Skip to main content

รายงาน

สถานการณ์แรงงานข้ามชาติประจำเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม 2564

ข้อสรุป:

เนื่องจากสถานการณ์โควิดในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้นจนช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือนกรกฎาคมตัวเลขผู้ติดเชื้อรายวันเข้าสู่หลักหมื่น ทำให้พบแรงงานข้ามชาติติดโควิดกันมาก และพบผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ที่สำคัญคือการเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็เป็นไปอย่างยากลำบากมากกว่าเดิมซึ่งได้รับผลกระทบทั้งบุคคลที่มีและไม่สัญชาติไทยจึงเกิดนโยบายที่นับเป็นข้อผิดพลาดที่สุดอันหนึ่งของหน่วยงานรัฐ นั่นคือการที่กรมการจัดหางานประกาศยกเลิกการตรวจโควิดเชิงรุกในแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดในช่วงเดือนกรกฎาคม ซึ่งอีกด้านหนึ่งนโยบายนี้ก็สะท้อนความล้มเหลวในการบูรณาการการทำงานของระบบราชการเช่นกัน เนื่องจากการยกเลิกนี้มีการอ้างอิงถึงอำนาจของกรุงเทพมหานครในการควบคุมโรค

ในบางจังหวัด แรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มหลักที่โดนจำกัดการเดินทาง มีการประกาศเคอร์ฟิวช่วงเวลา 20.00-04.00 เฉพาะกลุ่มแรงงานข้ามชาติในจังหวัดตากและชุมพร โดยคนไทยสามารถเดินทางได้ตามปกติ ในบางจังหวัดมีประกาศห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้าออกจังหวัด

 ส่วนในการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติระดับประเทศ มีความคืบหน้าในการพยายามนำแรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบ (Regularisation) ทั้งนี้มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 ได้ผ่อนผันให้แรงงานตาม มติ ครม.เดิม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มมติครม. 20 สิงหาคม 2562 กลุ่มมติครม. 4 สิงหาคม 2563 และมติครม. 10 พฤศจิกายน 2563 และ กลุ่มที่ใบอนุญาตสิ้นสุดลงตามเงื่อนไขของกฎหมาย สามารถต่ออายุและมีการขยายเวลาในการขอใบอนุญาต

ความต้องการแรงงานของภาคเอกชนยังมีพุ่งสูงโดยประมาณกันว่ามากกว่า 500,000 คน ในขณะที่การลักลอบข้ามแดนยังคงเห็นเป็นประจำโดยเฉพาะแรงงานเมียนมาที่ต้องการข้ามมาทำงานในไทย แรงงานเมียนมาจากมาเลเซียที่ต้องการกลับเมียนมา และแรงงานไทยที่ต้องการกลับจากเมียนมามาไทย ในขณะที่ทางการเมียนมาตกลงกับทางการไทยในการรับคนเมียนมากลับอีกครั้งในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม โดยเริ่มปฏิบัติจริงในเดือนสิงหาคม

  1. การจัดการโควิดในแรงงานข้ามชาติ

1.1 สถานการณ์ผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต

จากสถานการณ์โควิดในประเทศไทยที่ร้ายแรง ทำให้แรงงานข้ามชาติติดโควิดและเสียชีวิตมากขึ้น ข้อมูลของผู้ติดเชื้อแยกแยะตามสัญชาติเท่าที่เข้าถึงได้ในฐานข้อมูลเปิดของรัฐบาล พบว่าตั้งแต่ 1 เมษายน – 3 กันยายน 2564 เป็นชาวเมียนมา 84,437 คน กัมพูชา 22,236 คน และลาว 5,483 คน  ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตได้จำแนกตามสัญชาติตามตารางด้านล่างนี้

ตาราง: จำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดชาวเมียนมา กัมพูชา และลาว เดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564

ช่วงเวลา

ผู้เสียชีวิตชาวเมียนมา

ผู้เสียชีวิตชาวกัมพูชา

ผู้เสียชีวิตชาวลาว

รวมจำนวนผู้เสียชีวิตสามสัญชาติ

จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดในไทย

1-31 กรกฎาคม 2564

39

7

5

51

2,834

1-31 สิงหาคม 2564

156

14

2

172

6,732

 

ในเดือนสิงหาคม มีชาวเมียนมา ลาว กัมพูชาเสียชีวิตเพิ่มขึ้นกว่าเดือนก่อนๆ อย่างชัดเจน ซึ่งเมื่อเทียบกับวันที่ 1 เมษายน ถึง 30 มิถุนายน 2564 ตามข้อมูลที่เข้าถึงได้มีผู้เสียชีวิตชาวเมียนมา 7 คน กัมพูชา 1 คน และลาว 3 คน จากจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดทุกสัญชาติ 1,929 คน

หญิงตั้งครรภ์เป็นอีกหนึ่งกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิต โดยในระหว่างวันที่ 1 เมษายน-11 สิงหาคม 2564 จากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อทั้งหมด 185 คน เป็นชาวเมียนมาร้อยละ 16 ชาวกัมพูชาร้อยละ 4 และชาวลาวร้อยละ 2 ส่วนจำนวนหญิงตั้งครรภ์ที่เสียชีวิตจากโควิดนั้น ทั้งประเทศมี 29 คน โดยเป็นชาวเมียนมาร้อยละ 14 และชาวลาวร้อยละ 3

 

ผู้ติดเชื้อสะสมในกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 1 เมษายน- 31 สิงหาคม 2564 จากผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 279,550 คน มีคนต่างชาติติดเชื้อรวม 31,942 คน โดยในจำนวนนี้มาจากระบบเฝ้าระวังและจากโรงพยาบาล 24,483 คน และจากเชิงรุกในชุมชน 7,459 คน

 

ส่วนตามต่างจังหวัดมีจำนวนการติดเชื้อของแรงงานในโรงงานต่างๆพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะที่แม่สอด กาญจนบุรี ซึ่งพบมากในโรงงาน[1] และภูเก็ต ซึ่งพบการติดเชื้อในกลุ่มแรงงานเมียนมาที่ทำงานในตลาดสด โรงงาน และเรือประมง[2]

 

1.2 สถานการณ์การเข้าถึงบริการสาธารณสุข

 

นโยบายรัฐบาลรับรองให้คนไม่มีสัญชาติไทยสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข การตรวจและการรักษาโควิด อย่างไรก็ตาม มีรายงานการเลือกปฏิบัติการปฏิเสธผู้ป่วยบนฐานของสัญชาติ เช่นในกรณีเมื่อปลายเดือนมิถุนายน ศูนย์แรกรับและส่งต่อของกระทรวงสาธารณสุขมีป้าย “งดรับแรงงานต่างด้าว” ติดไว้ด้านหน้าศูนย์ฯ  ต่อมามีคำชี้แจงจากศูนย์ฯว่าติดป้ายนั้นเพราะมักมีนายจ้างมาปล่อยแรงงานไว้ข้างหน้าสถานที่โดยไม่ได้ติดต่อไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ แม้ว่าศูนย์ฯดังกล่าวจะรับดูแลผู้ป่วยที่เป็นแรงงานข้ามชาติเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว แต่การติดป้ายดังกล่าวก็ทำให้เกิดข้อกังวลต่อการใช้สัญชาติมาตัดสินในการลำดับผู้รับบริการ

ในแรงงานข้ามชาตินี้มีผู้ที่อยู่ระบบประกันสังคมประมาณ 11.05 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 8 แสนคน และจะมีประมาณ 1 ล้านคนที่ไม่มีหลักประกันสุขภาพใด ซึ่งทางภาครัฐทั้งระทรวงสาธารณสุขและ ศบค.มักยืนยันเสมอว่าประชากรทุกคนในประเทศไทยสามารถเข้ารับบริการได้ ไม่ว่ามีสิทธิการรักษาหรือไม่ แรงงานข้ามชาติล้วนมีสิทธิเข้าถึงการให้บริการในโรงพยาบาลของรัฐได้ทันที ทั้งนี้ทางภาครัฐเข้าใจอยู่ว่าแรงงานที่มีไม่มีสิทธิใดๆจะมีความกังวลใจในการเข้ารับบริการมากกว่า

ในส่วนของบริการตรวจหาเชื้อโควิดนั้น ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเองได้ระบุว่า การตรวจคัดกรองโควิด-19 เชิงรุก ณ สนามกีฬาไทยญี่ปุ่น-ดินแดง ได้ตรวจให้แรงงานข้ามชาติแล้ว จำนวน 38,140 คน[3]

ทั้งนี้ในวันที่ 5 กรกฎาคมกลับพบหนังสือของกรมการจัดหางาน เรื่อง แจ้งยกเลิกโครงการให้ความช่วยเหลือคนต่างด้าวด้านสาธารณสุข ซึ่งเป็นการสั่งยกเลิกการตรวจโควิด-19 เชิงรุกในกลุ่มแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามคำสั่งเดิมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2564 ซึ่งโครงการของกรมการจัดหางานนี้มีเป้าหมายคัดกรองแรงงานข้ามชาติในกิจการที่มีความเสี่ยงและอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด โดยได้มอบหมายหน้าที่ให้กับสำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 สำนักจัดหางานจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และ สมุทรปราการ สำรวจจำนวนแรงงานข้ามชาติในพื้นที่ที่รับผิดชอบ

ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 อธิบดีกรมการจัดหางานได้ชี้แจงด้วยเหตุผล 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1. ปัญหาเชิงทรัพยากร เนื่องจากโรงพยาบาลประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์สาธารณสุข  และ 2. ปัญหาอำนาจทับซ้อนกับกรุงเทพมหานคร  การตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเป็นอำนาจของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครที่ต้องให้ความเห็นชอบ[4] ซึ่งทางกรมจัดหางานได้รับอนุญาตให้ทำการตรวจเพียง 75 รายต่อวัน เมื่อไม่สามารถดำเนินการตามเป้าหมายโครงการได้ จึงยกเลิกโครงการและนำงบไปช่วยเหลือด้านอาหารแทน อย่างไรก็ตามแรงงานข้ามชาติในไซต์ก่อสร้างยังมีกลุ่มที่เข้าไม่ถึงอาหารแจกและพึ่งอาหารบริจาคจากเครือข่ายอาสาสมัคร

จากมาตรการด้านโควิดในแรงงานข้ามชาติ พบความเคลื่อนไหวทางการเมืองจากปีกแรงงานของพรรคก้าวไกล(ฝ่ายค้าน)และนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชา  ในส่วนของพรรคก้าวไกลได้นำเสนอนโยบายในวันที่ 14 กรกฎาคม 2564 ในเรื่องการไม่มีการเยียวยาตามมาตรา 33 แห่ง พ.ร.บ. ประกันสังคม หรือการกีดกันแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารออกจากการตรวจหาเชื้อโควิด ส่วนมูร สุขหัว นักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชาวิจารณ์ประกาศของกรมการจัดหางานว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง ทั้งที่แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย และช่วงโควิดคนงานเองต้องสูญเสียงาน และติดโควิดจากสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด

 

ในระดับปฏิบัติ ปัญหาเดิมยังคงมีอยู่ ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย การเข้าถึงบริการทางสาธารณสุข และสถานะทางกฎหมาย แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่มีประกันสุขภาพจึงไม่กล้าไปโรงพยาบาล แม้ในช่วงเดือนกรกฎาคมประเทศไทยอนุญาตให้ตรวจหาเชื้อด้วย Rapid Antigen Test Kit และเริ่มมาตรการให้ผู้ป่วยสีเขียวสามารถแยกกักตัวในบ้าน หรือ Home Isolation แต่ความสับสนในทางปฏิบัติก็ยิ่งเป็นอุปสรรคต่อแรงงานข้ามชาติในการเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุข จากเดิมที่ไม่แน่ใจในสถานะตัวเองอยู่แล้ว  นอกจากนี้ยังพบกรณีที่แม้นโยบายจะเปิดให้ตรวจเชิงรุกในกลุ่มเสี่ยงได้ทุกสัญชาติ แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่หน้างานไม่รับตรวจแรงงานข้ามชาติ โดยอ้างว่าคนไทยยังเข้าถึงการตรวจไม่ครบ และเมื่อสอบถามไปยังสำนักเขตและ กทม. ก็กลับพบคำตอบเดียวกับเจ้าหน้าที่ในจุดตรวจ[5]

 

1.3 สถานการณ์การเข้าถึงวัคซีน

 

ตามข้อมูลระหว่างวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 26 สิงหาคม 2564 มีชาวต่างชาติจำนวน 436,455 คน ที่ได้รับวัคซีนแล้ว นับเป็น 8.91 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรต่างชาติในประเทศไทย ในจำนวนนี้ได้รับครบสองเข็มจำนวน 161,076 คน และมีผู้สูงอายุได้รับไป 33,882 คน จำนวนที่เหลือส่วนใหญ่จึงเป็นแรงงานข้ามชาติสามสัญชาติและชาวจีน ชาวเมียนมาได้รับวัคซีนมากสุด เป็นจำนวน 218,247 คน กัมพูชาจำนวน 52,897 คน และ ลาว 28,705 คน ส่วนมากจะพบการฉีดวัคซีนในภูเก็ต จากนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และ กทม. ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดสูงสุด

 

ตารง: ยอดสะสมการได้รับวัคซีนของประชากรสามสัญชาติ

 

19 กรกฎาคม

30 กรกฎาคม

14 สิงหาคม

26 สิงหาคม

เมียนมา

72,124

140,577

178,531

218,247

กัมพูชา

12,048

25,414

36,580

52,897

ลาว

9,617

16,039

22,023

28,705

จำนวนรวมสามสัญชาติ

93,789

182,030

237,134

299,849

จำนวนรวมต่างชาติที่ได้รับวัคซีนทั้งหมด

170,007

280,075

356,337

436,445

 

การเข้าถึงวัคซีนของแรงงานข้ามชาติมีเงื่อนไขคือสถานะเข้าเมืองถูกต้องตามกฎหมายและต้องมีเอกสารประจำตัวบุคคลหรือหนังสือเดินทาง โดยสามารถจองผ่านช่องทางดังต่อไปนี้

1.            “หมอพร้อม” แอปพลิเคชันสำหรับลงทะเบียนรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามการจัดสรรของรัฐ สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีประกันสังคม  โดยตามแผนงานจะเริม ก.ค.(ขณะนี้ยังไม่มีการยืนยันแนวทางการดำเนินานที่แน่ชัด) ในการจองอาจจะต้องมีเอกสารแสดงตน หรือมีเลข 13 หลักที่กำหนดโดยกระทรวงมหาดไทย โดยมีตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่มี ทร.38 และใบอนุญาตทำงานในระบบประกันสุขภาพ 2 ล้านคน

2.            “ประกันสังคม” นายจ้างเป็นคนยื่นรายชื่อให้สำนักงานประกันสังคม โดยต้องเป็นผู้ประกันตน ตามมาตรา33จำกัด ตอนนี้มีแรงงานข้ามชาติประมาณ 1 ล้านคน ที่เป็นผู้ประกันตนแต่ยังไม่มีจำนวนแน่ชัดว่าเข้าถึงวัคซีนไปแล้วเท่าไหร่

3.            “พื้นที่เสี่ยงสูง” โดยขึ้นอยู่กับพื้นที่และการดำเนินการในพื้นที่ ขึ้นอยู่กับการจัดการของพื้นที่ มีระบบการฉีดเชิงรุกและลงทะเบียน บางพื้นที่ยังต้องมีเอกสารประจำตัวหรือหนังสือเดินทางในการลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีน

4.            “วัคซีนทางเลือก” องค์กรจัดสรรให้ ผ่านหน่วยงานที่ดำเนินการซื้อได้ตามกฎหมายซึ่งนายจ้างที่เป็นสถานะนิติบุคคลสามารถจัดซื้อ หรือ นายจ้างจองให้แรงงานข้ามชาติผ่านโรงพยาบาลเอกชน แต่ต้องเอกสารประจำตัวหรือหนังสือเดินทาง หรืออาจจะผ่านช่องทางพิเศษที่เป็นความร่วมมือของภาคเอกชนในพื้นที่ เช่น กรณีในช่วงระหว่างวันที่ 17-19 สิงหาคม ที่ชาวเมียนมาในพื้นที่ ต.แม่สอด และ ต.ท่าสายลวด จ.ตาก ประมาณ 500 คน ได้รับการฉีดวัคซีนชิโนฟาร์มเข็มแรก[6]

5.            ผ่านเว็บไซต์กระทรวงการต่างประเทศ expatvac.consular.go.th แต่ไม่คลอบคลุมแรงงานข้ามชาติที่ถือวีซ่าประเภท Non-LA และประชากรข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารเข้าเมืองถูกต้อง ในส่วนของผู้ประกอบการ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เรียกร้องให้มีการกระจายวัคซีนต่อแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ

  1. นโยบายระดับจังหวัด

2.1 จังหวัดตาก

ที่แม่สอดเป็นพื้นที่ที่พบปัญหาแรงงานข้ามชาติติดเชื้อโควิดมากที่สุดพื้นที่หนึ่ง โดยจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดในอำเภอแม่สอดระหว่าง 1 เมษายน ถึง 30 กรกฎาคม มีจำนวน 3,281 ราย (ล่าสุดแค่วันที่ 30 กรกฎาคมวันเดียวมี 176 ราย) ทำให้ผู้ว่าราชการจังหวัดตากมีประกาศการควบคุมโรคที่มีผลต่อแรงงานข้ามชาติโดยตรงตลอดเดือนกรกฎาคม โดยเริ่มจากแม่สอดก่อนขยายไปยังอำเภออื่นๆ นอกจากนี้ความรุนแรงของสถานการณ์ในแม่สอดยังพบเห็นได้จากการที่มีแพทย์ท่านหนึ่งขอลาออกจากการเป็นทีมควบคุมโรค และจากกรณีที่ผู้บัญชาการเรือนจำอำเภอแม่สอดส่งจดหมายขอความอนุเคราะห์ไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่สอดให้ชะลอการตรวจจับผู้ต้องหาใหม่ หลังจากเรือนจำอำเภอแม่สอด เป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อในชุมชน (Community Isolation) ก่อนที่จะยกเลิกจดหมายนั้นไป

คำสั่งเคอร์ฟิวและควบคุมการเดินทางของแรงงานข้ามชาติ เริ่มต้นในวันที่ 8 กรกฎาคม 2564 เมื่อจังหวัดตากออกคำสั่งเรื่องมาตรการป้องกันควบคุมในพื้นที่อำเภอแม่สอดอย่างเข้มข้น ซึ่งข้อที่ 6 และ 7 ของคำสั่ง คือ การห้ามแรงงานต่างด้าวและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนออกจากเคหสถานช่วงเวลา 20.00-04.00น. ยกเว้นคนที่ต้องทำงานในช่วงเวลานั้น  โดยจะต้องขึ้นทะเบียนและได้รับอนุญาตจากนายอำเภอแม่สอด  และห้ามแรงงานต่างด้าวและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนเคลื่อนย้ายข้ามตำบล เว้นแต่มีเหตุจำเป็นอย่างยิ่งยวดและได้รับอนุญาตจากนายอำเภอแม่สอด[7] ต่อมาในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 มีคำสั่งจังหวัดตาก เกี่ยวกับการควบคุมการเคลื่อนที่ของแรงงานข้ามชาติคำสั่งเคอร์ฟิวในแบบเดียวกันกับ อ.แม่สอด ให้มีผลในพื้นที่ อ.พบพระ อ.แม่ระมาด และ อ.ท่าสองยาง ด้วย[8]  นอกจากนี้ยังมีประกาศไม่ให้มีการเข้าออกพื้นที่ชุมชนแรงงานเมียนมา ซอยมิตรภาพ หมู่ที่ 2 ต.แม่ตาว อ.แม่สอด ตลอดทั้งซอย และให้ประชาชนในพื้นที่งดออกจากเคหสถานโดยไม่มีเหตุจำเป็น[9] และมีการต่ออายุประกาศอีกครั้งในวันที่ 19 กรกฎาคม ต่อมาในวันที่ 31 กรกฎาคม ก็มีคำสั่งเคอร์ฟิวที่ห้ามแรงงานข้ามชาติออกจากบ้าน 2 ทุ่มถึง ตี 4 ประกาศซ้ำอีกครั้ง[10]

 

นอกจากนี้ยังมีมาตรการเกี่ยวกับการควบคุมสถานที่ประกอบกิจการ โดยหากมีแรงงานติดเชื้อโควิดจำนวนมาก ทางจังหวัดจะออกคำสั่งปิดสถานที่และห้ามประกอบกิจการเป็นเวลาสองสัปดาห์ พร้อมด้วยการประกาศให้โรงงานเป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อในโรงงาน (Factory Isolation) หรือ สถานที่กักตัวในโรงงาน (Factory Quarantine) หรือใช้มาตรการ Bubble and Seal ส่วนมากเป็นโรงงานในอำเภอแม่สอด เช่น บริษัทฮับไทยฟง จำกัด[11] บริษัท คอร์ตินา โพรเกรส[12] บริษัท นอร์ทสตาร์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, บริษัท นอร์ทสตาร์ แอพพาเรล จำกัด โกดังวินนิ่งเทค, ห้างหุ้นส่วนจำกัด แพสีห์แดง พืชไร่, บริษัท อินเตอร์ นิตติ้ง จำกัด[13] บริษัท ซีซีแอนด์ซี การ์เม้นท์ จำกัด[14]  , บริษัททีเค การ์เม้นท์ จำกัด และยังมีสถานประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าขนาดเล็กที่มีแรงงานชาวเมียนมาก็ถูกทำ Community Isolation

2.2 จังหวัดสมุทรสาคร

ในวันที่ 24 กรกฎาคม จังหวัดสมุทรสาครสั่งปิดชุมชนแรงงานต่างชาติเพื่อควบคุมโรค หลังจากพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากที่ ตำบลแหลมใหญ่ อำเภอเมืองสมุทรสงครามเป็นเวลาสองสัปดาห์ มีการควบคุมพื้นที่โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง และตรวจหาเชื้อเชิงรุก

นอกจากนี้ จังหวัดสมุทรสาครยังริเริ่มโมเดลนโยบายใหม่ในช่วงที่วัคซีนยังมีไม่เพียงพอ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ออกคำสั่งให้โรงงานหรือสถานประกอบการที่มีพนักงานตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป หรือมีกำลังเครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไป เกือบ 7,000 แห่ง ต้องจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน เพื่อใช้แยกกักตัวผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงงาน เป็น Factory Accommodation Isolation (FAI) โดยมีข้อกำหนดว่า แต่ละโรงงานต้องมีโรงพยาบาลสนามที่มีเตียงไม่น้อยกว่า 10% ของพนักงานทั้งหมด คำสั่งให้จัดตั้งให้เสร็จภายใน 7 วัน โรงงานไหนทำไม่ได้ สั่งปิดทันที[15]

Timeline

Description automatically generated with medium confidence

2.3 ภาคตะวันออก

ที่ระยอง พบกรณีทหารและเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองถือปืนยาวเพื่อคุมทางเข้าออกของหอพักวังบูรพาแมนชั่น ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลปลวกแดง อำเภอปลวกแดง ทางเจ้าหน้าที่กล่าวว่าในหอพักมีแต่แรงงานชาวเมียนมา เกรงจะเกิดการหนีและการลุกฮือ ซึ่งในวันที่ 20 กรกฎาคม สาธารณสุขระยองแถลงว่าอำเภอปลวกแดงพบผู้ติดเชื้อ 63 ราย รวมทั้งมีรานงานการประท้วงของแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้รับความชัดเจนเรื่องการตรวจและกักตัวในสถานประกอบการ แรงงานข้ามชาติต้องการให้ตรวจโควิดทั้งสถานประกอบการณ์แต่ภาครัฐและนายจ้างปฏิเสธ และไม่มีการประกาศหยุดงาน

ที่จันทบุรี มีนโยบายห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทางมาจากจังหวัดอื่น และหากต้องการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติภาคการเกษตรภายในจังหวัดต้องขออนุญาตให้ถูกต้องตามขั้นตอน พร้อมทั้งมีที่อยู่และที่ทำงานปลายทางที่สามารถตรวจสอบได้ ทั้งนี้ในวันที่ 1 สิงหาคม พบกรณีที่มีแรงงานชาวกัมพูชาจำนวน 37 คน เป็นหญิง 6 คนชาย 31 คน กางเต็นท์พักในล้งผลไม้ที่อำเภอท่าใหม่ หลังจากเก็บผลม้ในพื้นที่อำเภอท่าใหม่แล้ว นายจ้างต้องการจะเคลื่อนย้ายให้ไปทำงานต่อในอำเภอโป่งน้ำร้อน แต่ไม่สามารถผ่านด่านความมั่นคงได้ เจ้าหน้าที่พบแล้วจึงนำตัวแรงงานทั้งหมดส่งกักตัวที่ Local Quarantine

2.4 ภาคใต้

ที่จังหวัดภูเก็ต ในวันที่ 29 กรกฎาคม  มีคำสั่งห้ามแรงงานข้ามชาติเดินทางเข้า – ออก ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตในทุกช่องทาง ส่วนการเคลื่อนย้ายแรงงานเพื่อทำงานภายในจังหวัดภูเก็ต การพักอาศัยภายในแคมป์ สถานที่พัก หรือสถานที่ทำงาน ให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิดอย่างเคร่งครีด โดยที่พักอาศัยของแรงงานข้ามชาติต้องคัดกรองเชิงรุก และทำ Bubble and Seal[16]

ที่จังหวัดชุมพร ในวันที่ 29 กรกฎาคม  มีคำสั่งเคอร์ฟิว ห้ามแรงงานต่างชาติออกจากเคหสถานในช่วงเวลา 20.00-04.00 น.ยกเว้นเจ็บป่วยหรือทำงานตามกะ และต้องมีเอกสารจากนายจ้างติดตัว[17]

 

  1. การบริหารจัดการสถานะของแรงงานข้ามชาติ

 

แรงงานประมง สำหรับแรงงานประมงสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา มีข้อยกเว้นให้สามารถมายื่นคำขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือเพื่ออยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และทำงานกับนายจ้างในกิจการประมงทะเล ตามมติ ครม. 29 มิถุนายน 64 เนื่องจากแรงงานไม่สามารถกลับประเทศต้นทางเพื่อขออนุญาตทำงานแล้วกลับมาได้ โดยตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การออกหนังสือคนประจำเรือตามกฎหมายว่าด้วยการประมง (ฉบับที่ 2) ประกาศให้แรงงานยื่นคำขอต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ มีอายุ1 ปีนับตั้งแต่วันสิ้นอายุหนังสือเดิม  นอกจากนี้ยังมีประกาศกรมประมง เรื่อง กำหนดระยะเวลาการต่ออายุหนังสือคนประจำเรือ ให้ดำเนินการต่ออายุภายใน 30 กันยายน 2564 ทั้งนี้เงื่อนไขสำคัญคือคนงานยังคงต้องอยู่ในประเทศไทย และกลุ่มตามมติ ครม.20 ส.ค. 63 และกลุ่มแรงงานที่ใบอนุญาตสิ้นสุดตามผลของกฎหมายสามารถเพิ่มนายจ้างได้ไม่เกิน 3 คน

 

มติ ครม. 13 ก.ค. 64 ส่วนการบริหารจัดการสถานะของแรงงานข้ามชาติในภาพรวม มีมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคม 2564 สำหรับแรงงานข้ามชาติ 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มมติ ครม. 20 ส.ค. 62 กลุ่มมติ 4 ส.ค. 63 กลุ่มมติ 10 พ.ย. 63 และกลุ่มที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นลงโดยผลของกฎหมาย ทั้ง 4 กลุ่มนี้ได้รับการผ่อนผันเพื่อดำเนินการยื่นขอใบอนุญาตให้สามารถทำงานต่อไปในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย นอกจากนี้ยังยืดหยุ่นระยะเวลาการหานายจ้างรายใหม่จาก 30 วัน เป็น 60 วัน 

 

ประกาศกระทรวงมหาดไทยและประกาศกระทรวงแรงงานตามมติ ครม. 13 ก.ค. 64

1.กลุ่มตามมติ ครม. 20 ส.ค. 62 ให้ยื่นขออนุญาตทำงานก่อนใบอนุญาตเดิมจะหมดอายุ หรือภายใน 31 มีนาคม 2565 และเมื่อดำเนินการแล้วจะอยู่ในไทยได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยต้องตรวจสุขภาพและตรวจลงตราวีซ่าภายใน 1 สิงหาคม 2565 และยื่นหลักฐานกับทางจัดหางาน หากยื่นไม่ทันให้ยื่นภายใน 60 วันนับตั้งแต่ใบอนุญาตเดิมหมด

2.ส่วนกลุ่มตามมติ ครม. 4 ส.ค. 63 (กลุ่ม บต.23) ให้ตรวจสุขภาพ เข้าประกันสังคมหรือประกันสุขภาพ ขอใบอนุญาตทำงานกับทางจัดหางาน และทำบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2565 หากยื่นไม่ทันให้ยื่นภายใน 60 วันนับตั้งแต่ใบอนุญาตเดิมหมด จากนั้นให้ยื่นขอวีซ่าภายใน 1 สิงหาคม 2565 หากหนังสือเดินทางหมดอายุให้ทำเล่มใหม่ก่อนตรวจลงตราวีซ่า โดยจะได้รับอนุญาตให้อยู่ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566 ส่วนผู้ติดตามหากมีอายุเกิน 18 ปีหลังวันที่ 31 กรกฎาคม 2564 ต้องยื่นขออนุญาตทำงานภายใน 60 วันก่อนอายุครบ 18 ปี นอกจากนี้กลุ่มนี้ยังได้รับการยกเว้นไม่ต้องใช้เงื่อนไขการเปลี่ยนนายจ้างตาม มาตรา51 และนายจ้างใหม่ไม่ต้องจ่ายเงินประกันตาม มาตรา 52

3.กลุ่ม MOU ครบ 4 ปี (1 พฤศจิกายน 2563-31 ธันวาคม 2564) ได้รับการผ่อนผันระยะเวลาให้อยู่ในไทยได้ถึง วันที่ 1 สิงหาคม 2565 เพื่อตรวจสุขภาพ ตรวจลงตราวีซ่า โดยต่อวีซ่าได้ไม่เกิน 2 ปี หากหนังสือเดินทางหมดอายุให้ทำเล่มใหม่ก่อนตรวจลงตราวีซ่า

4.  กลุ่ม MOU ครบ 2 ปี (1 มกราคม 2564- 3 สิงหาคม 2564) ให้อยู่ต่ออีก 6 เดือน เพื่อตรวจสุขภาพและต่อวีซ่า

5. กลุ่มซึ่งใบอนุญาตสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย (ยกเว้นกลุ่มตามมติ ครม. 29 ธ.ค.63) ได้แก่

- กลุ่มแรงงาน MOU และกลุ่มมติครม. 20 ส.ค. 62 ที่ใบอนุญาตทำงานสิ้นสุด เพราะการเปลี่ยนนายจ้างไม่ได้หรือไม่ทัน หรือเพราะต่อใบอนุญาตทำงานไม่ได้หรือไม่ทัน ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 3 สิงหาคม 2564

- กลุ่มมติ ครม. 4 ส.ค. 63 ที่โดนยกเลิกใบอนุญาตทำงานเพราะ การเปลี่ยนนายจ้างไม่ได้หรือไม่ทัน หรือเพราะต่อใบอนุญาตทำงานไม่ได้หรือไม่ทัน ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 3 สิงหาคม 2564

- ผู้ติดตามแรงงาน กลุ่มมติครม. 20 ส.ค. 62 และ กลุ่มมติ ครม. 4 ส.ค. 63 ที่อายุครบ 18 ปี ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2564 – 3 สิงหาคม 2564

กลุ่มเหล่านี้ต้องยื่นขออนุญาตทำงานภายใน 60 วัน ตรวจสุขภาพ ยื่นขอตรวจลงตราวีซ่า และยื่นหลักฐานกับทางจัดหางาน ภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2565 หากหนังสือเดินทางหมดอายุให้ทำเล่มใหม่ก่อนตรวจลงตราวีซ่า เมื่อดำเนินการแล้วจะอยู่ในไทยได้ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2566

กลุ่มตามมติ ครม. 20 ส.ค. 2562

ยื่นขออนุญาตทำงาน (บต. 50 และจ่ายค่าใบอนุญาต) ภายใน 31 มี.ค. 65

- ตรวจสุขภาพและตรวจลงตราวีซ่า ภายใน 1 ส.ค. 65

- ยื่นหลักฐานกับทางจัดหางาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดำเนินการแล้วจะอยู่ในไทยได้ถึง

13 ก.พ. 66

 

กลุ่มตามมติ ครม. 4 ส.ค. 63 (บต.23)

ตรวจสุขภาพ, ยื่นขออนุญาตทำงาน , ทำบัตรสีชมพู ภายใน 31 มี.ค. 65

ตรวจลงตราวีซ่า ภายใน 1 ส.ค. 65

กลุ่มตามมติ ครม. 10 พ.ย. 63 (กลุ่ม MOU ครบ 4 ปี)

ยื่นขออนุญาตทำงานก่อนการอนุญาตทำงานเดิมสิ้นสุด

ตรวจสุขภาพและตรวจลงตราวีซ่า ภายใน 1 ส.ค. 65 ต่อวีซ่าได้ไม่เกิน 2 ปี

กลุ่มซึ่งใบอนุญาตสิ้นสุดลงโดยผลของกฎหมาย ไม่รวมกลุ่มตามมติ ครม. 29 ธ.ค. 63

ยื่นขออนุญาตทำงานภายใน 60 วัน

- ตรวจสุขภาพ, ตรวจลงตราวีซ่า, ยื่นหลักฐานกับทางจัดหางาน ภายใน 1 ส.ค. 65

 

 

 

เอกสารจากประเทศต้นทาง

สำหรับแรงงานข้ามชาติชาวลาวและกัมพูชา สามารถขอเอกสารรับรองได้จากสถานเอกอัครราชทูตตามสัญชาติของตนที่ประจำอยู่ในประเทศไทย

แต่สำหรับแรงงานชาวเมียนมานั้น รัฐประหารในเมียนมาส่งผลต่อการทำงานของระบบราชการและสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ชาวเมียนมาไม่สามารถเข้าถึงบริการการออกเอกสารรับรอง หรือพาสปอร์ตใหม่ที่สถานทูตได้อย่างเป็นปกติ นอกจากนี้สถานการณ์โควิดในไทยทำให้การเดินทางของแรงงานข้ามชาติถูกจำกัด แต่ล่าสุดทางการเมียนมามีแผนนโยบายที่จะออกเอกสารรับรองบุคคล (Certificate of Identity : CI) ให้กับคนเมียนมาที่มีเอกสาร CI แล้ว แต่เอกสารดังกล่าวทยอยหมดอายุ โดยตั้งศูนย์บริการจำนวน 5 แห่ง ในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร จ.สมุทรปราการ จ.ระนอง จ.ชลบุรี และ จ.เชียงใหม่ โดยจะดำเนินการจนถึง 27 กรกฎาคม 2565[18] อย่างไรก็ตามไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ

 

  1. สถานการณ์ความต้องการแรงงาน

ตั้งแต่เริ่มโควิดมาในปี 2563 สภาหอการค้าและหอการค้าไทยได้กล่าวถึงการขาดแคลนแรงงานในประเทศไทยมาโดยตลอด ในช่วงปี 2563 ได้มีแรงงานข้ามชาติกลับประเทศตัวเองหลายแสนคน และส่วนมากเดินทางกลับไทยมาไม่ได้ ขณะเดียวกันแม้แรงงานไทยว่างงานจำนวนมาก แต่ส่วนใหญ่ไม่สนใจทำงานในตำแหน่งที่แรงงานข้ามชาติทำ อุตสาหกรรมที่ต้องการแรงงานมาก เช่น อาหารแปรรูป ถุงมือยาง อาหารและเกษตร[19] ในช่วงโควิดระลอกปัจจุบันนี้ก็พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่รุนแรงขึ้น จนมีการประเมินภาพรวมว่าขาดแคลนแรงงานราวๆ 5 แสนคน ซึ่งทั้งสภาอุตสาหกรรม และหอการค้าไทย ต่างเห็นพ้องกันว่าควรมีการนำเข้าแรงงานภายใต้ MOU เพิ่มเติม

ทางด้านประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ได้กล่าวในวันที่ 9 มิถุนายน 2564 ว่าเตรียมนำเสนอให้การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน(กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หารือเรื่องการขาดแคลนแรงงานจำนวน 400,000 คน ซึ่งเป็นงานที่คนไทยไม่ยอมทำ เช่น ก่อสร้าง ประมง จึงอยากให้รัฐบาลนำเข้าแรงงานข้ามชาติเข้ามาแบบถูกกฎหมายภายใต้ MOU กับประเทศต้นทาง มีระบบคัดกรองโควิด ซึ่งภาคเอกชนสามารถจ่ายเงินส่วนนี้ได้ ไม่เช่นนั้นภาคการผลิตจะมีปัญหาและเกิดการลักลอบเข้าไทย[20]

ในช่วงเดือนกรกฎาคม หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นำโดยนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ เรียกร้องให้รัฐเร่งกระจายฉีดวัคซีนให้แรงงาน และเน้นย้ำถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานข้ามชาติ เสนอให้ขึ้นทะเบียนแรงงานทุกกลุ่มที่ใบอนุญาตให้ทำงานสิ้นสุดลง และเร่งการนำเข้าแรงงานเพิ่มเติม[21] ทางด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการ กล่าวว่าหอการค้าพบการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอีก 10-20% จากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินไว้ว่า ขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 500,000 คน ตอนนี้แม้มีความต้องการสินค้ามากขึ้นแต่ไม่สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ ขาดแคลนเนื่องจากแรงงานข้ามชาติเดินทางกลับประเทศ และแรงงานไทยกลับภูมิลำเนาจากการล็อกดาวน์

ในส่วนอุตสาหกรรมแปรรูปไก่เพื่อการส่งออก นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อการส่งออกไทย กล่าวว่าเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประมาณ 20,000 คน

ทางด้าน นายอภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า ตอนนี้สมุทรสาครขาดแคลนแรงงานไม่ต่ำกว่า 50,000 คน โรงงานก็ต้องหาทางแก้ปัญหา เช่นเพิ่มค่าแรงให้สูงขึ้น บางแห่งให้ถึง 500 บาท

ขณะที่สมาคมการประมงแห่งประเทศไทยประเมินว่าอุตสาหกรรมประมงตอนนี้ขาดแคลนแรงงานอยู่ประมาณ 50,000 คน จึงทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานให้ใช้อำนาจตาม พรก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว นำเข้าแรงงานเพิ่มเติม[22]

ล่าสุดกรมการจัดหางานได้สำรวจความต้องการแรงงานจากภาคเอกชนพบว่า มีความต้องการแรงงานข้ามชาติอย่างแน่นอนมากถึง 424,703 ราย โดยภาคเอกชนต้องการแรงงานเมียนมาจำนวน 256,029 ราย แรงงานกัมพูชาจำนวน 130,138 ราย และ แรงงานลาวจำนวน 38,536 ราย ซึ่งกิจการที่ต้องการแรงงานข้ามชาติจำนวนมากได้แก่ เกษตรกรรม ปศุสัตว์ งานก่อสร้าง งานบริการ และอุตสาหกรรมสิ่งทอ[23]

 

การพิจารณานำเข้าแรงงาน

จากการขาดแคลนแรงงานที่ปรากฏเด่นชัดนี้ทำให้กระทรวงแรงงานกำลังเตรียมการเพื่อนำเข้าแรงงานข้ามชาติผ่าน MoU แบบพิเศษ ขณะนี้กระทรวงแรงงานกำลังปรึกษากับหน่วยงานรัฐด้านสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมการ[24] ซึ่งกฎเกณฑ์เบื้องต้นคือแรงงานต้องผ่านการฉีดวัคซีนจากประเทศต้นทางและกักตัว[25]

  1. สถานการณ์การข้ามพรมแดน

การลักลอบข้ามพรมแดนมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเข้ามาหางานทำในไทย การข้ามแดนเพื่อลักลอบเข้าประเทศเพื่อนบ้าน แรงงานข้ามชาติกลับประเทศบ้านเกิด และคนไทยลักลอบกลับเข้าไทย ทั้งนี้พบว่าขบวนการนายหน้านำพาคนลักลอบข้ามพรมแดนนั้นส่วนมากเรียกเก็บเงินระหว่าง 10,000 – 25,000 บาท แต่บางกรณีก็แพงกว่านั้น 

5.1 การทำงานของภาครัฐ

ศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศปก.ศบค.) มีข้อสรุปว่าจะให้ผู้ที่ลักลอบเข้าเมืองกักตัวตามแนวชายแดน ไม่อนุญาตให้เข้ามาในชั้นในของประเทศ โดยให้กลุ่มบุคคลเหล่านั้นต้องกักตัวในสถานที่กักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กร หรือที่เรียกว่า Organizational Quarantine (OQ) ในเบื้องต้นจะเปิดสถานกักกันในรูปแบบเฉพาะองค์กรก่อน 5 แห่ง ใน 3 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และตาก ซึ่งแต่ละที่รองรับได้ 50 คน ซึ่งในวันที่ 22 พฤษภาคมมีชาวเมียนมารวม 223 ราย เข้ามาอยู่ในพื้นที่กักกันทั้ง 5 แห่งของ ตชด. และเฉพาะในศูนย์ที่แม่สอดมีรายงานว่ามีจำนวนผู้กักกันรวมทั้งสิ้น 108 ราย[26] 

ในสิ้นเดือนพฤษภาคม โฆษกกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่านับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ถึง 30 พฤษภาคม 2564 ฝ่ายความมั่นคงจับกุมผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมาย ได้ 32,423 คน และทำลายเครือข่ายผู้นำพา 282 คน ในจำนวนผู้หลบหนีเข้าเมืองเป็นชาวเมียนมา 15,393 คน ชาวกัมพูชา 11,011 คน ชาวลาว 2,661 คน ชาวมาเลเซีย 92 คน และคนไทย 1,945 คน[27]

ต่อมาในวันที่ 15 กรกฎาคม 64 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-11 ก.ค.2564 จับกุมผู้ลักลอบข้ามแดนที่เป็นชาวต่างชาติได้ 14,258 ราย ผู้นำ 137 ราย ผู้ช่วยเหลือซ่อนเร้น 336 ราย นอกจากนี้ ยังสามารถทลาย จับกุมเครือข่าย ขบวนการลักลอบนำพา ช่วยเหลือ 152 เครือข่าย และยังเฝ้าระวังติดตามพฤติกรรม 67 เครือข่าย โดยมีเครือข่ายสำคัญดำเนินคดีไปแล้ว เช่น โรฮีนจาดอนเมือง เจ๊เพชรกาญจนบุรี หมูทองเถาว์กาญจนบุรี เจ๊กบมุกดาหารและฟ้าซิน มาทูสงขลา เครือข่ายรถตู้ป้ายเอียงซึ่งขนแรงงานมาจากทาง จ.สุรินทร์ เป็นต้น นอกจากนั้น ยังมีเครือข่ายดำเนินคดีล่าสุด ได้แก่ นายอุ๊ริมเมย ซึ่งเป็นเครือข่ายลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าวเข้ามาผ่านช่องทางธรรมชาติ อ.แม่สอด จ.ตาก เข้าสู่พื้นที่ชั้นใน และเกี่ยวข้องกับขบวนการขนคนจีนในหลายภูมิภาคของประเทศ โดยที่ผ่านมาจับกุมคนไทยร่วมเครือข่ายนี้ได้ 7 คน ต่างชาติรวม 186 คน แยกเป็นคนจีน 63 คน เมียนมา 121 คน ฟิลิปปินส์ 1 คน และลาว 1 คน และจับกุมนายอุ๊ริมเมยได้แล้วเมื่อ 14 กรกฎาคม 2564[28]

ส่วนมาตรการเพิ่มเติมคือการติดวงจรปิดตามชายแดนและช่องทางธรรมชาติจำนวน 310 ตัว

 

สถิติการลักลอบเข้าเมืองของทางการไทย

ในช่วงเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม 2564 ทางการไทยสามารถจับผู้ลักลอบข้ามแดนเข้าเมืองไทย ได้เป็นจำนวนตามตารางด้านล่างนี้ โดยแยกตามสัญชาติ

เดือน

เมียนมา

ลาว

กัมพูชา

มาเลเซีย

ไทย

อื่นๆ

กรกฎาคม 64

764

1,519

1,524

18

373

148

สิงหาคม 64

527

1,802

1,450

17

321

54

 

 

5.2 การลักลอบข้ามพรมแดนของชาวเมียนมา

ชาวเมียนมาที่ลักลอบข้ามพรมแดนมา มีทั้งเข้ามาจากเมียนมาเพื่อทำงานในไทยหรือมาเลเซีย เข้ามาจากมาเลเซียเพื่อเดินทางกลับเมียนมา และจากไทยเตรียมกลับเข้าเมียนมาเนื่องจากโรงงานในไทยปิด ไม่มีงานทำ

วันที่

พื้นที่ที่พบ

จำนวน

แรงงาน

ผู้นำพา/นายหน้า

ต้นทาง

ปลายทาง

ค่าใช้จ่ายต่อหัว

6 มิ.ย.64[29]

ป่าที่

อ.หาดใหญ่

19

นายตินติน ชาวเมียนมา

เกาะสอง (15คน) และมาเลเซีย (4คน)

โรงงานใน

จ.ชุมพร (2คน )
กลับเมียนมา (4คน)

ที่เหลือรอไปมาเลเซีย

15,000 บาท (จากเกาะสอง)  /

13,000 บาท (1,500 ริงกิต ให้แท็กซี่ที่มาเลเซีย)

6 มิ.ย.64[30]

สังขละบุรี
โดย
เดินจากบ.ป้อมตะป้อย ผ่านข้างบ้านบ่อญี่ปุ่น

16

(ชาย13

หญิง 3)

ชาวเมียนมา เชื้อชาติมอญ 2 คน

ย่างกุ้ง, เย, ตายิวเซยัด, เมาะละแหม่ง, พะโค

(ไม่ทราบ)
 

15,000 – 26,000 บาท

7 มิ.ย. 64[31]

ไทรโยค

11

(ชาย 6

หญิง 5)

ชาวไทยรับจ้างขับรถขนมา โดยให้บางส่วนซ่อนตัวในถังน้ำ

เมียวดี, พะโค และรวมตัวที่ทวาย

กทม.และปทุมธานี

20,000-25,000 บาท

30 มิ.ย. 64[32]

ป่าละเมาะ

จ.สงขลา

11

(ชาย 6

หญิง5)

ไม่รวมคนที่ให้พักพิง

นายหน้าอยู่ในมาเลเซีย ส่วน
ชาวเมียนมา 1 คนที่ทำงานในไทยอยู่แล้วเป็นผู้ให้ที่พักพิง

มาเลเซีย เข้าไทยมาทาง อ.สะเดา

กลับบ้านที่เมียนมา

30,000 บาท (3,500 ริงกิต)

3 ก.ค. 64[33]

เส้นทางจากชายแดนบ้านพุน้ำร้อน และบ้านประตูด่าน จ.กาญจนบุรี

3 คนก่อนขยายผลพบอีก 7 คน รวมเป็น 10 (หญิงทั้งหมด)

ชายชาวมอญ

เมียวดี

ชลบุรี

25,000 บาท

6 ก.ค. 64[34]

แม่สอด

11

คนไทย 3 คน

ฝั่งเมียนมา

(ไม่ทราบ)

(ไม่ทราบ)

6 ก.ค. 64[35]

เกาะหลัก จ.ประจวบคีรีขันธ์

7

(ชาย 4 หญิง 2) เด็ก 1)

นายหน้าไม่มารับ

จังหวัดมะริด

บางสะพานน้อย (1 คน) กุยบุรี (5 คน + เด็ก)

15,000-16,000 บาท

7 ก.ค. 64[36]

สังขละบุรี

9 (ชาย 5 หญิง 4

ชาวไทย 2 คน

ฝั่งเมียนมา

ไปไทรโยคเพื่อส่งต่อไปราชบุรี

17,000 บาท

13 ก.ค. 64[37]

แม่ระมาด

จ.ตาก

15 (ชาย9 หญิง 6)

(ไม่ทราบ)

ฝั่งเมียนมา

สมุทรสาคร และชลบุรี

21,000 บาท

15 ก.ค.[38]

ไทรโยค

8 (ชาย 6 หญิง 2) ก่อนพบอีกกลุ่ม

(ไม่ทราบ)

ฝั่งเมียนมา 

กำลังรอรับไปหลายจังหวัด

25,000 บาท

17 คน (ชาย 12 หญิง 5)

23 ก.ค.[39]

สังขละบุรี

18

ชาวไทยรับจ้างขนแรงงาน 800 บาทต่อคน

ฝั่งเมียนมา 

(ไม่ทราบ)

(ไม่ทราบ)

7 ส.ค.[40]

ด่านสิงขร ประจวบคีรีขันธ์

42 (ชาย 22 หญิง 18 เด็ก 2) ทั้งหมดมีใบอนุญาตทำงาน

กลุ่มชาวไทย (เจ๊เจี๊ยบ มหาชัย)[41]

กรุงเทพฯ, นนทบุรี, ปทุมธานี, ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา, สมุทรสาคร[42]

เมียนมา

5,000-8,000 บาท

8 ส.ค.[43]

อ.แม่ระมาด จ.ตาก

8 (ชาย 2 หญิง 5 ผู้ติดตาม 1)

กลุ่มชาวไทยที่แม่ระมาดและจะมีชาวม้งมารอรับ

ฝั่งเมียนมา

จังหวัดพื้นที่ชั้นใน

3,000 บาท

8 ส.ค.[44]

ริมแม่น้ำเมย อ.พบพระ อ.แม่สอด ตาก

12 (ชาย 7  หญิง 3 ผู้ติดตาม 2)

(ไม่ทราบ)

(ไม่ทราบ)

(ไม่ทราบ)

(ไม่ทราบ)

10 ส.ค.[45]

อ.ท่าแซะ

จ.ชุมพร (มาจากกระบุรี

จ.ระนอง)

22

กลุ่มชาวไทย

จากเมืองต่างๆมารวมกันที่เกาะสอง

ตรัง และปัตตานี

18,000 บาท

10 ส.ค.[46]

อ.สวี จ.ชุมพร(โดยมาจากกระบุรี)

33

กลุ่มชาวไทยร่วมมือกับนายหน้าชาวเมียนมา

ย่างกุ้ง, เมาะละแหม่ง, ทวาย (จากนั้นรวมกันที่เกาะสอง)

หาดใหญ่, สุราษฎร์ธานี, ปัตตานี, นครศรีธรรมราช

15,000-17,000 บาท

15 ส.ค.[47]

ต.ด่านแม่ละเมาะ

อ.แม่สอด

45 (ชาย 21 หญิง 20 ผู้ติดตาม 4)

(ไม่ทราบ)

ฝั่งเมียนมา

กรุงเทพฯ

20,000 บาท

29 ส.ค.[48]

ด่านสิงขร ประจวบคีรีขันธ์

2

ชายเมียนมา 2 คนมารับ

ฝั่งเมียนมา

(ไม่ทราบ)

(ไม่ทราบ)

 

ที่เชียงใหม่ มีทีมสหวิชาชีพเชียงใหม่ช่วยกันคัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ สภ. อมก๋อย มีชาวเมียนมา หลากหลายเชื้อชาติ 81 คน ทุกคนสมัครใจหางานทำที่ไทย ต้องการมีชีวิตที่ดีกว่าในช่วงที่สถานการณ์การเมืองในเมียนมากำลังแย่ ทั้งนี้กลุ่มคนเหล่านี้เคยจ่ายนายหน้าคนละ 12,000-20,000 บาท

 

5.3 การลักลอบข้ามแดนของคนไทย

 

คนไทยกลับเข้าไทย

มีชาวไทยซึ่งส่วนมากเป็นผู้หญิงซึ่งทำงานอยู่ตามบ่อนและสถานบันเทิงบริเวณชายแดน ทั้งในท่าขี้เหล็ก และในเมียวดี ต้องการกลับไทยจำนวนมาก มีบางส่วนลักลอบกลับไทยแล้วก็มี สาเหตุหลักคือการระบาดโควิดในเมียนมาร้ายแรง แค่ในท่าขี้เหล็กวันที่ 17 กรกฎาคมวันเดียวก็พบผู้ติดเชื้อถึง 40 คนในเมืองเดียว ทางการเมียนมาสั่งปิดสถานที่เสี่ยง และมีเคอร์ฟิวตอนกลางคืน หลังจากที่สถานบันเทิงเหล่านี้เคยเป็นคลัสเตอร์การระบาดในระลอกสอง และเปิดทำการเมื่อเมษายน 2564

ในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม แรงงานหญิงไทยที่ทำงานในท่าขี้เหล็กได้รวมกลุ่มประมาณ 50 คน เพื่อขอกลับเข้าไทย โดยมี 7 คน ที่ถูกดำเนินคดีและเสียค่าปรับกำลังรอส่งตัวกลับจาก ตม.เชียงตุง ส่วนที่เหลือรอขั้นตอนจากทางการท้องถิ่นเมียนมา อย่างไรก็ดีกลุ่มคนเหล่านี้ยินดีเสียค่าปรับ มีการประสานจากฝั่งไทยให้กลุ่มนี้พยายามเข้าสู่ระบบ และประสานกับทางการเมียนมาให้ทำข้อตกลงกัน

มีอีกสถิติหนึ่งคือ มีคนไทยในเมียนมารวมประมาณ 90 คน แจ้งผ่านหน่วยงานต่างๆว่าต้องการกลับไทย โดยในจำนวนนี้ มี 20 คนที่แจ้งกับสถานทูตไทยกรุงย่างกุ้ง และ 71 คน มาจากที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเมียนมารวมรายชื่อคนไทยที่ต้องการกลับผ่านช่องทางต่างๆ ระหว่างวันที่ 2-16 กรกฎาคม 2564

แต่ไม่ใช่ทุกกลุ่มที่พร้อมจะรอกลับเข้าไทยตามระบบ ในวันที่ 26 กรกฎาคม พบว่ามีหญิงไทยประมาณ 10 คน ที่ทำงานที่บ่อนคาสิโนที่เมียวดี ลักลอบเข้ามาทางพรมแดนแม่สอด[49]

นอกจากคนไทยที่ลักลอบข้ามแดนมาจากประเทศเมียนมาแล้ว ยังมีคนไทยที่มาจากมาเลเซียด้วย โดยสังเกตจากสถิติในวันที่ 27 กรกฎาคม ที่พบคนไทยซึ่งลักลอบข้ามแดนมาจากมาเลเซีย 4 คน ติดเชื้อโควิด

 

คนไทยข้ามแดนไปประเทศเพื่อนบ้าน

ในช่วงเดือนสิงหาคมพบการลักลอบข้ามแดนของไทยไปทำงานในคาสิโนและบ่อนออนไลน์บริเวณชายแดนฝั่งประเทศกัมพูชาอยู่หลายครั้งเนื่องจากประเทศกัมพูชามีการปิดชายแดน โดยมักจะข้ามแดนกันที่ตำบลโคกสูง อำเภอโคกสูง จังหวัดสระแก้วอย่างไรก็ดีเมื่อคนไทยกลุ่มนี้ถูกทางการไทยจับกุมได้ ก็จะได้รับข้อกล่าวหา "ร่วมกันมั่วสุมในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคตามข้อกำหนดในมาตรา 9 ฉบับที่ 1 ข้อ 5 แห่ง พรก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548”เพราะไม่มีกฎหมายห้ามคนไทยเดินทางออกนอกประเทศ

วันที่

จำนวนคนไทย

ค่าใช้จ่ายต่อหัว

รายละเอียดเพิ่มเติม

1 ส.ค.[50]

8 คน (ชาย 1 หญิง 7)

เจ้าของบ่อนเป็นผู้จ่าย โดยนายหน้าได้หัวละ 10,000 บาท

เพื่อทำงานบ่อนกาสิโนออนไลน์

2 ส.ค.

5 คน (ชาย 2 หญิง 3)

(ไม่ทราบ)

เพื่อทำงานบ่อนออนไลน์ที่ปอยเปต

4 ส.ค.[51]

18 คน

(ไม่ทราบ)

เดินทางพร้อมชาวต่างชาติอีก 3 คน

6 ส.ค.[52]

6 คน

(ไม่ทราบ)

 

12 ส.ค.[53]

6 คน

(ไม่ทราบ)

 

26 ส.ค.[54]

31 คน (ชาย 18 หญิง 13)

(ไม่ทราบ)

ทำงานที่บ่อนคาสิโนที่ปอยเปต

27 ส.ค.[55]

26 คน

เจ้าของบ่อนเป็นผู้จ่าย

มีผู้นำพา 3 คน เพื่อไปทำงานในบ่อนออนไลน์ที่ปอยเปต

 

5.4 การกลับประเทศต้นทางของแรงงานกัมพูชาและลาว

 

จนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม พบว่าแรงงานกัมพูชากลับประเทศผ่านช่องทางทางการแล้วกว่า 5,000 คนและมีแรงงานกัมพูชาไม่น้อยกว่า 20 คนต่อวันยื่นขอกลับประเทศผ่านสถานทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย[56]

นโยบายการห้ามการเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามชาติข้ามพื้นที่ภายในประเทศไทย ทำให้แรงงานที่ต้องการกลับประเทศต้องลักลอบเดินทาง โดยเฉพาะเมื่อแรงงานไม่ได้ทำงานอยู่ในพื้นที่ชายแดน อย่างไรก็ดีในบางกรณีก็เกิดจากการที่แรงงานต้องการหลีกเลี่ยงการถูกกักตัวเมื่อเดินทางกลับถึงประเทศของตนเช่นกัน[57]

วันที่

จำนวนคน

ต้นทาง

ปลายทาง

ค่าใช้จ่ายต่อหัว

รายละเอียดเพิ่มเติม

14 ก.ค.

ผู้ใหญ่ 9

เด็ก 5

เขตบางบอน กทม.

กัมพูชา

(ไม่ทราบ)

พบว่าติดเชื้อโควิด 3 คน

17 ส.ค.[58]

13 คน

ตลาดโรงเกลือ

กัมพูชา

เดินทางด้วยตนเอง

 

17 ส.ค.

10 คน

(ชาย 5 หญิง 5) [59]

ตลาดโรงเกลือ

กัมพูชา

เดินทางด้วยตนเอง

เป็นแรงงานรับจ้างรายวัน ซึ่งไม่มีงานทำในช่วงโควิด ต้องการหลีกเลี่ยงการกักตัว

19 ส.ค.[60]

7 คน 

(มีเด็กและทารกด้วย)

ตลาดโรงเกลือ

กัมพูชา

1,500 บาท

มีผู้เสียชีวิต 4 รายจากอุบัติเหตุเนื่องจากขับรถหลบหนีการจับกุม

 

ส่วนด่านที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม พบว่าแรงงานชาวลาวทยอยกลับประเทศลาวผ่านด่านช่องเม็ก-วังเต่า วันละ 300-400 คน  โดยสถิติล่าสุดพบว่านับตั้งแต่การระบาดโควิดระลอกสองในไทย แรงงานลาวกลับประเทศแล้วมากกว่า 246,000 คน และเฉพาะในปี 2564 แรงงานลาวกลับแล้วประมาณ 150,000 คน[61]

ทั้งนี้ประเทศไทยมีสถานการณ์โควิดที่รุนแรงกว่าประเทศลาวและกัมพูชา ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดบันเตียเมียเจย ประเทศกัมพูชา จึงสั่งปิดพรมแดนที่ติดกับไทย 8 จังหวัด เป็นการชั่วคราวจนถึง 12 สิงหาคม  ยกเว้นเฉพาะการขนส่งสินค้าและผู้ป่วยฉุกเฉิน 

 

5.5 การลักลอบข้ามพรมแดนของชาวต่างชาติอื่นๆ

 

นอกจากการลักลอบข้ามแดนของแรงงานต่างชาติแล้ว ยังมีการลักลอบเพื่อจุดประสงค์อื่นๆ เช่น การเล่นบ่อนการพนันที่กัมพูชา โดยในวันที่ 10 กรกฎาคม 2564 มีขบวนการนำคนจีน 7 คน เวียดนาม 1 คน เข้าประเทศไทยผ่านทางเชียงรายเพื่อไปกัมพูชา โดยมีค่าจ้าง 7,000-10,000 บาท [62]

  1. ความร่วมมือกับประเทศต้นทาง

6.1 การส่งคนเมียนมากลับประเทศ

เดิมทางการไทยได้เจรจาให้เมียนมายอมรับแรงงานเมียนมากลับประเทศ ซึ่งทางการเมียนมาให้เงื่อนไขว่ารับกลับวันละไม่เกิน 200 คน และเข้าได้แค่วันเว้นวันเท่านั้น แต่ในช่วงวันที่ 22 พฤษภาคม 64 ทางตรวจคนเข้าเมืองของ จ.เมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ปฏิเสธรับแรงงานชาวเมียนมากลับเข้าประเทศ จึงมีแรงงานชาวเมียนมาติดค้างอยู่ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง อ.แม่สอด จ.ตาก จำนวนกว่า 600 คน[63]

แต่ในระหว่างเดือนกรกฎาคม พบว่าฝ่ายความมั่นคงไทยได้มีการเจรจากับทางการเมียนมาอีกครั้ง จึงเริ่มมีการผลักดันแรงงานเมียนมากลับประเทศวันละ 200 คน ในเดือนสิงหาคม และส่งกลับวันเว้นวันตามเงื่อนไขเดิม โดยสะพานมิตรภาพแห่งที่สองเปิดอีกครั้งในวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งทางการเมียนมารับคนกลับในวันที่ 1 สิงหาคม จำนวน 202 คน (ชาย 116 หญิง 86)  3 สิงหาคม 206 คน (ชาย 128 หญิง 78) 5 สิงหาคม 204 คน (ชาย 126 หญิง 78)[64] และ 9 สิงหาคม 202 คน[65]

รูปภาพประกอบด้วย บุคคล, ในอาคาร

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

 

ในส่วนของกองทัพภาคที่ 3/กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 3 ได้มีการดำเนินการผลักดันชาวเมียนมาที่เป็นผู้ต้องกักกลับประเทศเมียนมาด้วยเช่นกัน โดยในวันที่ 6 สิงหาคม 2564 ผลักดันจำนวน 122 คน (ชาย 88 คน และหญิง 34 คน) วันที่ 17 สิงหาคม 2564 จำนวน 100 คน (ชาย 60 คน, หญิง 33 คน, เด็ก 7 คน) นอกจากนี้ยังอำนวยความสะดวกให้ชาวเมียนมาที่ไม่ใช่ผู้ต้องกักกลับประเทศเพิ่มเติมอีกจำนวน 59 คน (ชาย 28 คน และหญิง 31 คน) [66]

 

6.2 การหารือระหว่างทางการไทยและประเทศต้นทาง

เมียนมา

วันที่ 24 มิถุนายน Mr. Thu Rein Linn  ทูตแรงงานเมียนมาเข้าพบอธิบดีกรมการจัดหางานเพื่อหารือข้อราชการเกี่ยวกับการตั้งศูนย์ออกเอกสารรับรองบุคคล (CI)ในประเทศไทย และหารือเกี่ยวกับปัญหาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

วันที่ 5 กรกฎาคม  มีการประชุมระดับวิชาการไทย-เมียนมา ในรูปแบบการประชุมทางไกล เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด นำโดยอธิบดีกรมการจัดหางานไทย และ Mr.Maung Maung Than อธิบดีกรมแรงงานเมียนมา

กัมพูชา

ในวันที่ 20 สิงหาคม กระทรวงแรงงานได้ต้อนรับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวของกัมพูชา ซึ่งเป็นผู้ช่วยส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เพื่อหารือในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานกัมพูชา[67]

6.3 ข้อเรียกร้องจากประเทศต้นทาง

กัมพูชา

ตั้งแต่วันที่ 5 สิงหาคม ทางการกัมพูชาได้ทำหนังสือมายังทางการไทย เพื่อขอนำวัคซีนเข้ามาฉีดให้แรงงานกัมพูชาในตลาดโรงเกลือ จ.สระแก้ว จำนวน 12,000 โดส และมีการเจรจาเพิ่มเติมในวันที่ 13 สิงหาคม แต่ทางการไทยปฏิเสธและกล่าวว่าให้แรงงานกัมพูชาเดินทางกลับไปฉีดที่ประเทศกัมพูชาเท่านั้น[68]

ลาว

รัฐบาลสปป.ลาว นำโดยประธานาธิบดีได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้ความช่วยเหลือแรงงานลาว ผ่านทางนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภาของไทย โดยข้อเรียกร้องที่สำคัญที่สุดคือการอำนวยความสะดวกให้ชาวลาวสามารถกลับประเทศได้[69]

 

[1] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2170411/workers-infected-kanchanaburi-factory-closed

[2] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2163795/phukets-covid-cases-rising-especially-among-migrant-workers

[3] https://www.thairath.co.th/news/local/2144966

[4] https://siamrath.co.th/n/261571

[5] https://www.matichon.co.th/prachachuen/news_2806574

[6] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/955202

[7] คำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๒๒๖๗/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๗๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก เฉพาะในพื้นที่อำเภอแม่สอด เพิ่มเติม

[8] คำสั่งจังหวัดจาก ที่ ๒๒๙๓/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก การเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวและบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนในพื้นที่อำเภอพบพระ อำเภอแม่ระมาด และอำเภอท่าสองยาง

[9] คำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๒๒๙๔/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๗๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก ปิดพื้นที่และสถานที่เป็นการชั่วคราว และให้สถานประกอบการเป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อ

[10] คำสั่งจังหวัดตากที่ 2582/2564

[11] คำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๒๒๔๓/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๗๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก ให้สถานประกอบการที่จัดให้เป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อไว้ในสถานประกอบการและปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว

[12] คำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๒๕๑๙/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๗๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก ให้สถานประกอบการเป็นสถานที่กักตัวและเป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อ

[13] คำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๒๕๑๘/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๗๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก ปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว และให้สถานประกอบการเป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อไว้ในโรงงาน

[14] คำสั่งจังหวัดตาก ที่ ๒๒๓๑/๒๕๖๔ เรื่อง มาตรการป้องกัน ควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๗๑๙ (covid-๑๙) จังหวัดตาก ในสถานประกอบกิจการที่จัดให้เป็นสถานที่แยกกักผู้ติดเชื้อไว้ในโรงงาน

[15] คำสั่งจังหวัดสมุทรสาครที่ ๒๐๑๓/๒๕๖๔ เรื่อง ให้โรงงานหรือสถานประกอบการ จัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (Factory Accommodation Isolation: FAI)

[16] คำสั่งจังหวัดภูเก็ตที่ ๔๒๐๔/๒๕๖๔ เรื่องมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต

[17] คำสั่งจังหวัดชุมพรที่ 2247/2564 ด้านแรงงานต่างด้าว

[18] https://www.prachachat.net/csr-hr/news-713409

[19] https://www.thairath.co.th/business/economics/1965650

[20] https://www.thairath.co.th/business/economics/2111247

[21] https://www.thairath.co.th/business/economics/2142547

[22] https://www.prachachat.net/economy/news-719373?fbclid=IwAR2wlIQ-aYkcQI2kBSDGD4mTvQR9nxUWnP_QTQryKmTl5R-3P5_fZi0ntdg

[23] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2169067/migrants-to-be-allowed-back-to-work

[24] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2169067/migrants-to-be-allowed-back-to-work

[25] https://www.mol.go.th/news/ไทย-กัมพูชา-กระชับความร่วมมือจ้างแรงงานถูกกฎหมาย-ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคการผลิตส่งออก

[26] https://www.bbc.com/thai/thailand-57210438

[27] https://www.matichon.co.th/politics/news_2751793

[28] https://www.thairath.co.th/news/crime/2141380

[29] https://mgronline.com/south/detail/9640000054519

[30] https://www.thairath.co.th/news/crime/2109517

[31] https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/942068

[32] https://www.thairath.co.th/news/local/south/2129250

[33] https://www.thairath.co.th/news/crime/2131466

[34] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2144279/illegal-migrants-thai-helpers-caught-in-tak

[35] https://www.one31.net/news/detail/47495

[36] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2144859/illegal-border-crossers-thai-guides-arrested

[37] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2148043/15-myanmar-border-crossers-caught-in-tak

[38] https://www.thaipost.net/main/detail/109845

[39] https://www.thairath.co.th/news/local/central/1895437

[40] https://3-dprinting.xyz/archives/20748

[41] https://aec-tv-online2.com/?p=712973

[42] https://www.dailynews.co.th/news/159039/

[43] https://siamrath.co.th/n/269366

[44] https://siamrath.co.th/n/269503

[45] https://www.naewna.com/local/594027

[46] https://www.naewna.com/local/594027

[47] https://www.matichon.co.th/region/news_2885969

[48] https://news.ch7.com/detail/510939

[49] https://www.nationthailand.com/news/40003773

[50] https://www.thaich8.com/news_detail/99458

[51] https://news.thaipbs.or.th/content/307580

[52] https://news.thaipbs.or.th/content/307580

[53] https://news.thaipbs.or.th/content/307580

[54] https://www.thaich8.com/news_detail/100281

[55] https://news.ch7.com/detail/510607

[56] https://prachatai.com/journal/2021/09/94796

[57] https://www.naewna.com/local/595513

[58] https://www.matichon.co.th/region/news_2894653

[59] https://www.naewna.com/local/595513

[60] https://www.khaosod.co.th/around-thailand/news_6572812

[61] https://www.matichon.co.th/foreign/news_2893085

[62] https://www.thairath.co.th/news/local/central/2136740

[63] https://www.matichon.co.th/region/news_2737171

[64] https://www.facebook.com/myanmar.labour.office.thai/posts/1186049471893320

[65] https://www.facebook.com/kowin.zaw.7370013/posts/1194893380988488

[66] https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1766476/

[67] https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2169067/migrants-to-be-allowed-back-to-work

[68] https://www.matichon.co.th/region/news_2880528

[69] https://vientianetimes.org.la/freeContent/FreeConten_Laoask_160.php?fbclid=IwAR2X5xtoC10TtI4cElQ95_fZiIqCpCNRjBCAT4ezRP-_m71spdwAHG%E2%80%A6