Skip to main content
“พอผมไปถึง สิ่งที่ผมเห็นคือ มีผู้ใหญ่ 6 คน ทั้งนั่งและนอนเบียดเสียดกันในห้องเช่าแคบๆ ขณะที่เด็กหญิงวัย12 ปีกำลังกินมาม่าต้ม ผมเดาว่าพวกเขาน่าจะไม่มีข้าวกิน ผมขอให้พวกเขาพาไปดูถังข้าวสาร ผมรู้ทันทีว่าข้าวสารเพียงน้อยนิดนี้เลี้ยงคน 7 คนไม่เกินวันสองวันแน่ๆ เดิมครอบครัวนี้ทำงานกันทุกคน และเช่าห้องเช่า 2 ห้อง ไว้อยู่อาศัย แต่พอสถานการณ์การระบาดของไวรัส โควิด 19 รุนแรงขึ้น นายจ้างก็เลิกจ้างพวกเขา ตอนนี้ในบ้านเหลือคนทำงานเลี้ยงทั้งครอบครัวเพียงคนเดียวเท่านั้น แน่นอนว่ามันไม่พอใช้จ่ายหรอก เพราะอย่างมากเขาก็มีรายได้ไม่เกิน 5,000บาทต่อเดือน แค่ค่าเช่าห้องก็ปาไป 2,000 กว่าบาทแล้ว แล้วเงินที่เหลือจะเลี้ยงดูคนทั้งครอบครัวได้อย่างไร” Khaieg Minlwin หรือ ธีร์ เจ้าหน้าที่โครงการช่วยเหลือแรงงานเมียนมา มูลนิธิรักษ์ไทย เล่าถึงวันที่เขาลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เพื่อเก็บข้อมูลและให้ความช่วยเหลือแรงงานเมียนมา เพื่อนร่วมชาติของเขา ในช่วงแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ให้เราฟัง . “ธีร์” เคยเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัย จากรัฐยะไข่ ประเทศเมียนมา เขาจำเป็นต้องทิ้งครอบครัว ทิ้งบ้านเกิดมาประเทศไทย เพราะเหตุผลทางการเมือง ตอนมาที่ประเทศไทย ธีร์มาในฐานะของการหลบหนีเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ระหว่างทางของการหลบหนีธีร์ต้องทำงานทุกอย่างเพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตของตัวเองให้รอด ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างทำงานในสวนยาง ลูกจ้างบนเรือประมง แรงงานก่อสร้าง จนกระทั่งทำงานโรงงาน ธีร์บอกว่าทุกที่ที่เขาทำงานไม่มีนายจ้างคนไหนเลยที่จะไม่เอาเปรียบเขา . “เลวร้ายที่สุดของผมคือ ทำงาน 3 เดือน ผมไม่ได้ค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว พอผมไปเรียกร้องนายจ้างก็เอาปืนมาขู่เอาชีวิตผม ซึ่งความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับผมทำให้ผมเข้าใจความยากลำบากของเพื่อนแรงงานร่วมชาติผมดีกว่าใครๆเลยล่ะครับ และนี่ก็เป็นเหตุผลที่ผมต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อตัวเองและเพื่อนแรงงานด้วยกันครับ”ธีร์บอกเล่าถึงเหตุผลของการเข้ามาทำงานด้านการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม . “ตอนผมตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันเอง แรกๆก็พอทำได้ แต่สักพักก็ไม่ไหวเพราะมีเคสเยอะมาก เงินเราก็ไม่มี เราเป็นกลุ่มจะของบฯจากไหนก็ลำบาก ผมเห็นว่ามูลนิธิรักษ์ไทยซึ่งเป็นมูลนิธิที่ทำงานด้านการดูแลและช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยรับสมัครเจ้าหน้าที่ นี่จึงเป็นโอกาสที่ผมจะได้ทำงานอย่างถูกกฏหมาย และผมจะได้เพื่อนๆแรงงานของผมได้มากยิ่งขึ้นครับ” ธีร์ ระบุ . และเมื่อสถานการณ์การระบาดไวรัสโควิด 19 สร้างผลกระทบกับผู้คนทั่วโลกอย่างสาหัส ธีร์ ได้รับมอบหมายให้รับหน้าที่เก็บข้อมูล และประสานเครือข่าย พร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่ทำงานในกรุงเทพฯและปริมณฑล นอกจากจะเป็นเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิรักษ์ไทยแล้ว ธีร์ยังทำงานเป็นอาสาสมัครขององค์กรชุมชนที่พวกเขาตั้งกลุ่มกันเองที่ชื่อ Myanmar Migrant Network Bangkok หรือ MMNB ด้วย กลุ่มนี้ทำงานช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ประสบความเดือนร้อนเนื่องจากการละเมิดสิทธิแรงงาน โดยเขากับเพื่อนๆจะร่วมกันช่วยเหลือประสานงานทั้งกับสถานฑูตเมียนมา ทนายความ และกลไกการร้องเรียนของรัฐเพื่อให้ความช่วยเหลือแรงงานให้ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายประเทศไทยรับรองด้วย . “ตอนนี้ผมทำข้อมูลแทบไม่ทัน เพราะมีแรงงานเมียนมาที่ได้รับผลกระทบเยอะมาก มีรายชื่อที่เราต้องให้ความช่วยเหลือหลายพันคน เราก็พยายามตรวจสอบว่า แต่ละรายชื่อนั้นต้องเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด 19 จริงๆ เนื่องจากการช่วยเหลือค่อนข้างจำกัด เงินช่วยเหลือส่วนหนึ่งก็มาจากการบริจาค สิ่งที่เราช่วยตอนนี้คือให้ถุงยังชีพ และอุปกรณ์ป้องกันไวรัส ทั้งหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ” ธีร์กล่าว . ธีร์บอกเล่าเพิ่มเติมว่าในการลงพื้นที่เพื่อประสานช่วยเหลือเคสของเขา เขาพบอุปสรรคใหญ่ที่ทำให้แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยเข้าไม่ถึงการบริการด้านสาธารณสุขนอกจากระบบจ้างการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมจนทำให้แรงงานบางส่วนไม่มีเงินที่จะไปหาหมอแล้วการไม่เข้าใจภาษาก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แรงงานหลายคนกลัวและเมื่อเจ็บป่วยก็เลือกที่จะไม่ไปโรงพยาบาล ซึ่งในการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้การเข้าไม่ถึงระบบบริการสาธารณสุข หรือการไม่รับทราบข้อมูลในการปฏิบัติตนหรือดูแลตนเองอย่างถูกต้องให้ปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 ก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล . “ผมอยากเรียกร้องให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานสาธารณสุข ควรหันมาให้ความสำคัญกับแรงงานข้ามชาติ โดยเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำ คือ รัฐควรจ้างล่ามไว้ประจำที่โรงพยาบาล เพราะสาเหตุหลักที่แรงงานข้ามชาติไม่กล้าไปโรงพยาบาลคือ เรื่องภาษา เมื่อไม่เข้าใจภาษาพวกเขาจึงกลัวการไปโรงพยาบาล ฉะนั้นรัฐต้องคิดว่าทำอย่างไรที่จะทำให้แรงงานเหล่านี้สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ตลอดจนการให้ข้อมูลการป้องกันไวรัสก็ควรจะมีภาษาพม่า เพราะบางคนอ่านภาษาไทยไม่ออก เขาก็ไม่รู้ว่าต้องป้องกันอย่างไร ส่วนการช่วยเหลือด้านอื่นๆเช่น เรื่องค่าใช้จ่าย รัฐควรจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือผู้ประกอบการ ทั้งโรงงาน ทั้งหอพัก อพาร์ตเมนต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่ได้และสามารถช่วยเหลือแรงงานต่างด้าวได้” ธีร์กล่างทิ้งท้าย ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ย่อมส่งผลกระทบให้การเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป อาจจะมีความไม่สะดวกและเป็นอุปสรรคต่อทั้งสถานพยาบาลที่ให้บริการและผู้ประกันตนในกลุ่มประชากรข้ามชาติ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติได้เสนอให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณา กำหนดแนวทางการกระจายการให้บริการไปยังศูนย์บริการในระดับชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นต้น รวมถึงขยายกลไกการให้บริการทางด้านสุขภาพและการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมถึงหน่วยบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว พนักงานสาธารณสุขต่างด้าว และหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งนี้ควรพิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณบางส่วนในการบริการให้แก่ศูนย์บริการในระดับพื้นที่ดังกล่าว . ทั้งนี้ รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องตระหนักว่ามาตรการในการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติ คือการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การเข้าถึงการช่วยเหลือตามกฎหมายและตามนโยบายของภาครัฐ เพราะการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การขาดความมั่นคงทางดำเนินชีวิต จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางสุขภาพด้วยเช่นกัน