำบาก กฎหมายนี้จะเข้ามาช่วยจัดระบบให้ชัดเจน ยิ่งขึ้น" วรานนท์ ย้ำ

ขณะเดียวกัน การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการจ้างแรงงานต่างด้าวที่สูงขึ้น ก็ต้องมาพิจารณากันว่าเป็นเพราะแรงงานเองก็มีส่วนเข้ามาใช้ทรัพยากรในประเทศ นายจ้างก็ต้องเข้าใจในอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่สูงขึ้นด้วย เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ต้องมี การจ่ายเพื่อสังคมด้วยเช่นกัน

"กฎหมายไม่เน้นลงโทษลูกจ้างหรือแรงงาน แต่เน้นเอาผิดที่นายจ้าง หากนายจ้างเป็นคนดี มีสำนึกรับ ผิดชอบต่อสังคม ไม่เอาเปรียบ เรื่องเงินค่าปรับ 4-8 แสนบาท เราไม่ต้องพูดถึงกันเลย เพราะจะไม่มีแรงงานเถื่อนแน่นอน แต่หากนายจ้างไม่สำนึก มันก็จะเป็นการสะท้อนว่าสังคมเราไร้ระเบียบ พูดเรื่องค่าปรับก็จะละอายต่อนายจ้างเองมากกว่า"

วรานนท์ กล่าวว่า แม้รัฐบาลจะออกมาตรา 44 ชะลอการบังคับใช้กฎหมายนี้ออกไปถึงวันที่ 31 ธ.ค. 2560 ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้นายจ้างปรับตัวและนำแรงงานต่างด้าวลงทะเบียนเข้าสู่ระบบให้ถูกต้อง แต่อีกมุมมอง ก็แน่นอนว่าจะเป็นช่องให้เกิดการ ทำผิดเพิ่มในช่วงอีก 6 เดือนข้างหน้าหรือไม่ เพราะในช่วงเวลาดังกล่าว ยังไม่มีการลงโทษใดๆ

มาตรการบรรเทาความเดือดร้อน ในขณะนี้ วรานนท์ กล่าวว่า จะเปิดศูนย์ลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวใน ทั่วประเทศ เพื่อให้นายจ้างที่มีแรงงานต่างด้าวไม่ตรงกับใบอนุญาตนำเอกสารและแรงงานมาลงทะเบียนว่าทำงานร่วมกันจริงๆ เพื่อให้เข้าระบบอย่าง ถูกต้อง โดยศูนย์ดังกล่าวจะช่วยเหลือ ในด้านการตรวจสอบสถานะระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่าทำงานร่วมกันจริงหรือไม่ หากพิสูจน์ทราบแล้วก็จะออกเอกสารรับรองแรงงาน หรือ C.I. เพื่อนำใบนี้ไปรับแสตมป์วีซ่ายืนยัน จากประเทศต้นทาง และออกใบอนุญาตทำงานได้ในท้ายที่สุด

"ศูนย์ดังกล่าวได้ประสานไปยัง 4 ประเทศ เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยคัดกรองแรงงานแล้ว ในส่วนประเทศไทยจะให้สำนักงานจัดหางานทุกจังหวัดเปิดรับลงทะเบียน และมีชุดคำถามสอบถามระหว่างนายจ้างและลูกจ้างเพื่อยืนยันความชัดเจน โดยศูนย์แห่งนี้จะเปิดเพียง 15 วัน และรับไม่จำกัดจำนวนเพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้อง" วรานนท์ กล่าว

สมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานอยู่จำนวน 2.6 ล้านคน และมั่นใจได้เลยว่าจำนวนครึ่งหนึ่งคือ แรงงานที่ผิดกฎหมาย ซึ่งกลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ฉบับนี้ อย่างชัดเจน เห็นได้จากความโกลาหลหลังการประกาศใช้ พ.ร.ก.ที่ภาพของแรงงานทยอย กลับบ้านในจำนวนที่มากขึ้น สาเหตุเพราะแรงงานกลุ่มนี้ไม่มีทางเลือกที่ชัดเจนในการอยู่ต่อเพื่อทำงาน หากอยู่ก็กลัวจะโดนจับ นายจ้างก็ไม่กล้าจะดำเนินการใดๆ ให้

สมพงษ์ กล่าวว่า นายจ้างก็กังวลกับกฎหมายนี้เช่นกัน เพราะที่ผ่านมาก็ได้รับผลกระทบมาแล้วจากเมื่อปี 2557 ที่มีแรงงานทยอยกลับประเทศไป และสุดท้ายรัฐบาลก็ต้องผ่อนปรนเรียกกลับมาใหม่เนื่องจากผลกระทบต่อภาคการผลิตและในวันนี้ผลกระทบเดิมก็กลับมาอีกครั้ง จึงอยากถามว่าคนไทยได้อะไรกับกฎหมายนี้ เพราะเศรษฐกิจฐานรากที่ต้องใช้แรงงานต่างด้าวขับเคลื่อนก็ได้รับผลกระทบทั้งหมด

"พ่อค้าแม่ค้าคนไทยก็ทรุด เพราะไม่มีต่างด้าวมาซื้อจ่ายสินค้า ซื้อผักซื้อปลา แรงงานกลับบ้าน หรือไม่กล้าออกมาเพราะกลัวโดนจับ ต้องอยู่ในที่ตั้ง"

แล ดิลกวิทยรัตน์ นักวิชาการด้านแรงงาน กล่าวว่า ต้องมาตั้งคำถามกันว่า เราแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวครั้งนี้เพื่อประโยชน์อะไร หากว่าเป็นเรื่องของความมั่นคง ก็ต้องมาคุยกันว่ากฎหมายจะช่วยแก้ได้อย่างไร แต่ถ้าเป็นเรื่องการถูดจัดอันดับเรื่อง ค้ามนุษย์นั้น การออกกฎหมายไม่ได้ประกันว่าเราจะออกจากบัญชีดำเรื่องค้ามนุษย์ อีกทั้งเรื่องของการเพิ่ม โทษให้หนักขึ้นใน พ.ร.ก.อย่าลืมว่า ยิ่งโทษหนักเท่าไร ราคาค่าหนีโทษก็จะแพงขึ้นมากเท่านั้น โดยเฉพาะใน ด้านเศรษฐศาสตร์ ผู้ประกอบการ ธุรกิจจะเลือกวิธีการที่ง่าย ราคาถูก มากกว่าการทำให้ถูกกฎหมาย หาก การทำให้ถูกต้องนั้นต้องแลกมาด้วยเวลา และค่าใช้จ่ายที่แพงกว่านอกกฎหมาย

ที่มา https://www.posttoday.com/politic/report/501630