Skip to main content

5 กรกฎาคม 2560

เครือข่ายประชากรข้ามชาติ ยื่นข้อเรียกร้องถึงนายกรัฐมนตรีและกระทรวงแรงงาน ต่อการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ

นับแต่รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายเร่งด่วนในการดำเนินการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีเอกสารในการขึ้นทะเบียนเป็นแรงงานกับรัฐบาลไทย ตั้งแต่ปี 2557 โดยข้อมูลกระทรวงแรงงาน ณ เดือนพฤษภาคม 2560 สามารถขึ้นทะเบียนแรงงานที่ไม่มีเอกสารสาร (ถือบัตรชมพู) ได้จำนวนทั้งสิ้น 1,178,679 ล้านคน มีสิทธิอาศัยและทำงานในประเทศได้ชั่วคราวถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 และแรงงานประมงและแปรรูปสัตว์น้ำ (ถือบัตรชมพู) รวม 93,089 คน มีสิทธิอาศัยและทำงานในประเทศได้ชั่วคราวถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2560 และให้แรงงานที่ถือบัตรชมพูทั้งหมดเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง เนื่องจากรัฐบาลไทยไม่มีนโยบายขยายระยะเวลาให้กับแรงงานข้ามชาติทำงานและอาศัยอยู่ชั่วคราวได้อีกต่อไป

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติได้จัดเวทีเสวนาเพื่อติดตามกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ พบว่า แรงงานข้ามชาติสัญชาติพม่าที่ขึ้นทะเบียนและถือบัตรชั่วคราวจำนวน 793,576 ราย ได้รับเอกสารพิสูจน์ตนจากประเทศต้นทาง (Certificate of Identity: CI) ประมาณ 200,000 ราย หรือ ประมาณ 25% ในขณะที่แรงงานจากกัมพูชา (406,670 ราย ) และลาว (71,521 ราย) ไม่มีข้อมูลของแรงงานที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติ ดังนั้น ยังมีแรงงานอีกประมาณ 1 ล้านคนที่มีสถานะการทำงานและอาศัยอยู่ในไทยชั่วคราวเพื่อรอการพิสูจน์สัญชาติ

วันที่ 23 มิถุนายน 2560 ได้มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ซึ่งมีบทกำหนดโทษที่รุนแรง จนเกิดกระแสความกังวลทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างว่า หากมีการบังคับใช้กฎหมาย จะมีการดำเนินการจับกุมนายจ้างและลูกจ้างที่แม้จะมีการขึ้นทะเบียนแล้ว แต่มิได้เป็นไปตามเงื่อนไขด้านนโยบายการจ้างงาน โดยข้อมูลจากสมาชิกเครือข่ายฯ พบว่า ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2560 มีแรงงานพม่าเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว ประมาณ 200,000 ราย ทั้งผ่านช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมือง และช่องทางธรรมชาติ ในขณะที่แรงงานกัมพูชาเดินทางกลับประเทศต้นทางแล้ว ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองอรัญประเทศ จำนวน 4,921 ส่วนด่านตรวจคนเข้าเมืองและช่องทางธรรมชาติอื่นๆ ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน การไหลกลับโดยไม่มีทิศทางด้านการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ ส่งผลโดยตรงต่อความพยายามของรัฐในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติให้มีสถานะที่ถูกกฎหมายเพื่อป้องกันการขยายตัวของปัญหาของการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์

จากสภาพปัญหาของการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมีข้อเสนอเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

การออกข้อกำหนดเพื่อแก้ไขสถานภาพของแรงงานกลุ่มต่างๆ

กลุ่มที่มีเอกสาร แต่เอกสารไม่ตรงกับสภาพการจ้างงานจริง

  1. เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (OSS) ให้มีการเปลี่ยนเงื่อนไขการทำงานให้ถูกต้อง (นายจ้าง สถานที่ ประเภทกิจการ) โดยรวมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นทะเบียนแรงงานทั้งหมด ได้แก่ ตม. จัดหางาน สธ. มท.
  2. ดำเนินการเปลี่ยนเงื่อนไข นายจ้าง และอาชีพให้ถูกต้อง โดยตัดเงื่อนไขการดำเนินงานด้านเอกสารออก
  3. ออกประกาศ กำหนดเงื่อนไขการขอเปลี่ยนนายจ้างภายใน 15-30 วัน ถ้านายจ้างเก่าไม่แจ้งออกภายในกำหนด ให้นายจ้างคนปัจจุบันสามารถไปแจ้งการเปลี่ยนนายจ้างได้ที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ (เพื่อแก้ปัญหานายจ้างรับจ้าง)

กลุ่มที่เคยมีเอกสาร แต่ปัจจุบันเอกสารหมดอายุ

  1. วีซ่า และ/หรือ ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ แต่หนังสือเดินทางยังมีอายุ อนุญาตให้มีการตรวจลงตราวีซ่าอายุ 2 ปี และสามารถดำเนินการขออนุญาตทำงานได้ตามปกติ โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
    • ก. ให้ตรวจลงตราตามอายุของหนังสือเดินทางที่เหลือ กำหนดระยะเวลาไม่เกินสองปี ทั้งนี้ ในกรณีที่ต่ออายุ/ เปลี่ยนเล่มหนังสือเดินทางใหม่ ให้ย้ายวีซ่าตามระยะเวลาที่เหลือ รวมกันแล้วไม่เกิน 2 ปี (อิงตามมติ ครม. 25 ตุลาคม 2559)
    • ข. เมื่อครบวาระการจ้างงาน 2 ปี หากแรงงานประสงค์จะกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง จะต้องเข้าสู่กระบวนการตามระบบ MOU ที่ถูกต้อง
  2. บัตรสีชมพูหมดอายุ (ไม่ต่ออายุบัตร) เสนอให้ดำเนินการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยมีแนวทางดังนี้
    • ก. ให้แรงงานเข้าสู่ระบบการตรวจสัญชาติ ได้แก่ การขอ CI หรือทำหนังสือเดินทางที่สถานทูต (สำหรับผู้ที่มีบัตรประจำตัวประชาชนพม่า)
    • ข. ให้ มท. ดำเนินการเชื่อมต่อฐานข้อมูล เพื่อให้แรงงานเข้าระบบการทำ CI ได้ รวมถึงดำเนินการให้มีการตรวจลงตรา และอนุญาตให้ทำงานได้ถึงเดือนมีนาคม 2561
  3. กลุ่มที่ขาดการรายงานตัว 90 วัน มีหนังสือเดินทาง และใบอนุญาตทำงาน ให้ยกเว้นโทษ ให้ไปรายงานตัว และมีโทษปรับอัตราเดียวเท่ากัน
  4. หนังสือเดินทางหมดอายุ ติดต่อขอจัดทำหนังสือเดินทางใหม่จากสถานทูต โดยไทยควรเจรจากับประเทศต้นทางเพื่อเร่งรัดระยะเวลาการดำเนินการออกหนังสือเดินทาง

กลุ่มที่ไม่มีเอกสาร

  1. กรณีแรงงานที่เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อดำเนินการเข้าระบบ MOU
    • ก. เจรจากับประเทศต้นทางเพื่อลดเงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาให้สั้นลง รวมถึงเจรจาให้มีการ เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในประเทศต้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้าแรงงานโดยนายจ้างไทย
    • ข. การดำเนินการในฝั่งประเทศไทย ควรลดเงื่อนไข ขั้นตอน และระยะเวลาการดำเนินงานนำเข้าแรงงานโดยระบบ MOU ให้สั้นลง
    • ค. ควรมีเวทีรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อท้าทายในการจ้างแรงงานผ่าน MOU จากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
  2. กลุ่มที่เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อทำหนังสือเดินทาง แต่ไม่พร้อมทำ MOU และยังไม่ได้รับการตรวจลงตรา
    • ก. ให้เปิดศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในพื้นที่ชายแดน โดยให้แรงงานนำหนังสือเดินทางมารายงานตัวที่ศูนย์บริการฯ และนายจ้างต้องทำเอกสารการจ้างงานและสัญญาจ้างไปรอที่ชายแดนเพื่อยืนยันการจ้างแรงงาน โดยดำเนินการตรวจลงตรา และออกใบอนุญาตทำงานให้แล้วเสร็จ ณ ศูนย์บริการฯ
  3. กลุ่มที่ทำงานโดยผิดวัตถุประสงค์ของการตรวจลงตรา (เช่น วีซ่าท่องเที่ยว จึงไม่สามารถทำงานในประเทศไทยได้)
    • ก. เปิดให้แรงงานมารายงานตัวพร้อมนายจ้างที่ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จ เพื่อเปลี่ยนการตรวจลงตรา และขอใบอนุญาตทำงาน (ในรูปแบบเดียวกับที่เคยดำเนินการในกรณีแรงงานเวียดนาม)
  4. กลุ่มแรงงานที่ไม่มีเอกสารใดๆ ทั้งสิ้น
    • ก. เดินทางกลับประเทศต้นทางเพื่อทำเอกสาร และขออนุญาตทำงานตามระบบ MOU หรือ เปิดศูนย์จัดทำ CI ร่วมกันระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทาง

การออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อแก้ไขสถานการณ์ปัญหาในปัจจุบัน

  1. ออกมาตรการเพื่อเปิดช่องทางให้แรงงานฯ เดินทางกลับโดยมีกำหนดเวลา เพื่อลดปัญหาการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากแรงงานฯ
  2. ลดขั้นตอนการขออนุญาตทำงาน และการยื่นคำขอนำเข้าแรงงานในระบบ MOU ให้มีระยะเวลาสั้นลง

ทั้งนี้ เครือข่ายฯ เห็นว่าในระยะต่อไป รัฐบาลควรจัดทำร่าง พรก. การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อทบทวน ยกเลิก หรือแก้ไขกฎหมายบางมาตราที่ไม่นำมาสู่การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ทั้งนี้ รัฐบาลควรจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยจัดตั้งคณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยกรรมการจากทุกภาคส่วน ก่อนให้การพิจารณารับรองร่าง พรก.ฯ

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
———————————————————————-

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล [email protected]