Skip to main content
“ตอนวันที่ 30 มี.ค.เขายังบอกให้พวกหนูทำงานได้อยู่เลยค่ะ บอกว่าไม่มีอะไร ไม่ต้องกังวลเราจะไม่ได้รับผลกระทบอะไร พวกหนูก็สบายใจก็ไม่ได้เตรียมตัวเตรียมใจว่าจะต้องกลับบ้านกัน ก็คิดแค่ว่าเรายังต้องได้ทำงานต่อแน่ๆ แต่พอวันถัดมาเขาก็มาบอกให้พวกหนูเก็บเสื้อผ้ากลับบ้านเลยไม่ต้องมาทำงานแล้ว พวกหนูจะกลับไปได้ยังไงล่ะค่ะในเมื่อด่านชายแดนถูกสั่งปิดแล้ว” สา แรงงานชาวพม่าบอกเล่าให้เราฟังด้วยภาษาไทยที่คล่องแคล่วชัดเจนถึงชะตากรรมของเธอที่ต้องพบเจอเมื่ออยู่ๆ ต้องถูกเลิกจ้างจากบริษัท(ผลิตเฟอร์นิเจอร์)แห่งหนึ่งที่จังหวัดสมุทรสาคร จนเธอไม่สามารถกลับประเทศต้นทางได้ . “ถ้าเขาบอกเราเร็วกว่านี้พวกเราคงเตรียมตัวกลับบ้านได้ ด่านชายแดนไทยพม่าประกาศปิดเมื่อวันที่ 18 มี.ค.ที่ผ่านมาวันที่ 30 มี.ค.เขายังยืนยันกับเราหนักแน่นว่าเราทำงานต่อได้บริษัทไม่ปิดแน่ๆ แต่พอมาวันที่ 31 ประกาศปิดโรงงานและบอกพวกเรากะทันหันมาก พวกเราจะทำยังไง พวกเราติดอยู่ที่นี่ตั้ง 49 คนนะคะ แล้วตอนที่เขาบอกเลิกจ้างเขาพูดเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่สิ่งที่เกิดกับพวกเราคือพวกเราไม่สามารถไปไหนต่อได้แล้ว เดินทางกลับบ้านก็ไม่ได้ เงินที่เขาให้มาก็เป็นเงินงวดสุดท้ายที่อยู่ได้อีกแค่กลางเดือนหน้าเท่านั้นค่ะ แล้วแบบนี้พวกเราจะอยู่กันยังไง” สาบอกเล่าความรู้สึก . สาให้ข้อมูลเราเพิ่มเติมว่า เธอและเพื่อนแรงงานข้ามชาติชาวพม่าอีกหลายคนทำงานในบริษัทแห่งนี้มา 10 กว่าปีแล้ว บางคนทำตั้งแต่เด็กจนแก่ บางคนมีครอบครัว มีลูกเล็กๆ การเลิกจ้างกะทันหันและไม่ได้รับเงินชดเชยเยียวยาอะไรเลยในครั้งนี้จึงทำให้แรงงานทุกคนไม่มีทางเลือกหรือทางรอดอย่างอื่นเลย . “เรามาทำงานที่นี่แบบถูกต้อง นายจ้างเขาจ้างพวกเราในลักษณะการทำงานแบบเอ็มโอยู พวกเรามีเอกสารทุกอย่างถูกต้องค่ะ ดังนั้นเขาควรชดเชยเยียวยาให้พวกเราบ้าง อย่างหนูเป็นหัวหน้าครอบครัวต้องเลี้ยงน้องเลี้ยงพ่อแม่ มีอีกหลายชีวิตที่รอหนูที่บ้าน ถ้าหนูได้เงินชดเชยเยียวยากลับไปบ้าง ก็คงต่อชีวิตหนูและครอบครัวได้ นี่ข้าวสารก็จะหมดแล้วเงินก็ใกล้จะหมดอีก พวกเราเดือดร้อนมากเลยค่ะ” สากล่าว . กว่า 20 ปีที่สาจากบ้านเกิดเมืองนอนในประเทศเมียนมาเพื่อมาขายแรงงานที่ประเทศไทย ความฝันที่สาแบกไว้เต็มบ่าคือชีวิตที่ดีขึ้นและครอบครัวที่สุขสบายขึ้นจากการทำงานด้วยน้ำพักน้ำแรง ด้วยสองมือของเธอ งานนี้เป็นงานที่เธอคิดว่าจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของเธอและครอบครัวให้ดีขึ้นแต่วันนี้ฝันที่เธอแบกไว้กว่า 20 ปีพังลงในพริบตา แม้แต่ทางกลับบ้านสาก็ไม่สามารถกลับได้ . ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ(MWG) ระบุว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด –19 ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติในหลายภาคส่วนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ควบคุมโรคระบาดเช่นเดียวกับคนไทย แรงงานหลายคนต้องถูกเลิกจ้างหรือสั่งพักงานโดยไม่ได้รับการชดเชยเยียวยาตามกฎหมาย กรณีของนางสาวสา นี้แม้เธอจะเป็นผู้ประกันตนในประกันสังคมมาหลายปี แต่พบว่านายจ้างไม่ได้แจ้งชื่อเธอออกจากระบบประกันสังคมทำให้สำนักงานประกันสังคมอ้างว่าเธอยังไม่มีสิทธิขึ้นทะเบียนว่างงานเพื่อรับเงินชดเชยได้ . จากกรณีนี้เห็นได้ว่าแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยยังไม่ได้รับการช่วยเหลือในภาวะวิกฤติโรคระบาดเท่าเทียมกับแรงงานคนไทยแม้จะอยู่ในระบบประกันสังคมเดียวกันก็ตาม แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บออม เพราะรายได้ส่วนหนึ่งจะต้องโอนกลับไปเลี้ยงดูครอบครัวที่ประเทศต้นทาง กลไกการเยียวยาที่ไม่ครอบคลุมถึงแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยรวมถึงปัญหาอุปสรรคในการเข้าถึงกลไกการคุ้มครองตามกฎหมายทำให้แรงงานข้ามชาติตกอยู่ในภาวะยิ่งกว่าความเปราะบางมากยิ่งขึ้น