Skip to main content
“พี่มาจากกัมพูชาเมื่อ 4 ปีที่แล้วพร้อมสามี ลูกสาว และน้องสาวอีก 2 คน ก่อนหน้านี้เราทำงานกันทุกคน แต่พอมีโรคระบาด งานโรงงานปลากระป๋องที่เราเคยทำก็ไม่รับพวกเราทำงานอีก แฟนพี่เลยต้องไปหางานก่อสร้างทำ อาทิตย์ละ 2-3 วัน ได้เงินวันละ350บาท เอามาเลี้ยงคน 7 คนในบ้าน มันแทบจะไม่พอกิน ตอนนี้พี่ค้างค่าเช่าบ้านมา 2 เดือนแล้ว ค่าน้ำ ค่าไฟ อย่างต่ำก็เดือนละพัน ไม่รู้จะหาเงินจากไหนไปจ่าย น้องสาวก็อยากกลับเขมรนะแต่ก็กลับไม่ได้ แต่ต่อให้กลับได้พวกเราก็ไม่มีเงินอยู่ดี ไปยืมเงินใครเขาก็ไม่ให้เพราะเราไม่มีงานทำ ไม่มีใครมาช่วยพวกเราเลย เหมือนเขาไม่ช่วยแรงงานอย่างพวกเรา” วี แรงงานกัมพูชาวัย 40 ปี เล่าให้เราฟังถึงสถานการณ์ความยากลำบากของครอบครัวเธอที่ต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ . เมื่อ 3 เดือนก่อน วีและสามี ทำงานในโรงงานปลากระป๋อง ที่จังหวัดปัตตานี รายได้ของทั้งคู่เฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท เงินจำนวนนี้พวกเขาต้องส่งให้ลูกวัย 13 ปี ที่อาศัยอยู่กับย่าที่กัมพูชา เดือนละ 2,000บาท แบ่งมาจ่ายค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ราว 3,000 บาท ที่เหลือก็เป็นค่ากิน และเก็บไว้เพื่อนำไปสร้างบ้านที่กัมพูชา แต่ความหวังของวีและสามี เหมือนจะห่างออกไปทุกทีเมื่อเขาทั้งคู่ต้องมาตกงานแบบที่พวกเขาไม่เคยคิดฝันว่าจะเกิดขึ้น . “ประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ลูกสาวของพี่ คลอดลูก ด้วยความที่เป็นลูกคนแรก และอายุยังน้อย ก็เลี้ยงลูกไม่เป็น ภาษาไทยก็พูดไม่ได้ พี่กับแฟนก็เป็นห่วงลูกกับหลาน จะลางานเขาก็ให้ลาแค่ 3วัน พี่ก็พูดภาษาไทยไม่เก่ง เวลาไปโรงพยาบาลก็กลัวคุยกับหมอไม่รู้เรื่อง พี่กับแฟนเลยตัดสินใจลาออก มาช่วยดูลูกดูหลานสักเดือน พอครบเดือน พวกเราก็ไปสมัครงานที่โรงงานอีกครั้ง แต่โรงงานบอกว่าไม่รับคนแล้ว ตอนนั้นเหมือนฟ้าผ่าเลย นี่ยังโชคดีนะที่ลูกสาวพี่มีน้ำนมเยอะ พอสำหรับเลี้ยงหลานได้ แต่ถ้าไม่มีน้ำนมนี้พี่คิดไม่ออกเลยจะหาเงินที่ไหนซื้อนมให้หลานกิน ” วี บอกกับเราถึงสาเหตุที่เธอกับสามีต้องตกงาน . จากเดิมน้องสาวทั้ง 2 คน ของวี ทำงานที่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา พอตกงานก็มาอาศัยอยู่กับเธอ เธอและน้องสาวจึงพยายามหารายได้เล็กๆน้อย มาเลี้ยงดูครอบครัวให้มีกินในช่วงนี้ให้ได้ . “แถวบ้านพี่มีต้นมะขามอยู่ พี่เลยไปขอเจ้าของเขาเก็บยอดมะขามอ่อนไปขายร้านอาหาร เขารับซื้อกิโลละ 100 บาท เจ้าของก็ใจดีบอกว่าเก็บไปเลย แต่ห้ามตกต้นมะขามเชียวนะ พี่กับน้องสาวเลยไปช่วยกันเก็บ แม้จะกลัวตกต้นมะขามมากแค่ไหน พี่ก็จำเป็นต้องปีน น้องสาวเป็นคนรออยู่ข้างล่าง กว่าจะได้ยอดมะขามเป็นกิโลเนี่ยมันไม่ได้ ได้มาง่ายๆเลยนะ ไปเก็บ 2 วันครั้ง ได้เงินมาครั้งละ 200บาท ก็เอาไปซื้อไข่ ซื้อข้าวสารหมด” วี อธิบายให้เราฟังด้วยเสียงหัวเราะเจื่อนๆ . วีและครอบครัว หนีความยากลำบากจากบ้านเกิด มาหางานทำไกลบ้านถึงปัตตานี ต้องมาตกที่นั่งลำบากไม่ต่างจากบ้านที่เธอจากมา ไม่ต้องเอ่ยถึงความฝันที่อยากเก็บเงินสร้างบ้าน มีเงินซื้อที่ดินไว้ทำกิน เพราะลำพังในช่วงเวลาปกติ เธอและสามีก็แทบจะไม่เหลือเงินเก็บเพราะรายรับอันน้อยนิด ตอนนี้ วี หวังเพียงว่า ขอให้มีอาหารเพียงพอเลี้ยง 7 ชีวิต และเจ้าของบ้านจะไม่ไล่เธอออกจากบ้านเพราะค้างค่าเช่าก็ดีที่สุดสำหรับเธอแล้ว . “ถ้าถามพี่ว่าอยากให้ช่วยเหลืออะไร ตอนนี้ช่วยอะไรพี่ก็ได้ ได้ข้าวสารก็ยังดี ให้อะไรมาพี่ก็ดีใจหมด พี่ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว ต่อให้โรคระบาดหมดไป พี่ก็ไม่รู้ว่าโรงงานปลากระป๋องที่พี่เคยทำเขาจะรับพี่กลับไปทำงานหรือเปล่า ไปถามหัวหน้างานมาหลายครั้ง เขาก็บอกว่าไม่รับคนงานทุกครั้ง ตอนนี้พี่เลยไม่รู้เลยว่าอนาคตข้างหน้าครอบครัวเราจะเป็นอย่างไร ก็ได้แต่หวังว่ามันจะดีขึ้น” วี กล่าวทิ้งท้ายปนเสียงแค่นหัวเราะของเธอ ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งตลอดบทสนทนาของพวกเรา . ในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แรงงานข้ามชาติหลายคนต้องตกอยู่นภาวะปัญหาที่ไม่มีทางออก ทั้งถูกปิดกิจการไม่สามารถหางานทำได้ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้เนื่องจากประเทศไทยและประเทศต้นทางปิดด่านชายแดน รัฐบาลก็มีมาตรการข้ามไม่ให้แรงงานข้ามชาติเคลื่อนย้ายข้ามจังหวัด ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติได้รับผลกระทบจากความเป็นอยู่ ขาดรายได้ ขาดอาหาร และไม่มีค่าใช้จ่ายในเรื่องที่พักอาศัย ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเสนอให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือให้แก่แรงงานข้ามชาติเพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ทั้งในรูปแบบของการจัดสรรงบประมาณตามกฎหมายมาให้การช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในเบื้องต้น การปรับปรุงแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามกฎหมายและความช่วยเหลือผู้ยากไร้ในนโยบายของรัฐให้คำนึงถึงแรงงานข้ามชาติ และข้อจำกัดของแรงงานข้ามชาติให้มากขึ้น เช่น การมีแบบฟอร์มการขอรับเงินประกันการว่างงานที่เป็นภาษาของแรงงานข้ามชาติ การลดเงื่อนไขในการเปลี่ยนย้ายนายจ้างในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้มีความยืดหยุ่นเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถหางานเลี้ยงชีพตนเองในช่วงนี้ ตลอดจนการหารือกับประเทศต้นทางในการจัดระบบการเดินทางกลับประเทศต้นทางของแรงงานข้ามชาติ . ทางเครือข่ายเชื่อมั่นว่า มาตรการในการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติ คือการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การเข้าถึงการช่วยเหลือตามกฎหมายและตามนโยบายของภาครัฐ เพราะการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การขาดความมั่นคงทางดำเนินชีวิต จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางสุขภาพด้วยเช่นกัน