27 กรกฎาคม 2560
ถึงวันนี้ การทยอยไปขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวตามศูนย์รับแจ้ง ที่กระทรวงแรงงานเปิดไว้รองรับถึง 101 แห่งทั่วประเทศ ยังมีอย่างต่อเนื่อง และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ แต่คนจำนวนไม่น้อยยังมีคำถามเกี่ยวกับขั้นตอน กระบวนการการนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในไทย รวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ประเทศต้นทางและข้ามเข้าสู่เมืองไทย นายจ้างและแรงงานต่างด้าวจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เป็นจำนวนมากน้อยแค่ไหน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ซึ่งเป็นบริษัทที่ได้ขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากกระทรวงแรงงานอย่างถูกต้อง เพื่อตอบคำถามดังกล่าว
ในไทยจ่ายจริง ๆ แค่ 2,360 บาท
“สุชิน พึ่งประเสริฐ” ผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ เซเว่น เซอร์วิส จำกัด ให้ข้อมูลว่า สำหรับกรณีของการทำเอ็มโอยู ผู้ที่นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาได้ หลัก ๆ คือ นายจ้าง ทั้งที่เป็นบุคคลทั่วไป และบริษัท รวมถึงบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศที่มีทั้งหมด 81 บริษัท ที่ได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งจะต้องไปแจ้งความประสงค์ต่ออธิบดีกรมการจัดหางาน ว่ามีความจำเป็นและจะต้องใช้แรงงานต่างด้าว และยื่นขอโควตา
จากนั้นก็จะต้องเลือกบริษัทตัวแทนที่ได้รับใบอนุญาตในแต่ละประเทศ เมื่อตกลงกันได้ก็จะต้องไปเซ็นสัญญากับบริษัทนั้น ๆ ให้เป็นผู้จัดหาแรงงานให้ และก็จะเริ่มกระบวนการ ขั้นตอนทั้งหมดใช้เวลา 45-60 วัน
หลังจากเสร็จกระบวนการต่างประเทศ ตาม พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 สำหรับกรณีของแรงงานชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว ที่อยู่ในประเทศ จะต้องไปดำเนินการตามขั้นตอน 1.ขึ้นทะเบียน 2.นายจ้างต้องพาไปแสดงตัว 3.นำไปทำพาสปอร์ตชั่วคราว (สีเขียว) 4.ทำวีซ่า 5.ตรวจสุขภาพ ขอใบรับรองแพทย์ และ 6.ทำขอเวิร์กเพอร์มิต
สรุป เมื่อมาถึงเมืองไทย แรงงานจะเสียค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเพียงคนละ 2,360 บาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าเวิร์กเพอร์มิต 500 บาท ค่าตรวจสุขภาพ ทำประกันสุขภาพ 1,000 บาท ค่าวีซ่า 500 บาท และค่าทำพาสปอร์ตชั่วคราว 360 บาท
“เงินจำนวน 2,360 บาท ขึ้นอยู่กับว่านายจ้าง-ลูกจ้างจะตกลงกันอย่างไร ส่วนมากนายจ้างจะออกให้ แล้วค่อยไปหักหรือเก็บจากแรงงานในภายหลัง”
แรงงานเมียนมาค่านายหน้าอ่วม
นอกจากนี้ หากย้อนรอยกลับไปที่ประเทศต้นทาง แรงงานจากเมียนมา กัมพูชา และลาว จะมีค่าใช้จ่ายมากน้อยเพียงใด หรือนายจ้างจากฝั่งไทยจะต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง
เริ่มต้นจากเมียนมา “สุชิน” ระบุว่า ปัจจุบันขั้นตอนการนำเข้าแรงงานจากเมียนมา ค่อนข้างสะดวก เช่น การทำพาสปอร์ต สามารถทำและรับเล่มได้ภายในวันเดียว แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคิวที่ได้จะเป็นอย่างไร คิวยาวหรือไม่ ขณะที่ค่าธรรมเนียมการทำพาสปอร์ตก็จะใกล้เคียงกับเมืองไทย โดยที่แรงงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายคิดเป็นเงินไทยประมาณ 1,500 บาท
แต่ที่น่าสนใจก็คือ กรณีที่แรงงานเดินทางเข้ามาทำงานผ่านบริษัทนายหน้า บริษัทนายหน้าจะเรียกเก็บจากแรงงาน 200,000 จ๊าต หรือประมาณ 5,000 บาท
และหากผ่านกระบวนการนายหน้ามาหลายทอด ตัวเลขนี้ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก
ค่าพาสปอร์ตกัมพูชาแพง
ขณะที่ “ปารมี พิมานแมน” ผู้จัดการ บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ท๊อป เพาเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลของประเทศกัมพูชาว่า เฉพาะเรื่องพาสปอร์ตอย่างเดียว กัมพูชาจะมีพาสปอร์ต 2 ชนิด คือ เล่มสีแดง และเล่มสีดำ
เล่มสีแดง มีอายุ 10 ปี เป็นอินเตอร์เนชั่นแนลพาสปอร์ต สามารถเดินทางได้ทั่วโลก ส่วนเล่มสีดำ มีอายุ 5 ปี เป็นพาสปอร์ตที่ทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับคนที่จะมาทำงานในประเทศไทยเท่านั้น
ส่วนค่าทำพาสปอร์ต กรณี 30-55 วัน รับเล่ม ราคาจะอยู่ที่ 4,000-6,000 บาท ส่วนแบบเร่งด่วน 3 วันได้ ค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาท ซึ่งขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยน (ยูเอสดอลลาร์) ในช่วงนั้น ๆ ด้วย
ลาวเบี้ยบ้ายรายทางหนัก
ด้านประเทศลาว “ไพรัตน์ แสงสีดำ” ผู้จัดการทั่วไป บริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ อี.เอ็ม.เอส.เลเบอร์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า หลัก ๆ แรงงานจะทำเป็นพาสปอร์ต ท่องเที่ยว เข้ามาในไทยก่อน หรือกรณีที่ไม่เคยมีบัตรมาก่อนเลย แต่เบื้องต้นนายจ้างจากฝั่งไทยจะต้องมีโควตาก่อน หากไม่มีโควตาก็จะต้องเดินเรื่องขอโควตาก่อน ซึ่งตรงนี้จะใช้เวลา 30 วันเป็นอย่างต่ำ จากนั้นก็จะต้องไปเดินเรื่องที่ฝั่งลาว เพื่อทำบัญชีรายชื่อ เพื่อนำมาทำเวิร์กเพอร์มิตและขอวีซ่า เพื่อกลับเข้ามาทำงานในประเทศอย่างถูกต้องได้
กรณีที่เป็นพาสปอร์ตท่องเที่ยว สามารถนำกลับไปรีไซเคิลและรีเทิร์นกลับมาใหม่ได้ ด้วยการเอาพาสปอร์ตนั้นไปทำเป็นเอ็มโอยู เข้ามาให้ถูกต้อง นายจ้างก็จะส่งออกสาร เดินเอกสาร-ยืนยันโควตาในฝั่งไทย หากยังไม่มีโควตา นายจ้างจะต้องเดินเรื่องขอโควตาจากกระทรวงแรงงานก่อน โดยกระบวนการนี้อาจใช้เวลา 30 วันเป็นอย่างต่ำ
“หากแรงงานบางคนให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นผู้เดินเรื่องให้ตั้งแต่ต้นจนจบรวมการทำพาสปอร์ตด้วยจะเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 7,000-8,000 บาท บางคนอาจจะจ้างให้เจ้าหน้าที่ทำเอกสารให้และทำพาสต์ปอร์ตเอง ค่าใช้จ่ายจะอยู่ที่ 4,500-6,000 บาท ไม่รวมค่าพาสปอร์ตอีก 2,500 บาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นายจ้างจะต้องรับรู้ไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือ กรณีที่เป็นแรงงานที่มีเอ็มโอยู บริษัทนายหน้าจากประเทศต้นทางจะเรียกเก็บจากนายจ้างประมาณ 4,500-8,000 บาท/คน
ยันไม่มี “ค้ามนุษย์”
“ปารมี” ย้ำว่า การทำงานของบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ทั้ง 81 บริษัท ที่ขึ้นทะเบียนกับกระทรวงแรงงานอย่างถูกต้อง หลัก ๆ ก็จะเป็นการรับงานมาจากนายจ้างหรือบริษัทต่าง ๆ ให้จัดหาแรงงานให้ ซึ่งจะมีสัญญากันอย่างชัดเจน ส่วนเรื่องของอัตราค่าบริการก็จะมีกฎหมายระบุไว้อย่างชัดเจน
การนำเข้าแรงงานคนต่างด้าว โดยเฉพาะกรณีของการเอ็มโอยูกับประเทศเพื่อนบ้าน จะไม่มีมิติของคำว่า “ค้ามนุษย์” เลย เพราะมันคือการทำงาน การเข้าออกประเทศที่เป็นมาตรฐานสากล การเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทย ทุกสัญชาติจะมีพาสปอร์ต หากท่องเที่ยวก็เป็นทัวริสต์ หากมาทำธุรกิจก็เป็นวีซ่า Non-B หากเป็นกรรมกรก็เป็นวีซ่า Non L-A
การนำเข้าแรงงานต่างด้าวที่เป็นเรื่องการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของกระบวนการที่นอกเหนือการคอนโทรลของภาครัฐบาลมากกว่า และมีการแสวงหาโอกาสหาผลประโยชน์ของคนบางกลุ่มเท่านั้น
ที่มา https://www.prachachat.net/economy/news-11515