Skip to main content

31 มีนาคม 2564

แถลงการณ์ด่วน

เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการดำเนินคดี และผลักดันกลับผู้หนีภัยจากการสู้รบ

ช่วงสถานการณ์ความไม่สงบจากประกาศรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

ตามที่กองทัพทหารเมียนมา นำโดยพลเอกอาวุโส มิน ออง หล่าย ได้ประกาศรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพรรค NLD ที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ประชาชนทั่วประเทศเมียนมา ร่วมชุมนุมประท้วงไม่เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของกองทัพ คณะผู้นำรัฐประหารดำเนินการใช้อำนาจในการปราบปรามและสลายการชุมนุม เป็นเหตุให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตไปแล้วไม่น้อยกว่า กว่า 500 ราย ผู้บาดเจ็บเป็นพลเรือน และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐเอง โดยเฉพาะกลุ่มงานด้านสาธารณสุข รวมทั้งสถานที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ถูกทำลายลง

ล่าสุดวันที่ 27 มีนาคม 2564 ฝ่ายทหารของกองทัพเมียนมาได้ส่งเครื่องบินยิงจรวด ในรัฐกะเหรี่ยง ถล่มพื้นที่บ้านเรือนประชาชน และสถานที่ราชการรวมถึงโรงเรียน ส่งผลให้พลเรือนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต พลเรือนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เป้าหมายการปราบปรามมีความหวาดกลัวต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต จึงได้อพยพหลบหนีเข้ามายังพื้นที่ชายแดนจังหวัดแม่ฮ่องสอนของประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 3,000 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก แต่จากภาพนิ่งและวีดีโอจากสื่อมวลชนและสื่อโซเชียลมีเดียระบุว่าหน่วยงานความมั่นคงของฝั่งไทยได้ตัดสินใจผลักดันพลเรือนผู้หนีภัยดังกล่าวกลับไปยังฝั่งประเทศเมียนมา แต่พลเรือนจำนวนมากยังนอนอยู่บริเวณแม่น้ำสาละวินเนื่องจากกลัวการภัยการประหัติประหาร

นอกจากนี้ยังมีผู้บาดเจ็บ หรือผู้ป่วยทั่วไปเข้าไม่ถึงการรักษาเป็นกรณีเร่งด่วน รวมทั้งการถูกจับตามองของเจ้าหน้าที่ฝ่ายผู้นำทหาร ทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบจากการปราบปรามได้พยายามหนีข้ามแดนมายังฝั่งประเทศไทย เพื่อขอรับการช่วยเหลือการรักษาตามหลักมนุษยธรรม เช่น กรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดระนอง

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและภาคีสมาชิกในฐานะสมาชิกและประชาชนในประชาคมอาเซียน ขอประณามเหตุรุนแรงจากการใช้กำลังและอาวุธในการสลายการชุมนุมโดยสันติ และขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วน ดังนี้

 

            1. ขอให้รัฐไทยระงับการใช้มาตรการส่งกลับผู้หนีภัยจากสถานการณ์การปราบปรามอย่างรุนแรง เปิดโอกาสและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่จากสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งองค์การสหประชาชาติ (UNHCR) หรือหน่วยงานด้านมนุษยธรรมให้การช่วยเหลือผู้หนีภัยในฐานะที่ผู้ที่อพยพเนื่องจากความหวาดกลัวการประหัตประหาร อย่างเป็นทางการ

            2. ขอให้รัฐไทยทบทวนการปฏิบัติตามหลักการไม่ผลักดัน (Non-Refoulement) ต่อผู้ที่เดินทางเข้าสู่ดินแดนของรัฐอื่นเนื่องจากความหวาดกลัวต่อการถูกประหัตประหาร ตามอนุสัญญาดังต่อไปนี้

- อนุสัญญาต่อต้านการทรมาน การปฏิบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี ค.ศ. 1984 มาตรา 3(1) ที่กล่าวไว้ว่า ไม่มีรัฐภาคีใดจะขับไล่ส่งกลับ (ผลักดันกลับ) หรือส่งมอบตัวบุคคลไปยังรัฐอื่นที่ซึ่งมีมูลเหตุเพียงพอจะเชื่อได้ว่าเขาอาจตกอยู่ในอันตรายจากการทรมาน ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีอนุสัญญาฉบับนี้มาตั้งแต่ปี 2550

            - อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 (Refugee Convention 1951) มาตรา 33 ที่กล่าวไว้ว่า รัฐภาคีผู้ทำสัญญาจะไม่ขับไล่หรือส่งกลับ (ผลักดัน) ผู้ลี้ภัยไม่ว่าจะโดยลักษณะใดๆ ไปยังชายเขตแห่งดินแดน ซึ่ง ณ ที่นั้นชีวิตหรืออิสรภาพของผู้ลี้ภัยอาจได้รับการคุกคามด้วยสาเหตุทางเชื้อชาติ ศาสนา สัญชาติ สมาชิกภาพของกลุ่มทางสังคมใดๆ หรือเพราะความเห็นทางการเมือง

            3. ขอให้รัฐไทยยุติการดำเนินคดีอาญา รวมทั้งพระราชบัญญัติคนเข้าเมืองต่อบุคคลหรือประชาชนชาวเมียนมาที่รวมตัวกันร้องขอความช่วยเหลือให้มีการยุติธรรมการปราบปรามความรุนแรงในประเทศเมียนมา ทั้งต่อสำนักงานขององค์การสหประชาชาติที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย

4. มาตรการในการให้การคุ้มครองดูแลกลุ่มผู้แสวงหาการคุ้มครองเนื่องจากการถูกคุกคามปราบปรามเข้ามายังประเทศไทย โดยผ่อนผันมาตรการดำเนินการตามกฎหมายคนเข้าเมืองระงับการดำเนินการส่งกลับ และผ่อนผันให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองตามหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม และพิจารณาการกำหนดกลไกในการคัดกรองและรับรองสถานะเป็นผู้ได้รับการคุ้มครองในประเทศไทย ทั้งนี้ในกรณีผู้แสวงหาการคุ้มครองที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทย รัฐบาลควรพิจารณาการใช้มาตรา 54 วรรค 2 และวรรค 3 ตามพรบ.คนเข้าเมือง มาใช้ในการระงับการส่งกลับและการให้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองในเบื้องต้น ในระยะต่อไป

รัฐบาลควรพิจารณาการกลไกการคัดกรองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักรและไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ โดยใช้ ม.17 ของพรบ.คนเข้าเมืองเพื่อผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทยเป็นการเฉพาะจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกลไกในการจัดการที่เป็นระบบและเคารพในหลักสิทธิมนุษยชนต่อไป

5.ขอให้รัฐบาลไทยดำเนินการหารือกับประเทศต้นทางและประเทศกลุ่มอาเซียนอย่างเร่งด่วนเพื่อหาทางออกร่วมกันเพื่อเจรจาให้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดแห่งกองทัพเมียนมา ยุติการใช้กำลังและอาวุธในการปราบปรามประชาชนผู้ชุมนุมประท้วง และเคารพต่อกฎสหประชาชาติ (1945) ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (1948) หลักการพื้นฐานว่าด้วยการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่รับรองโดยสหประชาชาติ ทั้งนี้นอกจากการคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน มนุษยธรรม ยังหมายรวมถึงความมั่นคง และความปลอดภัยของประชากรในประชาคมอาเซียน ที่มุ่งเน้นการรวมตัวของอาเซียนเพื่อสร้างความมั่นใจ เสถียรภาพ และสันติภาพ ในภูมิภาคเพื่อให้ประชาชนในอาเซียนอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข และปราศจากภัยคุกคามด้านการทหาร  

 

 

ด้วยความเคารพต่อหลักการสิทธิมนุษยชน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

----------------------------------------------------------------------

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ [email protected]

Attach files
Attachment Size
แถลงการณ์ 94.25 KB