Skip to main content

 

14 มิถุนายน 2564

แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

เรียกร้องรัฐบาลยกเลิกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน

วันนี้ (14 มิถุนายน) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ ส่งหนังสือถึง เลขาธิการคณะรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรียกร้องให้ยกเลิกร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันพ.ศ.….. สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 อนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นจากประชาชน 

            เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group- MWG)  ซึ่งมีสมาชิกเครือข่ายที่เป็นองค์กรภาคประชาสังคมทั้งองค์กรในประเทศและองค์กรระหว่างประเทศกว่า 30 องค์กร รวมตัวกันจากการที่องค์กรสมาชิกเห็นตรงกันถึงความไม่เป็นธรรมของนโยบายการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติโดยใช้ระบบประกันตัวเมื่อปี 2549  โดยเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีเป้าหมายให้ประชากรข้ามชาติได้รับ/เข้าถึงการคุ้มครองสิทธิ และมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเคารพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดระยะเวลาการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมามีการแลกเปลี่ยนข้อมูล วิเคราะห์ปัญหา กำหนดประเด็นเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนเชิงนโยบายร่วมกันกับกระทรวงแรงงานและภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม ในประเด็นหลัก 3 ประเด็น ได้แก่ สุขภาพ การศึกษา กลไกความยุติธรรม การคุ้มครองทางสังคม และสิทธิแรงงานของประชากรข้ามชาติทั่วประเทศไทย

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติทำงานอย่างแข็งขันในฐานะหุ้นส่วนร่วมกับกระทรวงแรงงาน โดยผลงานที่เป็นที่ประจักษ์ที่ผ่านมา การรณรงค์ประเทศไทยให้สัตยาบันอนุสัญญาการทำงานในภาคประมง (C188) อนุสัญญาฉบับที่ 29 ว่าด้วยการเกณฑ์แรงงานหรือแรงงานบังคับพ.ศ.2473 (ค.ศ.1930) (P29) การร่วมพัฒนากฎหมายในประเทศให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองแรงงานสากลตามมาตรฐานองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ เช่น  พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2561และ 2562 เป็นต้น นอกจากนี้เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติยังมีบทบาทในการลดช่องว่างเพื่อให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงบริการจากภาครัฐ เช่นประกันสังคม กลไกร้องเรียนของกระทรวงแรงงาน ผ่านศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว พนักงานตรวจแรงงาน และการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ประมง อีกด้วย ซึ่งจากที่กล่าวมาข้างต้นปรากฎเป็นที่ประจักษ์ในรายงานการค้ามนุษย์ที่รัฐบาลไทยจัดทำส่งรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการอ้างถึงผลการทำงานอย่างเป็นหุ้นส่วนกับองค์กรภาคประชาสังคมอันส่งผลให้ประเทศไทยได้รับการยกเลิกใบเหลืองการทำประมงผิดกฎหมายโดยสหภาพยุโรปและภาพลักษณ์ของประเทศไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติมากยิ่งขึ้น   

การที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญญัติฯฉบับดังกล่าวนั้น  เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติมีข้อกังวลต่อเสรีภาพในการดำเนินกิจกรรมขององค์กรพัฒนาเอกชน ได้แก่ การควบคุมและจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการสมาคม การบังคับใช้กฎหมายอย่างเลือกปฏิบัติ การเปิดเผยแหล่งเงินทุนและความเป็นส่วนตัวขององค์กร และการเพิกถอนทะเบียนและการลงโทษทางอาญา อีกทั้งร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังขัดต่อหลักการมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศตามอนุสัญญาฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว (Freedom of Association and Protection of the Right to Organise) ค.ศ. 1948 และอนุสัญญาฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง (Right to Organise and Collective Bargaining)  ค.ศ. 1949 ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนที่กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างการพิจารณารับรองอนุสัญญาฯ เร่งสร้างความเชื่อมั่นต่อประชาคมโลกว่าประเทศไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับสิทธิพื้นฐานของแรงงานตามมาตรฐานสากล ซึ่งประเด็นเรื่องสิทธิพื้นฐานของแรงงานมีส่วนที่ทำให้ประเทศไทยต้องสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลกอย่างเช่นกรณีที่ประเทศไทยถูกตัดสิทธิพิเศษด้านภาษีศุลกากรสินค้า (จีเอสพี) โดยสหรัฐอเมริกามาแล้ว   เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติยังเห็นว่ากระบวนการจัดทำร่างพระราชบัญญัตินี้ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ของมาตรา 77 แห่งพระราชบัญญัติของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 และ พระราชบัญญัติหลักเกณฑ์การจัดทำร่างกฎหมายและการประเมินผลสัมฤทธิของกฎหมาย พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดจากกฎหมาย ทั้งนี้  เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอร่างกฎหมายของรัฐบาล

ดังนั้น เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเพิกถอนร่างพระราชบัญญัติ ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกันพ.ศ.…..เนื่องจากร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวมุ่งเน้นการเพิกถอนสิทธิการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการกำหนดทิศทางและนโยบายสาธารณะโดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและสังคมและไม่ก่อให้เกิดการส่งเสริมตามหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน และเป็นปรปักษ์ต่อหลักเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวและการร่วมเจรจาต่อรอง ซึ่งเป็นสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน  

ด้วยความเชื่อมั่นในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

-------------------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ นายอดิศร  เกิดมงคล ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมลล์ [email protected] , [email protected]