Skip to main content

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ และภาคีภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน มีข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในการพัฒนามาตรการในการปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัยดังนี้

  1. พิจารณารับรองอนุสัญญาระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ และผู้ลี้ภัย ได้แก่ การให้การรับรองอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติและสมาชิกในครอบครัว, อนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย, อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 เสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 98 การรวมตัวและร่วมเจรจาต่อรอง ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกัน และเป็นกรอบแนวทางในการพัฒนากฎหมายภายในประเทศให้รองรับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย
  2. ดำเนินการจัดทำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ที่มียุทธศาสตร์การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ การมีแผนรองรับผลกระทบสถานการณ์ความรุนแรงและการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในประเทศพม่า
  3. พิจารณาดำเนินการทบทวนกลไกการคัดกรองบุคคลที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ ซึ่งยังพบปัญหาการต้องให้ผู้ลี้ภัยที่ต้องการได้รับการคุ้มครองจากประเทศไทยต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายคนเข้าเมืองก่อนซึ่งถือว่าทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนซ้ำซ้อน รวมถึงการพิจารณาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อบริหารจัดการและกำหนดสถานะให้แก่ผู้ลี้ภัยและแสวงหาผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ
  4. จัดทำกลไกการคัดกรองก่อนการผลักดันส่งกลับผู้อพยพที่อาจจะมีความเสี่ยงต่ออันตรายต่อชีวิตและภัยการประหัตหาร เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะไม่มีการผลักดันส่งกลับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพไปเผชิญภัยอันตรายต่อตนเอง

ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีความจริงใจและยืนยันในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของคนทุกกลุ่ม และเป็นหลักประกันสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้อพยพ และประชาชนไทยว่าจะได้รับการคุ้มครองและดูแลตามหลักสิทธิมนุษยชน และเพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีความมั่นคงด้านสิทธิมนุษยชนได้อย่างเต็มภาคภูมิ