Skip to main content
ข้อเรียกร้ององค์กรภาคประชาสังคมกรณีการให้สัตยาบันอนุญาสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศ

ข้อเรียกร้ององค์กรภาคประชาสังคมกรณีการให้สัตยาบันอนุญาสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 188 และมาตรการหลังการรับรองอนุสัญญาฯ ของประเทศไทย

ตามที่ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้ยื่นสัตยาบันอนุสัญญาองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศหรือไอแอลโอ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมง พ.ศ.2550 (ค.ศ.2007) ต่อ นายกาย ไรเดอร์ (Mr.Guy Ryder) ผู้อำนวยการใหญ่ไอแอลโอ ณ สำนักงานแรงงานระหว่างประเทศ ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา ถือได้เป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับประเทศไทยในการแสดงจุดยืนและประกาศแนวนโยบายในการที่จะให้ความสำคัญต่อการคุ้มครองแรงงานในกิจการประมงทะเลและเป็นการยกมาตรการคุ้มครองแรงงานประมงทะเลของไทยให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติขอแสดงความชื่นชมการดำเนินการของรัฐบาลไทยในครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม มาตรการหลังการให้สัตยาบันที่จะทำให้จุดมุ่งหมายของรัฐบาลไทยในครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างแท้จริงก็คือการปรับปรุงหรือจัดทำกฎหมายภายในประเทศในด้านการคุ้มครองแรงงานประมงให้สอดคล้องกับอนุสัญญาฉบับนี้ ที่ปัจจุบันกระทรวงแรงงานได้มีการจัดทำร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง และทางเครือข่ายฯ ยังมีข้อสังเกตุและข้อกังวลเกี่ยวกับการดำเนินการออกกฎหมายภายในประเทศเพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาดังนี้

  1. ประเด็นด้านประกันสังคม ซึ่งในอนุสัญญาฯ มาตรา 34 ระบุให้ “สมาชิกแต่ละประเทศต้องทำให้มั่นใจได้ว่า แรงงานประมงที่โดยปกติแล้วพำนักอยู่ในเขตอาณาของตน และผู้อยู่ในความอุปการะตามความหมายที่บัญญัติโดยกฎหมายภายในประเทศ เป็นผู้มีสิทธิในสิทธิประโยชน์จากการคุ้มครองด้านการประกันสังคม ภายใต้สภาพที่เป็นคุณไม่น้อยกว่าที่ใช้บังคับกับคนงานอื่นๆ รวมถึง บุคคลที่ได้รับการจ้างงาน ผู้ประกอบกิจการส่วนตัวผู้มีถิ่นพำนักโดยปกติในเขตอาณาของประเทศสมาชิก” ในขณะที่ร่างพรบ.การคุ้มครองแรงงานในงานประมง ได้ระบุประเด็นนี้ใน มาตรา 12 ว่า “ เจ้าของเรือต้องจัดให้แรงงานประมงได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพ และสวัสดิการในด้านต่าง ๆ ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานประกาศกําหนด โดยจะจัดให้มี ประกันที่คุ้มครองด้านสุขภาพและสวัสดิการดังกล่าว หรือวิธีอื่นใดที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประกาศกําหนด ก็ได้” การกำหนดในมาตรา 12 ของร่างพระราชบัญญัติยังมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับมาตรา 34 ของอนนุสัญญาฯ ที่พูดถึงเรื่องการได้รับสิทธิประโยชน์คุ้มครองด้านการประกันสังคม ภายใต้สภาพที่เป็นคุณไม่น้อยกว่าที่บังคับใช้กับคนงานคนอื่น ๆ ดังนั้น การพยายามระบุให้การคุ้มครองทางประกันสังคมเป็นเพียงเรื่องสุขภาพและสวัสดิการนั้น ไม่ได้สอดคล้องกับหลักการทั่วไปของการประกันสังคม ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม ของประเทศไทย ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการที่การออกกฎหมายภายในของประเทศไทยจะขัดกับหลักการตามอนุสัญญาในประเด็นนี้
  2. ประเด็นเรื่องการการเปิดโอกาสให้บุคคลอายุ 16 ปีขึ้นไป ฝึกงานในเรือประมงได้ ในอนุสัญญาฯ ได้ระบุถึงอายุขั้นต่ำของแรงงานในกิจการประมงจะต้องไม่ต่ำกว่า 16 ปี แต่หลักการสำคัญของอนุสัญญาในมาตรา 6 ข้อ 2 ระบุว่า “ไม่มีสิ่งใดในอนุสัญญาฉบับนี้ที่จะส่งผลต่อกฎหมาย คำตัดสิน หรือธรรมเนียมปฏิบัติ หรือข้อตกลงใด ๆ ระหว่างเจ้าของเรือประมงกับคนงานประมง ซึงให้เงื่อนไขที่เป็นประโยชน์มากกว่าที่บัญญัติไว้ในอนุสัญญา” ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้กำหนดอายุขั้นต่ำของแรงงานในกิจการประมงจะต้องไม่ต่ำกว่า 18 ปี โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กในการทำงานเป็นหลัก ดังนั้นการที่มีแนวทางจะกำหนดให้ผู้ที่อายุไม่ต่ำกว่า 16 ในกิจการประมง ย่อมถือว่าขัดแย้งกับหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ นโยบายและข้อกฎหมายอื่นๆที่รัฐบาลไทยได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นการใช้แรงงานเด็กไม่ว่าจะเป็นประกาศคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานในรูปแบบที่เลวร้ายโดยระบุให้งานประมงเป็นอันตรายต่อเด็ก อนุสัญญาไอแอลโอ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยแรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี
  3. ประเด็นเรื่องการจ่ายค่าจ้างผ่านบัญชีธนาคาร/ตู้เอทีเอ็ม ซึ่งเป็นมาตรการทางกฎหมายของประเทศไทยเพื่อป้องกันปัญหาการจ่ายค่าจ้างที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด ซึ่งทางผู้ประกอบการมองว่าการดำเนินการดังกล่าวเป็นภาระและยังไม่มีความพร้อม จึงได้มีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายให้สามารถจ่ายเป็นเงินสดและจ่ายค่าจ้างล่วงหน้าได้ ในกรณีนี้แม้ในอนุสัญญาฯ จะไม่ได้มีการกำหนดไว้ แต่หากพิจารณามาตรการของรัฐบาลไทยประกอบกับการให้สัตยาบันต่อไอแอลโอในพิธีสารแรงงานบังคับ ที่ 29 พบว่าเป็นประโยชน์ต่อตัวแรงงานประมงและสอดคล้องต่อพิธีสารฯฉบับดังกล่าว ดังนั้นการแก้ไขตามข้อเสนอของผู้ประกอบการในประเด็นดังกล่าวควรจะมีการพิจารณาอย่างจริงจังถึงผลกระทบในทุกด้าน รวมถึงมีมาตรการรองรับเพื่อป้องกันไม่ให้แรงงานประมงถูกละเมิดในเรื่องการจ่ายค่าจ้างตามกฎหมาย
  4. หลักการสำคัญที่ปรากฎในอนุสัญญาฯ คือการหลักการการปรึกษาหารือ (consultation) ซึ่งหมายถึงการได้มีการปรึกษาหารือในทุกส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะภาครัฐ นายจ้าง และคนงาน ซึ่งในร่างพรบ.การคุ้มครองแรงงานในงานประมง ไม่ได้ปรากฎในส่วนนี้อย่างชัดเจน ทั้งในรูปแบบของคณะกรรมการที่ควรบัญญัติไว้ในร่างพรบ.การคุ้มครองแรงงานในงานประมง หรือการมีกลไกในการปรึกษาหารืออื่นใด นอกจากนั้นแล้วในระยะยาวกลไกการปรึกษาหารือดังกล่าวจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนากระบวนการคุ้มครองแรงงานประมง เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง

จากประเด็นข้อสังเกตและข้อกังวลทั้ง สี่ข้อข้างต้นนั้น เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) จึงขอเสนอให้รัฐบาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน รวมทั้งทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองแรงงานในงานประมง รวมทั้งการแก้ไขกฎหมาย กฎกระทรวง ประกาศในกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง จะต้องคำนึงถึงหลักการและบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ และคำนึงถึงกลไกการปรึกษาหารือกันอย่างจริงจังในกระบวนการออกกฎหมายในทุกระดับ ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการสำคัญของอนุสัญญาฯ ที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบัน และเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองแรงงานประมงอย่างแท้จริง

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

----------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมลล์ [email protected]