Skip to main content

5 กรกฎาคม 2560

นักวิชาการและผู้ประกอบการ เชื่อว่าการเพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงใน พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวปี 2560 จะเป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ แต่สวนทางกับอธิบดีกรมการจัดหางานที่เห็นว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้มีข้อดีหลายด้าน เพราะสามารถจัดการแรงงานข้ามชาติได้

วันนี้ (5 ก.ค.2560) ในการเสวนาหัวข้อ "พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2560 ปวงชนชาวไทยได้อะไร" นายวรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน ชี้แจงเหตุผลที่ต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการ เนื่องจากพยายามแก้ปัญหาแรงข้ามชาติทั้งระบบมาแล้วในหลายรัฐบาลแต่ไม่สำเร็จ ไม่มีระบบรองรับที่ได้มาตรฐานและการนำเข้าแรงงานยังมีข้อบกพร่อง

พร้อมกันนี้ยืนยันว่า การเพิ่มโทษที่สูงขึ้นเพื่อจัดระเบียบการจ้างงานให้ถูกต้อง ไม่เชื่อว่าจะเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์ หรือเอื้อประโยชน์ให้กับคนบางกลุ่ม

“ข้อสังเกตการเพิ่มโทษยิ่งสูงจะยิ่งทำให้การเรียกรับผลประโยชน์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ผมว่ามองได้ 2 มุม ซึ่งมุมนี้ผมก็ไม่ได้ปฏิเสธ แต่ต้องมองอีกมุมว่า ถ้าจะต้องไปเสียเงินแพงๆ กับการที่เอาเงินจำนวนนั้น มาดำเนินการให้เข้าระบบให้ถูกต้อง ก็อาจเป็นตัวเร่งตัวหนึ่งที่ทำให้วัตถุประสงค์กฎหมายบรรลุได้เร็วขึ้น” นายวรานนท์ ระบุ

ขณะที่ รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ ที่ปรึกษาศูนย์พัฒนาแรงงานและการจัดการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่าการเพิ่มโทษที่สูงขึ้นจะเป็นช่องทางในการเรียกรับผลประโยชน์ และการออก พ.ร.ก.ยังไม่รอบคอบเท่าที่ควร รวมถึงยังไม่มีกระบวนการสร้างความเข้าใจ จึงต้องออกมาตรา 44 เพื่อชะลอการบังคับใช้กฎหมาย

“มันไม่เป็นเหตุเป็นผล ทุกคนก็จะลงใต้ดินหมด ถ้าคุณมีภาษีสูงๆ คุณก็จะหนีภาษีเยอะ ภาษีต่ำคนก็ไม่ค่อยหนีภาษี ถ้าคุณไม่ต้องการเสียมาก สมมุติว่าคุณโดนตำรวจจราจรเรียก แล้วให้ไปเข้าสู่กระบวนการศาล กระบวนการศาลมันสิ้นเปลืองมากกว่าที่จะคุยกับตำรวจ ถูกป่าว เพราะฉะนั้น ถ้ากระบวนการมันลำบาก มันแพง มันก็เปิดช่องให้มีการคอรัปร์ชัน” รศ.แล กล่าว

นายเสรี ชื่นแสน ผู้ประกอบการบริษัทรับเหมาก่อสร้าง เปิดเผยว่า แม้จะเห็นด้วยกับการจัดระเบียบแรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่การเพิ่มโทษที่สูงขึ้นทั้งกับนายจ้างและลูกจ้าง เป็นช่องทางเรียกรับผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่ได้ ขณะเดียวกันยังเสนอให้กำหนดรายละเอียดขอบเขตการทำงานในใบอนุญาตแรงงานที่เป็น "กรรมกร" ว่าสามารถทำงานส่วนใดได้หรือไม่ได้ เพราะพบปัญหาการจดทะเบียนแรงงานผิดประเภท

 “ประเด็นที่หนึ่งก็คือ ปรับแรงๆ 4 แสน 8 แสน ในความคิดเห็นส่วนตัวของผม ไม่ได้ผลนะ มันกลับเป็นการเตะหมูเข้าปากหมามากกว่า เจ้าของกฎหมายคือกระทรวงแรงงาน กระทรวงแรงงาน ประกาศ พ.ร.ก.วันที่ 22 มีผลบังคับใช้วันที่ 23 กระทรวงแรงงานยังไม่ขยับตัวเลย ก็มีบุคคลกลุ่มหนึ่งกล่าวอ้างตัวเองว่าเขาคือเจ้าหน้าที่ ไปเรียกรับผลประโยชน์แล้ว” นายเสรี ระบุ

ด้านนายสมพงค์ สระแก้ว ผู้อำนวยการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน เชื่อว่า พ.ร.ก.ฉบับนี้จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานผิดกฎหมายได้ ทั้งปัญหาค้ามนุษย์ในแรงงานภาคประมง การละเมิดสิทธิแรงงาน การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานบังคับ

เตรียมเปิดศูนย์แจ้งใช้แรงงานข้ามชาติเดือน ก.ค.นี้

กรมการจัดหางาน เตรียมเปิดศูนย์แจ้งการใช้แรงงานข้ามชาติภายในเดือนนี้ เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างยืนยันตัวตนว่ามีการจ้างงานกันจริง และกรมการจัดหางานจะคัดกรองการขออนุญาตทำงานต่อไป โดยจะเปิดในทุกจังหวัดและในกรุงเทพมหานคร 10 แห่ง ระยะชั่วคราว 15 วัน ทำหน้าที่ลงทะเบียนคัดกรองแรงงานและทำเอกสารรับรอง เพื่อให้นายจ้างและลูกจ้างมาลงทะเบียน โดยที่ลูกจ้างไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง แต่จะมีการประสานข้อมูลกันระหว่างทางการไทยกับประเทศต้นทาง

ที่มา https://news.thaipbs.or.th/content/264110