30 มิถุนายน 2560
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว ตามข้อเสนอของกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงแรงงานโดยเฉพาะการป้องกันการขยายตัวของปัญหาที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานหรือการกระทำอันเป็นการค้ามนุษย์ต่อคนต่างด้าว โดยให้มีผลบังคับใช้วันที่ 23 มิถุนายน 2560
หลังมีการประกาศใช้แล้ว ทางเครือข่ายสมาชิกประชากรข้ามชาติ ได้รับแจ้งจากฝ่ายลูกจ้างและนายจ้างถึงกระบวนการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากมีการกำหนดมาตรการทางกฎหมายเพิ่มเติมหลายประการจากกฎหมายเดิมได้แก่ พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2551 และพระราชกำหนดการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ.2559 โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทกำหนดโทษทั้งสำหรับนายจ้างและลูกจ้างที่มิได้มีการจ้างงานหรือทำงานตามเงื่อนไขของกฎหมายในลักษณะที่สูงขึ้น จนนำสู่การสร้างความสับสนทั้งฝ่ายลูกจ้าง นายจ้าง และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติในการแก้ไขปัญหากระบวนการจ้างงานทั้งระบบภายใต้กฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ โดยเครือข่ายฯพบว่า นายจ้างเริ่มละทิ้งลูกจ้างตัวเอง ลูกจ้างถูกกวาดล้างจับกุมโดยเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมตัวและส่งกลับเป็นจำนวนมาก รวมทั้งการอาศัยช่องทางของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายในการพยายามเรียกรับเงินจากทั้งตัวแรงงานและนายจ้าง ดังนั้น เครือข่ายประชากรข้ามชาติจึงขอเรียกร้องให้รัฐดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการวางมาตรการด้านกระบวนการจ้างแรงงานแทนการปราบปรามแรงงาน อันเนื่องมาจากความไม่ชัดเจนด้านนโนบายของการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ และไม่สอดคล้องกับสภาพรากเหง้าของปัญหาการจ้างงาน ดังต่อไปนี้
1. การตราพระราชกำหนดฉบับนี้ อาศัยช่องทางตามมาตรา 172 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่บัญญัติไว้ให้คณะรัฐมนตรีสามารถออกพระราชกำหนดได้ในกรณี”เพื่อ ประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ…” โดยอยู่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะ “เป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้”
เครือข่ายประชากรแรงงานข้ามชาติเห็นว่า กรณีการจัดการแรงงานต่างด้าว มิได้เป็นหนึ่งใน “กรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้” ซึ่งจำเป็นต้องตราเป็นพระราชกำหนด ประกอบกับแนวทางการตราพระราชกำหนดภายใต้เงื่อนไขดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้า จะเห็นได้ชัดว่าฝ่ายบริหารหรือคณะรัฐมนตรีจะใช้ช่องทางนี้อย่างจำกัด เเละเป็นข้อยกเว้นเฉพาะประเด็นที่เสี่ยงต่อความมั่นคงของประเทศด้านอื่น
ดังนั้นรัฐบาลควรพิจารณาเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆอย่างรอบด้าน รวมถึงการออกงานวิชาการออกมารองรับ เพื่อนำไปสู่กระบวนการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐในการบัญญัติกฎหมายให้ครอบคลุมการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวได้ทั้งระบบและการส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างเเท้จริง
2. เครือข่ายประชากรเเรงงานข้ามชาติเห็นว่านิตินโยบายของกฎหมายฉบับนี้ มีบทลงโทษมากกว่ากฎหมายทุกฉบับที่ผ่านมา ซึ่งการที่รัฐมีมาตรการในการเพิ่มโทษ เช่น การเพิ่มจำนวนเงินค่าปรับ หรือโทษจำคุก อาจจะยิ่งเป็นช่องทางในการทำผิดกฎหมาย การทุจริตในวงราชการ รวมทั้งส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการที่จ้างแรงงานข้ามชาติ ในขณะที่แนวทางในการจัดการเพื่อให้เกิดการขออนุญาตทำงานอย่างถูกต้อง เช่น การนำเข้า MoU จากประเทศต้นทางยังมีปัญหาการดำเนินการที่เอื้อต่อการจ้างงาน นอกจากนี้กระบวนการลงโทษระหว่างลูกจ้างและนายจ้างยังมีความแตกต่างกัน เช่น กรณีลูกจ้างทำงานโดยไม่มีใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกหรือปรับ กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืน กำหนดบทลงโทษไว้เฉพาะโทษปรับ อาจจะกลายเป็นประเด็นในการเลือกปฏิบัติอีกได้ด้วย เครือข่ายฯขอเรียกร้องให้รัฐทบทวนมาตราการบทลงโทษที่มีมาตรการรุนแรง โดยเฉพาะให้ยกเลิกจำคุกโดยทันที
3. ยุติมาตรการของเจ้าหน้าที่ในการกวาดล้าง จับกุมแรงงานข้ามชาติ และกำหนดนโยบายและมาตการในการปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ในท้องที่ต่างๆปฏิบัติเป็นแนวเดียวกันอย่างเป็นเอกภาพ ออกประกาศ แจ้งให้หน่วยงานด้านความมั่นคงและฝ่ายพลเรือนที่เกี่ยวข้องระมัดระวังในการดำเนินการปราบปรามกลุ่มแรงานที่ขณะนี้กระบวนการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติมีความเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน โดยที่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องกับการออกกฎหมายยังมิได้มีการทำความเข้าใจถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย และแรงงานจำนวนมากยังอยู่ในระหว่างปรับสถานะด้านการเข้าเมืองและสิทธิการทำงาน การอาศัยอยู่ จึงทำให้แรงงานกลุ่มดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงอย่างมากในการถูกกวาดล้างและจับกุม
4. ออกมาตรการด่วนที่จะสร้างความมั่นใจต่อแรงงานข้ามชาติ และผู้ประกอบการว่ามาตรการการจัดระบบแรงงานข้ามชาติจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน เพื่อยับยั้งการไหลออกของแรงงาน สืบเนื่องจากมีกระแสข่าวการปิดล้อมจับกุมแรงงานข้ามชาติ ในหลายพื้นที่ ดังที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2557
5. ขอให้พิจารณาข้อเสนอของเครือข่ายประชากรข้ามชาติ ที่ยื่นถึงนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ซึ่งทางเครือข่ายฯได้รวบรวมไว้จากเวทีแสดงความคิดเห็นต่อร่างพระราชกำหนด เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2560 โดยมีผู้เข้าร่วมซึ่งเป็นตัวแทนของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ได้แก่ ตัวแทนผู้ประกอบการ ตัวแทนลูกจ้าง สภาอุตสาหกรรม ฝ่ายวิชาการ ผู้นำแรงงาน องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
———————————————————————-
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายประชากรข้ามชาติ โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมลล์ [email protected]