สรุปความคืบหน้าทางนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ
มกราคม-มีนาคม 2563
1. นโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ
ในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย โดยเฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ผ่านการพิสูจน์สัญชาติที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นสุดช่วงปลายปี 2562 และ 31 มีนาคม 2563 โดยมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2563 ให้ขยายระยะเวลาให้แรงงานข้ามชาติ ๓ สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา) รวมทั้งผู้ติดตามซึ่งเป็นบุตร ซึ่งได้ผ่านการพิสูจน์สัญชาติและได้รับเอกสารประจำตัวเรียบร้อยแล้ว และใบอนุญาตทำงานและการอนุญาตให้อยู่ในประเทศยังไม่หมดอายุ อนุญาตให้อยู่ในประเทศไม่เกิน 2 ปี โดยประทับตราวีซ่าครั้งละไม่เกิน 1 ปี และอนุญาตให้ทำงานไม่เกิน 2 ปี โดยใบอนุญาตทำงานหมดอายุก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้อนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564 และใบอนุญาตทำงานหมดอายุตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้อนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยการดำเนินการได้กำหนดขั้นตอนให้นายจ้างทำงานยื่นบัญชีรายชื่อแรงงานข้ามชาติ (name list) ในระบบออนไลน์ ไปจ่ายค่าธรรมเนียมการต่อใบอนุญาตทำงาน และต่อวีซ่าที่เคาน์เตอร์เซอวิส ตรวจสุขภาพและซื้อประกันสุขภาพในโรงพยาบาลของรัฐยกเว้น แรงงานข้ามชาติที่เข้าประกันสังคมแล้วให้สามารถตรวจสถานพยาบาลเอกชนได้ หลังจากนั้นไปขอตรวจลงตราวีซ่าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง แล้วมาขออนุญาตทำงานผ่านระบบออนไลน์ แล้วไปขอทำบัตรประจำตัวคนที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรชมพู) ที่สำนักทะเบียนอำเภอหรือเขต ทั้งนี้หลายจังหวัดได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จขึ้นมา ซึ่งทำให้ขั้นตอนการขอตรวจลงตราวีซ่า การขออนุญาตทำงาน และการทำบัตรชมพูดำเนินการในศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ จากการดำเนินการจนถึงวันที่ 19 มีนาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติยืนแบบบัญชีรายชื่อทั้งหมด 1,202,709 คน ได้รับการตรวจลงตราวีซ่า (ตัวเลขวันที่ 17 มีนาคม 2563) จำนวน 735,714 คน และออกใบอนุญาตทำงานแล้ว 688,447 คน
อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้กระทรวงแรงงานประกาศยุติการศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จให้ไปดำเนินการในแต่ละหน่วยงานตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม 2563 ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว มีมติเห็นชอบมาตรการให้แรงงานข้ามชาติและผู้ติดตาม สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปได้จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้ต่อไปถึงวันที่ 30มิถุนายน 2563 โดยให้กระทรวงแรงงานออกประกาศกระทรวงแรงงานเพื่อผ่อนผันให้แรงงานที่การอนุญาตทำงานสิ้นสุด สามารถทำงานได้ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ไปพลางก่อน และใช้บัญชีรายชื่อ (Name list) ที่กรมการจัดหางานออกให้แทนใบอนุญาตทำงานไปพลางก่อน และกระทรวงมหาดไทยออกประกาศกระทรวงมหาดไทย เพื่อผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวที่การอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรสิ้นสุด อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปจนได้ถึง 30 มิถุนายน 2563 และยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Over Stay)
ในวันที่ 24 มีนาคม 2563 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงแรงงานเสนอการผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานได้ยื่นบัญชีรายชื่อความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 และไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตาม โดยมีมาตรการให้ขยายเวลาดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานและวีซ่าของแรงงานข้ามชาติกลุ่มพิสูจน์สัญชาติออกไปถึง 30 มิถุนายน 2563 โดยแรงงานข้ามชาติจะต้องได้รับการยื่นบัญชีรายชื่อภายใน 31 มีนาคมให้เรียบร้อยก่อน และในระหว่างรอการดำเนินการให้สามารถอยู่อาศัยและทำงานได้เป็นการชั่วคราว โดยยกเว้นโทษในเรื่องการอยู่เกินกำหนดวีซ่า
2. การนำเข้าแรงงานตามระบบ MoU
ที่ผ่านมาระบบการนำเข้า MoU มีขั้นตอนที่ยุ่งยากทั้งในประเทศไทยและประเทศต้นทาง ทำให้เกิดความล่าช้าและขั้นตอนที่ยุ่งยาก เช่น การดำเนินการในประเทศไทยเมื่อนายจ้างได้รับบัญชีรายชื่อแรงงานที่ต้องการนำเข้าจากประเทศต้นทาง นายจ้างจะต้องมาขออนุญาตทำงานแทนแรงงานข้ามชาติที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว สำนักงานจัดหางาน จะส่งเรื่องมายังกรมการจัดหางาน เพื่อทำหนังสือให้ดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าไปยังสถานทูตประเทศต้นทางในประเทศไทย สถานทูตไทยในประเทศต้นทาง และด่านตรวจคนเข้าเมืองที่แรงงานจะเดินทางเข้ามา ซึ่งใช้ระยะเวลาไปมากพอสมควรในการนำเข้าแรงงาน หรือหากจะเร่งดำเนินการให้เร็วมากขึ้นนายจ้างหรือบริษัทนำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานกับนายจ้างจะต้องรับเอกสารจากสำนักงานจัดหางานมาดำเนินการส่งต่อให้กรมการจัดหางานด้วยตนเอง ซึ่งจะกลายเป็นภาระในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยและประเทศพม่าได้มีความพยายามที่จะลดขั้นตอนการดำเนินการนำเข้า MoU ลง โดยมีการปรับปรุงการดำเนินการนำเข้า MoU ในสามประเด็นหลัก ๆ คือ
- เพิ่มศูนย์แรกรับเข้าทำงานและสิ้นสุดการจ้างขึ้นอีกหนึ่งแห่งที่ จังหวัดระนอง โดยในช่วงแรกทำหน้าที่เป็นศูนย์ฯ ที่ดำเนินการเฉพาะแรงงานข้ามชาติกลุ่มประมงทะเลเท่านั้น แต่ต่อมาเมื่อต้นปี 2563 ก็ได้มีการขยายให้ครอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่นำเข้าตามระบบ MoU ทุกกลุ่ม
- กรมการจัดหางานได้แก้ไขขั้นตอนในการยื่นขออนุญาตทำงานแทนนายจ้าง และการออกหนังสือแจ้งการขอให้ดำเนินการตรวจลงตราวีซ่าแก่แรงงานนำเข้าตามระบบ MoU ให้ดำเนินการโดยสำนักงานจัดหางานจังหวัด หรือสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ ทำให้ลดขั้นตอนในการดำเนินการของนายจ้างลง
- ประเทศพม่า ได้เพิ่มศูนย์ในการดำเนินการจัดทำสัญญาระหว่างนายจ้างและแรงงานข้ามชาติในกลุ่มที่เคยทำงานกับนายจ้างอยู่ก่อนแล้วสามารถไปดำเนินการจัดทำสัญญาต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ในศูนย์การดำเนินการด้านแรงงานในพื้นที่เมียวดี และเกาะสอง ซึ่งเดิมจะต้องดำเนินการที่ย่างกุ้ง ซึ่งเป็นการช่วยลดระยะเวลาและการเดินทางของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติลง มีความสะดวกในการดำเนินการมากขึ้น
อย่างไรก็ตามจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประเทศพม่า ระงับการจัดส่งแรงงานข้ามชาติไปทำงานต่างประเทศเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันประเทศไทยก็ได้มีการระงับการอนุมัติการนำเข้าแรงงานข้ามชาติตามระบบ MoU ในทุกขั้นตอนไปก่อนจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
3. งานห้ามคนต่างด้าวทำ
ตามพรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้มีการกำหนดให้รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานออกประกาศงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำได้ โดยมาตรา 7 ของพรก.ระบุไว้ดังนี้
“มาตรา 7 รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการอาจประกาศกำหนดให้งานใดเป็นงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำก็ได้ โดยจะห้ามเด็ดขาดหรือห้ามโดยมีเงื่อนไขอย่างใดก็ได้
การกำหนดตามวรรคหนึ่ง ให้คำนึงถึงความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย การส่งเสริมภูมิปัญญาและเอกลักษณ์ไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ รวมตลอดทั้งความผูกพันหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีอยู่ในลักษณะถ้อยทีถ้อยปฏิบัติประกอบด้วย”
ซึ่งงานห้ามคนต่างด้าวจะใช้กับแรงงานข้ามชาติที่ขออนุญาตทำงานเฉพาะในกลุ่มที่เข้าเมืองถูกกฎหมายทั่วไป ตามมาตร 59 ของพรก.ฉบับนี้ ซึ่งรวมถึงแรงงานข้ามชาติที่นำเข้า MoU หรือแรงงานข้ามชาติที่ปรับสถานะเป็นแรงงาน MoU เป็นกรณีพิเศษด้วย ในปัจจุบันยังไม่มีประกาศกระทรวงแรงงานเรื่องงานห้ามคนต่างด้าวทำออกมา จึงยังใช้พระราชกฤษฎีกากำหนดงานในอาชีพและวิชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำพ.ศ. 2522 ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำงานของแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันค่อนข้างมาก โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติในกิจการก่อสร้าง และงานร้านขายของ ซึ่งงานช่างก่อสร้าง และงานขายของหน้าร้านยังเป็นงานห้ามคนต่างด้าวทำตามพระราชกฤษีกาฉบับนี้อยู่
ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้มีมติเห็นชอบต่อร่างประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดงานห้ามคนต่างด้าวทำ โดยได้กำหนดให้มีงานที่ห้ามคนต่างด้าวทำ เป็น 4 บัญชี ได้แก่
บัญชีที่ 1 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยเด็ดขาด จำนวน 27 งาน ได้แก่ งานแกะสลักไม้ งานขับขี่ยานยนต์ งานขายทอดตลาด งานเจียระไนเพชร/พลอย งานเสริมสวย งานทอผ้าด้วยมือ งานทอเสื่อ ทำกระดาษสาด้วยมือ ทำเครื่องเขิน ทำเครื่องดนตรีไทย ทำเครื่องถม ทำเครื่องทอง/เงิน/นาก ทำเครื่องลงหิน ทำตุ๊กตาไทย ทำบาตร ทำผ้าไหมด้วยมือ ทำพระพุทธรูป ทำร่ม งานนายหน้า/ตัวแทน งานนวดไทย งานมวนบุหรี่ งานมัคคุเทศก์ งานเร่ขายสินค้า งานเรียงอักษร งานสาวบิดเกลียวไหม งานเลขานุการ และบริการทางกฎหมาย
บัญชีที่ 2 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานได้ตามข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพันธกรณีที่ประเทศไทยมีความผูกพันภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย (MRAs) จำนวน 3 งาน ซึ่งต้องเป็นคนต่างด้าวของประเทศที่มีข้อตกลงกับประเทศไทยเท่านั้น จึงจะสามารถทำ 3 อาชีพนี้ได้ ได้แก่ วิชาชีพบัญชี วิชาชีพวิศวกรรม วิชาชีพสถาปัตยกรรม
บัญชี 3 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานฝีมือหรือกึ่งฝีมือนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้าง จำนวน 8 งาน ได้แก่ งานกสิกรรม งานทำที่นอน งานทำรองเท้า งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย งานก่อสร้างอื่น ๆ งานทำมีด งานทำหมวด งานปั้นดินเผา
บัญชีที่ 4 งานที่ห้ามคนต่างด้าวทำโดยมีเงื่อนไขให้คนต่างด้าวทำงานนั้นได้ก็แต่เฉพาะงานที่มีนายจ้างและได้รับอนุญาตให้เข้ามาในราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองภายใต้บันทึกข้อตกลงหรือบันทึกความเข้าใจที่รัฐบาลไทยทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ จำนวน 2 งาน ได้แก่ งานกรรมกร และงานขายของหน้าร้าน โดยเป็นแรงงานที่ไทยมี MOU ด้วยเท่านั้น ซึ่งปัจจุบันไทยได้ทำ MoU กับ 4 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม
โดยขั้นตอนต่อไปกรมการจัดหางานเตรียมเสนอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ลงนามในประกาศกระทรวงแรงงาน โดยประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน
4. การคุ้มครองแรงงานประมง
หลังจากที่ประเทศไทยได้ออกพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของแรงงานประมงและป้องกันการบังคับใช้แรงงานในงานประมงครบถ้วนสมบูรณ์และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมีเนื้อหาที่มุ่งเน้นไปด้านการคุ้มครองแรงงานและความปลอดภัยของแรงงานในงานประมง ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ความพร้อมทางสุขภาพก่อนทำงาน การคุ้มครองเรื่องการจัดหางาน การมีสัญญาจ้าง และเรื่องหลักประกันทางสังคมและหลักประกันทางสุขภาพของแรงงานในกิจการประมง
ในวันที่ 7 มกราคม 2563 ก็ได้มีการประกาศใช้ ประกาศกระทรวงแรงงาน เรื่อง การจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการแก่แรงงานประมง โดยกำหนดให้เจ้าของเรือต้องจัดสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพและสวัสดิการให้แก่แรงงานประมง ดังนี้
- การคุ้มครองด้านสุขภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน โดยเจ้าของเรือต้องจัดให้มีการคุ้มครองด้านสุขภาพตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว
- เงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ให้เจ้าของเรือจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วย หรือประสบอันตรายให้แก่แรงงานประมง ในอัตราร้อยละ 50ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนด สำหรับการที่แรงงานประมงต้องหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามคำสั่งของแพทย์ ในระยะเวลา 180 วัน/ปี ระยะเวลาได้รับเงินทดแทนการขาดรายได้ ตั้งแต่วันแรกที่ต้องหยุดงานตามคำสั่งของแพทย์จนถึงวันสุดท้ายที่แพทย์กำหนดให้หยุดงาน หรือจนถึงวันสุดท้ายที่หยุดงานในกรณีแรงงานประมงกลับเข้าทำงานก่อนครบกำหนดเวลาตามคำสั่งของแพทย์แต่ไม่เกินระยะเวลาที่กำหนด
ในกรณีที่แรงงานประมงมีสิทธิได้รับค่าจ้างจากเจ้าของเรือในระหว่างหยุดงานเพื่อการรักษาพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน แรงงานประมงจะไม่มีสิทธิได้รับเงินทดแทน จนกว่าสิทธิได้รับเงินค่าจ้างการรับค่าจ้างนั้นจะสิ้นสุดลงจึงมีสิทธิได้รับเงินทดแทนดังกล่าวเท่าระยะเวลาที่คงเหลือ - เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงานให้เจ้าของเรือจ่ายเงินทดแทนการขาดรายได้ในอัตราร้อยละ 30 ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดคูณด้วย 30 วัน เป็นระยะเวลา 180 เดือน
- เงินทดแทนกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ให้เจ้าของเรือจ่ายทดแทนดังนี้
- เงินค่าทำศพ เป็นจำนวน 40,000 บาท โดยจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งมีหลักฐานแสดงว่า เป็นผู้จัดการศพแรงงานประมง
- เงินสงเคราะห์กรณีแรงงานประมงถึงแก่ความตาย ในอัตราร้อยละ 50 ของอัตราสูงสุดของค่าจ้างขั้นต่ำรายวันตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานกำหนดคูณด้วย 30 วัน เป็นระยะเวลา 12 เดือน โดยให้จ่ายแก่บุคคลซึ่งแรงงานประมงทำหนังสือระบุให้เป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์ แต่ถ้าแรงงานประมงมิได้มีหนังสือระบุไว้ ก็ให้นำมาเฉลี่ยจ่ายให้ทายาทตามกฎหมายในจำนวนที่เท่ากัน
โดยประกาศได้ระบุว่า กรณีเงินทดแทนการขาดรายได้จากการเจ็บป่วยหรือประสบอันตรายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เงินทดแทนกรณีทุพพลภาพอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เงินทดแทนกรณีตายอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน เจ้าของเรืออาจจะซื้อประกันภัยเพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้านสวัสดิการแก่แรงงานประมงแทน โดยจะต้องไม่น้อยกว่าที่ประกาศกำหนด
ในกรณีสิทธิประโยชน์ทดแทนตามประกาศนี้ เจ้าของเรือและแรงงานประมงอาจตกลงกัน ดำเนินการเข้าสู่ระบบประกันสังคม เพื่อรับสิทธิประโยชน์เหล่านี้แทนก็ได้
5. การผ่อนผันการจ้างแรงงานประมง ตาม ม.83 ของพรก.การประมง
จากการที่สมาคมประมงแห่งประเทศไทยได้มีข้อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมง ซึ่งสมาคมประมงได้ชี้แจงถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวที่ทำงานในเรือประมงทั่วประเทศประมาณ 5 หมื่นคน ทำให้ไม่สามารถออกเรือได้ และทำข้อเสนอต่อรัฐบาลให้มีการเปิดการจดทะเบียนแรงงานประมงตามมาตรา 83
เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2562 คณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ได้พิจารณาแก้ไขปัญหาแรงงานขาดแคลนในภาคประมง โดยใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 รวมทั้งกรอบการดำเนินการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอโดยประเด็นที่พิจารณา มีดังนี้ 1.กรอบการดำเนินการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงาน โดยใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 จำนวน 2 รอบ โดยรอบที่ 1 มีระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่มกราคม 2563 – มีนาคม 2563 และ เว้นอีก 3 เดือน รอบที่ 2 เริ่มตั้งแต่กรกฎาคม 2563 – กันยายน 2563 2. ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางแก้ไขปัญหา การขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเลโดย ใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 คือ ต้องเป็นคนต่างด้าวที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางซึ่งเอกสารดังกล่าวยังไม่หมดอายุ
ซึ่งมติของคณะกรรมการนโยบาย มีเงื่อนไขที่แตกต่างจากข้อเสนอของกรมประมงที่เสนอเข้ามา ในเรื่องของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่จะขออนุญาตทำงาน โดยกรมประมงระบุว่าจะต้องเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย ได้แก่คนต่างด้าวที่มีหนังสือผ่านแดน หรือคนต่างด้าวที่ได้รับการตรวจลงตราว่าที่ยังไม่สิ้นสุด ในประเด็นนี้คณะกรรมการนโยบายฯ เห็นว่าไม่ควรให้แรงงานข้ามชาติที่ใช้หนังสือผ่านแดนมาขออนุญาตทำงานตาม ม.83 ได้ ด้วยเงื่อนไขเรื่องของพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้เดินทาง และสามารถขออนุญาตทำงานได้ตาม ม.64 ของพรก.การบริหารการทำงานของคนต่างด้าวอยู่แล้ว
5 มีนาคม 2563 คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ เห็นชอบร่างประกาศ จำนวน 2 ฉบับ ดังนี้ 1) ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง พ.ศ. .... 2) ร่างประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การยกเว้นข้อห้ามมิให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะ สำหรับคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถยื่นคำขอรับหนังสือคนประจำเรือ เพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล พ.ศ. .... เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคประมงทะเล โดยใช้มาตรา 83 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ซึ่งหลังจากนี้จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อใช้อำนาจตาม มาตรา 83 ของพรก.การประมงต่อไป