MWG
29 June 2020
“ หนูยอมทิ้งลูกอายุ 2 ปี ไว้กับแม่ที่เวียงจันท์ค่ะ หนูอยากมีบ้านสักหลังให้ลูกกับแม่ได้อยู่ เพราะบ้านที่มีอยู่ตอนนี้มันไม่เหมือนบ้านเลยพี่ มันแค่พออยู่ได้ หนูเลยตัดสินใจตามพี่สาวมาทำงานที่ร้านคาราโอเกะ ในปัตตานี มาได้ 5-6 เดือนแล้ว เงินเดือนหนู 7,000 บาท ส่งให้แม่ 6,000 บาท ที่เหลือหนูเก็บไว้ใช้ซื้อของใช้ส่วนตัว ตอนนี้ไม่มีเงินส่งให้แม่สักบาท ลูกหนู และหลานหนู ก็ต้องกินนมทุกวัน แม่เลยต้องไปยืมเงินญาติๆมาซื้อนมและมาใช้จ่ายในบ้านก่อน ตอนนี้รัฐบาลไทยประกาศคลายล็อคดาวน์แล้วแต่ร้านคาราโอเกะที่หนูทำงานอยู่ยังปิดอยู่เลยค่ะพี่” พูนซับ แรงงานสาวชาวลาว ในวัย 23 ปี เล่าถึงผลกระทบที่ครอบครัวเธอได้รับจากการระบาดใหญ่ของเชื้อโควิด 19 ในขณะนี้ให้เราฟัง
.
พูนซับ บอกกับเราเพิ่มเติมว่า พ่อแม่เธอนั้นแยกทางกัน เธอเองก็เป็นแม่หม้าย ต้องเลี้ยงลูกและหลานวัย 3 ขวบ ที่โชคร้ายต้องกำพร้าพ่อที่เพิ่งเสียชีวิตไป ขณะที่แม่ของหลานก็ทิ้งลูกไว้ตั้งแต่แรกเกิด เธอจึงกลายเป็นเสาหลักรับผิดชอบคนทั้งครอบครัว ตั้งแต่อายุยังน้อย ดังนั้นการตัดสินใจละทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลังจึงเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ของเธอ โดยมีความหวังว่า "ชีวิตทุกคนต้องสุขสบายขึ้น" เป็นเดิมพัน
.
“มาทำงานที่นี่ถือว่าดีนะพี่ เพราะหนูกินอยู่ที่บ้านเจ้านาย เลยประหยัดค่ากินกับค่าที่พักไปได้ แต่หนูก็ต้องทำงานที่ร้านทุกวัน ตั้งแต่เป็นเด็กเสิร์ฟ ล้างจาน ทำความสะอาดร้าน ทำทุกอย่างอะพี่ ส่วนวันหยุดก็แล้วแต่ทางการเขาสั่งให้หยุดเท่านั้น แต่ตอนนี้ร้านหยุดไป 2เดือนแล้ว หนูก็อยากให้ร้านได้กลับมาเปิดเร็วๆ หนูเพิ่งมาได้ไม่กี่เดือนเอง ต้องมาเจอแบบนี้ มันก็ทุกข์ใจ เป็นห่วงแม่ ห่วงลูก ห่วงหลาน ไม่มีงานก็ไม่มีเงิน แต่หนูก็ไม่รู้จะทำยังไงเหมือนกันค่ะ ได้แต่นั่งรอดูข่าว ว่าเมื่อไหร่ทางการเขาจะให้เปิดร้านได้สักที” พูนซับ บอกเล่าให้เราฟังอย่างมีความหวัง
.
เมื่อเราถามถึงความช่วยเหลือที่เธอได้รับในช่วงสถานการณ์นี้ เธอบอกเราด้วยเสียงหัวเราะอันสดใสว่า
“หนูเคยได้น้ำมันพืช กับข้าวสารมาครั้งหนึ่งค่ะ ดีใจมากเลย มีคนใจดีเอามาให้คนลาวที่อยู่แถวนี้”
.
สำหรับ พูนซับ แล้วในห้วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ การได้รับความช่วยเหลือจากผู้คนแม้จะเพียงเล็กน้อย มันก็มีค่าสำหรับเธอมาก แต่เหนืออื่นใด เธออยากได้งานของเธอกลับคืนมา เพื่อที่เธอจะได้เป็นที่พึ่งให้กับครอบครัวได้อีกครั้ง
.
“ถ้าถามหนูว่า อยากให้ช่วยเรื่องอะไรมากที่สุด ก็คือ เรื่องเงิน หนูอยากมีเงินส่งให้แม่ทุกเดือน แม่จะได้ไม่ต้องลำบาก หนูรอให้ร้านได้เปิดอยู่ทุกวัน แม้ว่าหนูจะไม่ต้องจ่ายค่ากิน ค่าอยู่ เพราะเจ้านายเขาก็สงสารเรา แต่เราก็ทั้งเกรงใจทั้งสงสารเจ้านาย เพราะพอร้านปิดเขาก็ไม่มีรายได้เหมือนกัน เขาเป็นผู้หญิงตัวคนเดียว ต้องเลี้ยงลูกไม่ต่างจากหนู แล้วต้องมาดูแลพวกหนูที่ไม่ได้ทำงานให้เขาอีก หนูจึงได้แต่ภาวนาให้ทุกอย่างกลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ร้านเปิดเจ้านายก็มีรายได้ พวกหนูก็มีเงินส่งกลับบ้านได้เหมือนเดิม” พูนซับกล่าวทิ้งท้าย
.
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มาตรการในการควบคุมและป้องกันโรคอย่างเข้มข้น เช่น การปิดกิจการบางประเภทเป็นการชั่วคราวมีความจำเป็นในแง่ของการควบคุมโรค อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ประกอบการและแรงงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นรัฐควรมมาตรการรองรับในเรื่องนี้อย่างชัดเจนทั้งในแง่การเข้าไปรองรับผลกระทบต่อสถานประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานประกอบการขนาดเล็กที่ไม่ได้มีทุนสำหรับภาวะวิกฤติมากนัก ควบคู่ไปกับมาตรการในการช่วยเหลือแรงงานที่ไม่ได้มีเพียงกลุ่มที่อยู่ในระบบประกันสังคม
.
การปล่อยให้แรงงานข้ามชาติและผู้ประกอบการเผชิญกับการดูแลตนเองโดยไม่มีมาตรการรองรับของรัฐคือการผลักดันให้ผู้ได้รับผลกระทบต้องอยู่บนความเสี่ยงทั้งทางเศรษฐกิจและทางสุขภาพ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติเสนอให้รัฐบาลมีแผนปฏิบัติการที่ชัดเจนในการปิดกิจการชั่วคราวเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19 ในสามช่วง ได้แก่ ช่วงให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการป้องกันโรคติดต่อ โดยจะต้องมีแผนการและจัดทำงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้ใช้แรงงานให้ชัดเจน ที่มากไปกว่าการผลักดันให้แรงงานไปขอรับเงินชดเชยการว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม ช่วงการฟื้นฟู รัฐจะต้องกำหนดมาตรการกระตุ้นการจ้างงาน มีแผนรองรับการขาดแคลนแรงงานที่จำนวนหนึ่งได้เดินทางกลับ หรือได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐ ช่วงมาตรการระยะยาว รัฐจะต้องจัดทำมาตรการและปฏิรูประบบการจ้างงานที่สร้างความมั่นคงให้ทั้งผู้ประกอบการและแรงงาน ตลอดจนมีแผนระยะยาวในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแผนรองรับเมื่อเกิดภัยพิบัติหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน