Skip to main content

สาระสำคัญ

ตามประกาศนี้ ผู้ที่จะได้รับสัญชาติไทย แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่หนึ่ง บุตรของคนที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่เป็นเวลานาน อาทิ กลุ่มเวียดนามอพยพ อดีตทหารจีนคณะชาติ จีนฮ่ออพยพพลเรือน จีนฮ่ออิสระ ไทยลื้อ ผู้อพยพ เชื้อสายไทยจากจังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า เนปาลอพยพ ชาวเขา บุคคลบนพื้นที่สูงหรือชุมชนบนพื้นที่สูง ลาวภูเขาอพยพ ม้งถ้ำกระบอก ผู้หลบหนีเข้าเมืองจากพม่าอดีตโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา ผู้หลบหนีเข้าเมืองชาวกัมพูชา ชาวมอร์แกน ทั้งนี้ต้องเป็นชนกลุ่มน้อยและกลุ่มชาติพันธุ์ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติไว้เดิมรับรองสถานะให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร และที่ได้รับการสำรวจจัดทำทะเบียน ตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคลตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๘

กลุ่มที่สอง เด็กและบุคคลที่กำลังศึกษาเล่าเรียนอยู่ในสถาบันการศึกษาหรือสำเร็จการศึกษาแล้ว โดยบิดาหรือมารดาเป็นคนต่างด้าวอื่นที่ไม่ใช่ชนกลุ่มน้อยหรือกลุ่มชาติพันธุ์ตามข้อ 1 หรือไม่ปรากฏบิดามารดาหรือบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์

กลุ่มที่สาม ผู้ที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย ที่ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศ จนเป็นที่ประจักษ์

หลักเกณฑ์ทั่วไป

  1. มีหลักฐานแสดงว่าเกิดในราชอาณาจักร ได้แก่ สูติบัตร ทะเบียนการเกิด หนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๒๐/๑) หรือหนังสือรับรองสถานที่เกิด และต้องมีรายการบุคคลในทะเบียนบ้าน หรือทะเบียนประวัติตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร แล้วแต่กรณี
  2. ไม่ปรากฏหลักฐานการมีและใช้สัญชาติอื่น
  3. พูดและฟังภาษาไทยเข้าใจได้
  4. มีความจงรักภักดีและเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
  5. มีความประพฤติดี ไม่มีพฤติการณ์ที่เป็นภัยต่อความมั่นคง และถ้าเคยรับโทษคดีอาญา ต้องพ้นโทษมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันที่ยื่นคำร้องขอมีสัญชาติไทย เว้นแต่เป็นโทษสำหรับความผิด ที่ได้กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษ

หลักเกณฑ์เฉพาะกลุ่ม

กลุ่มแรก บิดาหรือมารดาที่อพยพเข้ามาในราชอาณาจักรและอาศัยอยู่เป็นเวลานานตามวรรคหนึ่ง ต้องมีหรือเคยมีชื่อและรายการบุคคลในทะเบียนประวัติหรือเอกสารการทะเบียนราษฎร มีเลขประจำตัว ประชาชน ๑๓ หลักตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร และต้องเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นเวลา ไม่น้อยกว่าสิบห้าปีนับถึงวันที่บุตรยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียนเพื่อขอมีสัญชาติไทย

กลุ่มสอง มีหลักฐานแสดงว่าจบการศึกษาระดับอุดมศึกษาหรือเทียบเท่าจากสถาบันการศึกษาในราชอาณาจักรซึ่งกระทรวงศึกษาธิการรับรองวิทยฐานะ แต่ถ้าเป็นผู้ที่เรียนจบการศึกษาระดับอุดมศึกษา หรือเทียบเท่าจากสถาบันในต่างประเทศจะต้องเป็นผู้ที่ได้รับทุนการศึกษาจากหน่วยงานของรัฐ สำหรับเด็กและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๓ (๑) – (๕) และอยู่ระหว่างการศึกษา ในสถาบันการศึกษา หากมีความจำเป็นต้องขอมีสัญชาติไทย ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงมหาดไทยหรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน สำหรับเด็กและบุคคลที่มีคุณสมบัติตามข้อ ๓ (๑) – (๕) และเป็นผู้ที่ไม่ปรากฏบิดามารดา หรือบิดามารดาทอดทิ้งตั้งแต่วัยเยาว์ ถ้าไม่จบการศึกษาตาม (๖) ต้องมีหนังสือรับรองความเป็นคนไร้รากเหง้า จากหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และต้องมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ ในราชอาณาจักรติดต่อกันไม่น้อยกว่าสิบปีนับถึงวันที่ผู้นั้นยื่นคำร้องต่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายทะเบียน เพื่อขอมีสัญชาติไทย

กลุ่มที่สาม เป็นผู้ที่ประกอบอาชีพสุจริตและทำคุณประโยชน์ต่อประเทศโดยมีผลงานหรือความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ประจักษ์ และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีหนังสือรับรองการทำคุณประโยชน์ หรือผลงานในสาขาต่าง ๆ จากส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐระดับกรมหรือเทียบเท่ากรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

(ก) การศึกษา หรือการกีฬา (ข) ศิลปวัฒนธรรม (ค) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ

(ง) สาขาที่ขาดแคลน หรือสาขาอื่น ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเห็นสมควร

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมใน (ไฟล์แนบ)

  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การสั่งให้คนที่เกิดในราชอาณาจักรและไม่ได้รับสัญชาติไทย โดยมีบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการให้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย
  • ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การสั่งให้บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่เกิดในราชอาณาจักรไทยโดยบิดาและมารดาเป็นคนต่างด้าวได้สัญชาติไทยเป็นการทั่วไป และการได้สัญชาติไทยเป็นการเฉพาะราย (ฉบับที่ ๒)