เผยแพร่วันที่ 23 ธันวาคม 2563
แถลงการณ์
เรียกร้องรัฐบาลไทยทบทวนมาตรการการจัดการแรงงานข้ามชาติ และยุติการจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมือง และกฎหมายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนไทยและคนต่างชาติ ช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ตามที่เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 พล.ต.ท.สมพงษ์ ชิงดวง ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองได้ให้แถลงข่าวถึงกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองวางแผนดำเนินการร่วมกันเพื่อกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นการสร้างความหวาดกลัวทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ดังเห็นได้จากกรณีที่บริษัทแห่งหนึ่งนำแรงงานไม่มีเอกสารไปทิ้งข้ามจังหวัด จนกลายเป็นกระแสความหวาดกลัวว่าจะมีการแพร่กระจายโรคโควิด-19 มากขึ้น
หากย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนกระทั่งปัจจุบันแรงงานข้ามชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 เกิดขึ้นจากการกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงและสถานการณ์ ไม่ชัดเจนและขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติ การต่อใบอนุญาตทำงานและวีซ่าในช่วงที่มีการปิดพรมแดน แม้ว่าหลังจากที่การระบาดระลอกแรกลดลงและสถานประกอบการต่างๆมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น แต่รัฐบาลก็ไม่ได้มีนโยบายส่งเสริมให้แรงงานข้ามชาติกลับเข้าสู่ระบบแต่อย่างใดเช่น ไม่ปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบเกี่ยวกับการทำงานที่อำนวยให้แรงงานข้ามชาติสามารถถ่ายเทจากกิจการที่ลดแรงงาน ไปสู่กิจการที่ต้องการแรงงานโดยการเปลี่ยนนายจ้างได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือให้นายจ้างสามารถนำเข้าแรงงาน โดยเฉพาะที่กลับไปประเทศต้นทางในช่วงแรกที่โควิดระบาดกลับเข้ามาทำงานโดยผ่านมาตรการคัดกรองโรคได้ ส่งผลให้มีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ถูกเลิกจ้างจากกิจการที่ปิดตัวลงหรือลดจำนวนแรงงาน ซึ่งจากตัวเลขแรงงานข้ามชาติเปรียบเทียบระหว่างเดือนสิงหาคม 2562 กับเดือนตุลาคม 2563 มีแรงงานข้ามชาติหายไปจากระบบถึง 592,450 คน ในขณะเดียวกันปัญหาสภาพเศรษฐกิจช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ในประเทศต้นทางก็เป็นเสมือนปัจจัยผลักให้แรงงานข้ามชาติตัดสินใจเดินทางเข้ามาทำงานในประเทศไทยในรูปแบบต่างๆ ความต้องการแรงงานในประเทศของภาคธุรกิจและการดิ้นรนเพื่อแสวงหางานของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลไม่มีนโยบายที่แก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพที่จะให้แรงงานข้ามชาติอยู่หรือเข้ามาทำงานได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ประกอบกับการทุจริตของเจ้าหน้าที่บางคน ส่งผลให้มีขบวนการลักลอบพาแรงงานเข้าประเทศที่ยากแก่การป้องกันและปราบปรามได้
เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ระลอกใหม่ แทนที่รัฐบาลจะใช้มาตรการด้านสาธารณะสุขนำในการแก้ปัญหา เพื่อให้แรงงานข้ามชาติทุกคน ไม่ว่าจะทำงานโดยถูกกฎหมายหรือไม่ก็ตามสามารถเข้าถึงการป้องกัน ตราวจและรักษา ซึ่งคนเหล่านั้น รวมทั้งนายจ้าง จะต้องไว้วางใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ แต่ข่าวสารและสัญญาณที่นายกรัฐมนตรีและฝ่ายความมั่นคงส่งออกไปนั้น ได้ทำลายบรรยากาศของความไว้วางใจและความร่วมมือในการป้องกันรักษาโรคโควิด-19 ลงอย่างน่าเสียดาย
การกวาดล้างแรงงานข้ามชาติที่อาศัยโดยไม่ได้รับอนุญาตที่รัฐบาลไทยใช้เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง กลับกันการประกาศกวาดล้างแรงงานส่งผลให้ผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติทั้งที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างถูกต้องและโดยที่ไม่ได้รับอนุญาตเกิดความหวาดกลัวที่จะถูกจับกุมดำเนินคดี ผู้ประกอบการและแรงงานข้ามชาติจึงใช้วิธีการหลบหนี ปกปิดตัวตนเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ถูกดำเนินคดี และเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการตรวจโรค ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 เป็นวงกว้าง ซึ่งวิธีการจัดการปราบปราบและดำเนินคดีต่อแรงงานข้ามชาติ ผู้อพยพย้ายถิ่น มีข้อค้นพบว่า หลายประเทศในอาเซียนที่มีพรมแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้านก็มีวิธีการดำเนินการบังคับใช้กฎหมายคนเข้าเมืองต่อคนที่มีปัญหาเรื่องเอกสารการเข้าเมืองและการทำงาน เช่น แรงงานไทยที่ไปทำงานยังประเทศเพื่อนบ้าน ก็ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองและการทำงานของคนต่างด้าว รวมทั้งถูกรัฐไทยดำเนินคดีเมื่อกลับเข้ามายังประเทศไทยด้วยเช่นกัน ดังนั้นการแพร่ระบาดขยายวงขึ้นใหม่อีกครั้ง สะท้อนความล้มเหลวของการป้องกันในเชิงนโยบายและการคุ้มครองผู้ย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย ทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆในอาเซียน
ในปี 2563 การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 2020 สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ได้ยกให้วิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุขนี้เป็นความท้าทายครั้งใหญ่หลวงที่สุดที่เราต้องเผชิญนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง ดังนั้น เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาในฐานะองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิแรงงานข้ามชาติ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการดังต่อไปนี้
- ขอให้รัฐบาลประกาศให้ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีนโยบายในการตรวจจับ กวาดล้างแรงงานและนายจ้างที่ผิดกฎหมาย แต่ต้องการความร่วมมือจากแรงงานทุกคนในการตรวจ คัดกรองและรักษาเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครองและเจ้าหน้าที่แรงงานยุติการกวาดล้างและดำเนินคดีอาญาต่อแรงงานข้ามชาติและนายจ้างที่ผิดกฎหมายทุกกรณีในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 โดยทันที โดยให้เจ้าหน้าที่เหล่านั้นปฏิบัติงานภายใต้การกำกับดูแลของเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข
- ขอให้รัฐบาลดำเนินการดึงแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสถานการณ์ทำงานที่ถูกกฎหมายที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยมีมาตรการการอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว ระหว่างการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคโควิดและจนกระทั่งจะมีการเปิดชายแดนให้มีการดำเนินการนำเข้าอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้
- ขอให้รัฐบาลสร้างความไว้วางใจให้กับแรงงานข้ามชาติและสนับสนุนการทำงานด้านสาธารณะสุขเพื่อให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการตรวจและรักษาโรคโควิด-19 ได้โดยสะดวกเช่นเดียวกับชาวไทย โดยไม่คำนึงถึงสถานะของแรงงานข้ามชาติ
- ขอให้รัฐบาลจัดเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือดูแลในด้านชีวิตความเป็นอยู่ ให้คำแนะนำในด้านสาธารณะสุขแก่คนไทยและแรงงานข้ามชาติในพื้นที่เสียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้บทบาทของเจ้าหน้าที่ด้านสังคมสงเคราะห์และสาธารณะสุขเป็นสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นทำหน้าที่ในการช่วยเหลือสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว
- รัฐบาลจะต้องไม่ส่งเสริมกระทั่งต้องขจัดกระแสของการตั้งรังเกียจแรงงานข้ามชาติ ซึ่งถือเป็นการเลือกปฏิบัติทางด้านเชื้อชาติที่กำลังมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้เพราะหากไม่ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าว อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ไม่เป็นผลดีกับทุกฝ่าย
- ขอให้รัฐบาลนำเสนอการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับการจ้างแรงงานข้ามชาติหารือกับประเทศต้นทาง และนำเข้าสู่การพิจารณาของชาติอาเซียนโดยด่วนที่สุด เพื่อร่วมมือกันแก้ปัญหาการแพร่ระบาดร่วมกัน
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ โทรศัพท์ 089-7887138 email: [email protected]
นายปภพ เสียมหาญ รักษาการผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา โทร 065-9042329 email: [email protected]
Attachment | Size |
---|---|
23.12.2020 Press statement Thai government urged to review migrant worker management measures and stop prosecuting both_0.pdf (80.73 KB) | 80.73 KB |