Skip to main content

“ตอนที่มันมีการระบาดของโควิด-19 ตอนแรกๆเลย พี่เห็นรัฐบาลของไทยเขาประกาศอะไรในทีวีเต็มไปหมดเลย บางอันพี่ก็ฟังออกบางอันก็ฟังไม่ออก ถึงพี่จะเข้าทำงานที่ไทยนานแล้ว พูดไทยได้ ฟังไทยได้ แต่พอมันเป็นคำศัพท์ทางการศัพท์ยากๆบางอันพี่ก็ฟังไม่รู้เรื่องและจับใจความไม่ได้ แล้วเพื่อนพี่ที่เป็นแรงงานเมียนมาเหมือนกันบางคนก็ฟังไทยไม่ได้ออก พูดไทยไม่ได้คือจะไม่รู้เรื่องอะไรเลยว่ารัฐบาลไทยเขาประกาศอะไรเขาจะให้ทำอะไร แล้วเราต้องทำอะไรยังไง พวกเราจึงทั้งสับสนแล้วก็กลัว” ชบา แรงงานจากประเทศเมียนมาบอกเล่าให้เราฟังถึงความกังวลใจและความหวาดกลัวของเธอกับเพื่อนๆ แรงงานเมียนมาอีกจำนวนมากเมื่อไม่สามารถเข้าใจในแถลงการณ์หรือข้อประกาศที่รัฐบาลไทยมีออกมาในช่วงสถานการณ์โควิด-19

“อยากให้เขามีประกาศอย่างเป็นทางการที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติทุกๆ ประเทศที่อยู่ในประเทศไทยด้วย พวกเราจะได้ปฏิบัติตัวถูกและเตรียมตัวได้ บางอันเราฟังไม่รู้เรื่อง เราไม่รู้ข่าวสารจากทางราชการก็ทำให้เกิดความหวาดระแวง เกิดความกลัว และอาจจะทำให้เราปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องตามประกาศของรัฐได้ อาจจะไม่จำเป็นที่นายกต้องพูดเป็นภาษาของพวกเราอาจจะมีสื่อตามมาที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ กระจายข่าวให้ทั่วถึงแรงงานทุกๆ กลุ่ม พวกเราจะได้ปฏิบัติได้ถูก  ถ้าพวกเราได้รับข้อมูลที่ถูกต้องด้วยความเข้าใจที่ถูกต้องก็จะยิ่งยับยั้งการแพร่เชื้อโควิด-19 และปฏิบัติตัวให้ปลอดเชื้อหรือไม่เป็นส่วนหนึ่งในการแพร่เชื้อได้”ชบากล่าว

ชบาและครอบครัวเดินทางจากประเทศเมียนมา มาสร้างความฝันในประเทศไทยเพื่อหอบความฝันและอนาคตส่งกลับบ้านที่ประเทศต้นทางเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว ในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ถึงแม้เธอจะไม่ได้รับผลกระทบและยังได้ทำงานปรกติอยู่ แต่สมาชิกในครอบครัวของเธอได้รับผลกระทบหลายคน

“น้องสาวของพี่อยู่ด้วยกันนี่แหละ ทำงานบ้านให้กับครอบครัวหนึ่งในกรุงเทพก็โดนนายจ้างขอให้ลดชั่วโมงการทำงานลง จากเดิมเริ่มทำตั้งแต่ 7 โมงเข้าถึง 6 โมงเย็น เขาก็ขอให้ทำ 7 โมงเช้าถึงบ่ายโมง แล้วก็ลดเงินเดือนลงครึ่งหนึ่งเลย ซึ่งการลดเวลาทำงานของน้องสาวพี่แล้วก็ลดเงินเดือนของน้องพี่ลง น้องพี่ก็เหมือนไปทำงานทุกวันปรกติ เพราะเขาต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานเหมือนเดิม ต้องเสียเงินค่าอาหารกินเหมือนเดิม การลดชั่วโมงการทำงานและลดเงินเดือนของน้องสาวพี่ของนายจ้างคนนี้จึงไม่เป็นธรรมกับน้องพี่มาก” ชบาบอกเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวของเธอ

“ส่วนหลานเขยพี่เป็นพนักงานขายเสื้อผ้าอยู่ที่ตลาดนัดจตุจักร อันนั้นยิ่งเลวร้ายใหญ่เพราะเขาหยุดกิจการไปเลย ไม่มีงานขาย ไม่มีรายได้ ไม่มีเงินชดเชย เราเข้าใจถึงสถานการณ์ความเลวร้ายที่เกิดขึ้นของโรคโควิดนะ แต่อย่างน้อยนายจ้างเขาก็น่าจะนึกถึงแรงงานที่เคยทำงานให้เขาอย่างเต็มที่บ้างไม่เฉพาะแรงงานข้ามชาติอย่างพวกพี่หรอก แรงงานไทยหลายคนก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมกับสถานการณ์นี้ จึงอยากให้นายจ้างหลายๆ คนก่อนที่จะตัดสินใจอะไรสักอย่างก็ให้คิดถึงแรงงานทุกๆ คนที่ทุ่มเทให้กับกิจการของเขาในตอนที่ยังไม่เกิดสถานการณ์โควิดด้วย” ชบากล่าว

“ตอนนี้สิ่งที่พวกเราทำกันได้ก็คือมาเช็คกันว่าสมาชิกทั้งหมดของครอบครัวเราเหลือกี่คนบ้างที่ยังไม่ได้ถูกเลิกจ้าง ยังทำงานต่อได้ก็เอาเงินมารวมกันแล้วก็ช่วยๆดูแลกันทั้งค่ากิน ค่าเช่าห้อง ค่ายาค่าหมอหากเกิดมีใครเจ็บป่วยกะทันหัน ก็ไม่รู้จะอยู่กันได้อีกนานเท่าไหร่ แต่ก็ต้องไปต่อ สิ่งที่ทำได้ตอนนี้ไม่รู้จะเรียกร้องอะไรกับใครแล้วก็ได้แต่ภาวนาขอให้โควิดมันผ่านไปเสียที”ชบากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้เครือข่ายองค์ด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group:MWG) สะท้อนปัญหาช่องว่างการสื่อสารระหว่างภาครัฐและแรงงานข้ามชาติว่าเป็นอุปสรรคอยู่บ้าง แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนจะมีการแปลเอกสารเป็นภาษาของแรงงานและเผยแพร่ไปพอสมควรแล้วแต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะไม่ทั่วถึงด้วยข้อจำกัดในเรื่องช่องทางการสื่อสาร  อย่างไรก็ดี  ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีระหว่างภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชนในแสวงหาความร่วมมือเพื่อลดช่องว่างทางการสื่อสารระหว่างรัฐและแรงงานข้ามชาติต่อไป   นอกจากนี้  MWG ได้ออกแถลงการณ์ที่ระบุว่ากระทรวงแรงงานไม่มีนโยบายเฉพาะที่จะบรรเทาทุกข์แรงงานข้ามชาติ ไม่ว่าจะเป็นการคุ้มครองฉุกเฉินระหว่างร้องเรียนค่าจ้างและเงินชดเชยต่างๆ การบรรเทาทุกข์แรงงานข้ามชาติที่ถูกเลิกจ้างชั่วคราวโดยไม่มีกำหนดภายใต้มาตรการล๊อคดาวน์ และเข้าไม่ถึงปัจจัยสาธารณูปโภคและอุปโภค โดยไม่มีการจัดสรรค่าธรรมเนียมจากการทำใบอนุญาตทำงานมาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติในภาวะวิกฤติ

มีแต่มาตรการด้านเอกสารแต่ไม่เพียงพอที่จะบรรเทาทุกข์ในภาวะวิกฤตินี้ได้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดสรรค่าธรรมเนียมจากการขึ้นทะเบียนใบอนุญาตทำงานมา ช่วยแบ่งเบาภาระของแรงงานข้ามชาติให้สามารถอยู่ได้ในระยะสั้นเป็นการชั่วคราว โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม เช่น แรงงานทำงานบ้าน ที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ จากนโยบายรัฐ และนโยบายเรื่องการผ่อนผันการต่อเอกสารหรือการรายงานตัวต่างๆนั้นถือเป็นนโยบายเพื่อการป้องกันโรค อย่างไรก็ดี สิ่งที่รัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินการ คือมีมาตรการในการสำรวจสถานการณ์ผลกระทบของแรงงานข้ามชาติจากสถานการณ์นี้ สร้างความร่วมมือกับภาคประชาสังคมเพื่อทำให้แน่ใจว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็น และเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน ที่สำคัญรัฐควรมีมาตรการที่ทำให้แรงงานที่อยู่ในภาวะถูกควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนั้นได้ประโยชน์จากนโยบายที่สามารถกินได้ด้วย  

#โควิด19 #แรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 #เยียวยาแรงงานข้ามชาติ #กระทรวงแรงงาน #WorkAwayHome #เสียงจากแรงงานไกลบ้านในสถานการณ์โควิด19