11 ธันวาคม 2564
แถลงการณ์เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเร่งหาทางช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมทั้ง 7 คน และยุติการดำเนินคดีนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทันที
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 เวลาประมาณ 14.00 น. นางสาวธนพร วิจันทร์ พร้อมทนายความ เดิน
ทางเข้าพบพนักงานสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลดินแดน ตามหมายเรียกผู้ต้องหา ครั้งที่ 1 ลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 โดยมีกองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองแรงงาน โดยนายณฐกร จานเขื่อง กล่าวหาว่า “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเหลือ หรือช่วยด้วยประการใดๆ..” พนักงานสอบสวนได้แจ้งว่ามีผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงแรงงานจำนวน 4 ราย ได้แก่ นายณฐกร จานเขื่อน นายถิรพัฒน์ เจตินัย นายนิรัตน์ เวชนุสิทธิ และนายสกลนธพิชญ์ ปวงกลาง ว่านางสาวธนพร วิจันทร์ กระทำความผิดฐานช่วยเหลือ ซ่อนเร้นแรงงานต่างด้าว พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการสืบสวนตามข้อกล่าวหาด้วยการ ทำหนังสือถึงสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขอให้ชะลอการส่งกลับแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาจำนวน 7 ราย ที่อยู่ในการควบคุมของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเพื่อสอบปากคำพยานเกี่ยวกับเหตุการณ์การที่แรงงานถูกจับกุมในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ณ กระทรวงแรงงาน และผลการสอบปากคำ พบว่าแรงงานทั้ง 7 คน ไม่รู้จักนางสาวธนพร และเดินทางมาที่กระทรวงแรงงานด้วยตนเอง ดังนั้นข้อกล่าวหาที่แจ้งโดยผู้รับมอบอำนาจจากกรมการจัดหางานจึงไม่ครบองค์ประกอบของการกระทำความผิด พนักงานสอบสวนแจ้งแจ้งข้อกล่าวหาต่อนางสาวธนพรใหม่ในฐานความผิด “ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่เฝ้าระวังสูง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน 2548 ฉบับที่ 11”
นางสาวธนพรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เนื่องจากก่อนวันเกิดเหตุ (วันที่ 28 ตุลาคม 2564) นางสาวธนพร ผู้แทนสหภาพคนทำงาน ได้ทำการแจ้ง นายวรรณรัตน์ ศรีสุกใส รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (ตำแหน่ง ณ ขณะนั้น) กระทรวงแรงงาน ด้วยตนเองว่าในวันที่ 29 ตุลาคม ตนและเครือข่ายสหภาพคนทำงาน จะมายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้ากรณีที่ตัวแทนแรงงานทำหนังสือถึงกระทรวงแรงงานเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2564 เกี่ยวกับการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติและสิทธิของแรงงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
จากนั้นวันที่ 29 ตุลาคม นางสาวธนพร ตัวแทนสหภาพคนทำงาน เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และตัวแทนแรงงานข้ามชาติ รวมประมาณ 30 คน จึงเดินทางไปยังกระทรวงแรงงานและยื่นหนังสือโดยมีรองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกระทรวงแรงงานเป็นผู้แทนกระทรวงแรงงานมารับหนังสือ ผู้แทนกระทรวงแรงงานเชิญผู้แทนผู้มายื่นหนังสือเข้าไปในห้องประชุมเพื่อพูดคุยหารือในรายละเอียดประมาณ 4-5 คน ส่วนแรงงานที่เหลือรออยู่ด้านนอกบริเวณใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงาน
(https://www.labour.go.th/index.php/60828-2021-10-29-09-56-02 ) ในระหว่างการประชุมหารือนั้นปรากฎว่ามีเจ้าหน้าที่มาแสดงตัวและดำเนินการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่รออยู่บริเวณใต้ถุนประกระทรวงแรงงานและจับกุมแรงงานข้ามชาติไปทั้งสิ้น 7 ราย(อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
https://mwgthailand.org/th/press/1635685831 )
นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ผู้ประสานงานโครงการเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เห็นว่า กระทรวงแรงงานเป็นกลไกการร้องเรียนซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในกระบวนการความยุติธรรม ดังนั้น พื้นที่นี้ต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยโดยไม่เลือกปฎิบัติด้วยเหตุทางเชื้อชาติ หรือสถานะบุคคลตามกฎหมายเพื่อให้บุคคลเข้าถึงกลไกการร้องเรียนและความยุติธรรมอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค ทั้งนี้ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 68 ซึ่ง “รับรองสิทธิของประชาชนในการเข้าถึง ความยุติธรรมไว้ว่ารัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพเป็นธรรม และ ไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็วและไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร” รวมทั้งให้สอดคล้องตามเป้าหมายที่กระทรวงแรงงานมีพันธกิจเพื่อให้เกิดการเคารพและเยียวยาตามแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนที่รัฐบาลนำโดยนายกรัฐมนตรีได้ให้คำมั่นโดยสมัครใจและตอบรับข้อเสนอแนะของประเทศสวีเดนในการประชุมเพื่อทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยตามกระบวนการ UPR รอบที่ 2 สมัยที่ 25 ณ นครเจนีวา นางสาวธรพรเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านแรงงานและถูกกระทรวงแรงงานแจ้งข้อหาอย่างไม่ยุติธรรมถือว่าเป็นการคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อันเป็นการละเมิดต่อปฏิญญาว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและขัดต่อแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติจึงขอเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานเร่งหาทางช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่ถูกจับกุมทั้ง 7 คน ได้รับการปล่อยตัวและเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนแรงงานตามนโยบายของกระทรวงที่ได้ขอมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไว้วันที่ 28 กันยายน 2564 โดยเร็วและยุติการดำเนินคดีนางสาวธนพร วิจันทร์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทันที
“แรงงานข้ามชาติ คือแรงงาน
สิทธิแรงงาน คือ สิทธิมนุษยชน”
เครือข่ายประชากรข้ามชาติ
Attachment | Size |
---|---|
แรงงานข้ามชาติ นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (96.07 KB) | 96.07 KB |