7 มกราคม 2565
ใบแจ้งข่าว
อัยการยื่นฟ้องนักสหภาพแรงงาน ฐานฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน จากกรณีไปยื่นหนังสือที่กระทรวงแรงงาน เรื่องนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ
เมื่อวันที่ 6 มกราคม 2565 เวลา 14.00 น. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 (สำนักงานอัยการสูงสุด) ได้ยื่นฟ้องนางสาวธนพร วิจันทร์ นักสหภาพแรงงาน ฐาน“ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่เฝ้าระวังสูง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน 2548” และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยการทำสัญญาประกันแทนการวางหลักทรัพย์
คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2564 นางสาวธนพร วิจันทร์ ตัวแทนลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติเครือข่ายช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานจากสหภาพคนทำงาน (Workers’Union) เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group) และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน (Labour Network for Peoples Rights) ได้เดินทางไปยังกระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เรื่อง ติดตามการดำเนินการตามข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาในกลุ่มแรงงานก่อสร้างและแรงงานข้ามชาติระหว่างการระบาดของโควิด 19 รวมทั้งเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการเข้าสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนตามนโยบายของรัฐที่ขาดความชัดเจน และแนวทางการดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนของรัฐตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 อย่างไรก็ตามกระบวนการยื่นหนังสือและหารือกับผู้แทนกระทรวงแรงงานได้ยุติลงเมื่อแรงงานข้ามชาติชาวกัมพูชาที่มาร่วมยื่นหนังสือได้ถูกจับกุมตัวภายในบริเวณพื้นที่ของกระทรวงแรงงาน
ภายหลังเกิดเหตุกระทรวงแรงงานได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจดินแดงดำเนินคดีต่อนางสาวธนพรฐาน “ช่วยซ่อนเร้น ช่วยเหลือ หรือช่วยด้วยประการใดๆ..” และจากการสอบสวนพนักงานสอบสวนพบว่าไม่ฐานความผิดดังกล่าวไม่ครบองค์ประกอบความจริงจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมฐาน“ร่วมกันจัดให้มีการชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุม ที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด พื้นที่เฝ้าระวังสูง เว้นแต่กรณีได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดซึ่งออกตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน 2548” (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://mwgthailand.org/th/press/1639313642 )
นางสาวธนพร พร้อมทนายความได้เดินทางเข้าพบพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 2 (สำนักงานอัยการสูงสุด) เพื่อยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมให้ต่อพนักงานอัยการพิจารณามีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีเนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องลักษณะฟ้องปิดปากต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (A Strategic Lawsuit Against Public Participation หรือ SLAPP) ซึ่งใช้กลไกการร้องเรียนต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามสิทธิที่ได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญ อีกทั้ง การยื่นหนังสือในวันเกิดเหตุดังกล่าวได้ประสานงานแจ้งต่อผู้แทนกระทรวงแรงงานไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นกระทรวงแรงงานจึงมีหน้าที่ในการดำเนินการตามมาตรฐานการควบคุมโรคเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 พนักงานอัยการรับหนังสือขอความเป็นธรรมไว้แต่มิได้มีการพิจารณาคำร้องของนักสหภาพแรงงานที่ขอให้มีการทบทวนต่อการดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมแต่อย่างใด
นางสาวคอรีเยาะ มานุแช ทนายความให้ความเห็นว่านางสาวธนพร เป็นนักปกป้องสิทธิด้านแรงงานซึ่งนำแรงงานผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิมาร้องเรียนตามกลไกการร้องของรัฐแต่กลับถูกรัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อปิดกั้นการเข้าถึงความยุติธรรมอันเป็นการถูกละเมิดซ้ำโดยกฎหมาย และเรียกร้องให้กลไกการร้องเรียนของรัฐเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้แรงงานทุกคนเข้าถึงโดยเสมอภาค นางสาวคอรีเยาะให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าพนักงานอัยการสามารถใช้ดุลพินิจในการสั่งไม่ฟ้องคดีในคดีที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะได้ แต่ในกรณีนี้พบว่าพนักงานอัยการได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและความผิดตามมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการฉุกเฉิน 2548 ถูกใช้อย่างกว้างขว้างและบิดเบือนโดยมุ่งดำเนินคดีต่อนักปกป้องสิทธิหรือประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพื่อการควบคุมโรคตามที่กล่าวอ้าง
----------------------------------------------------------------------------------------------
“การใช้กลไกของรัฐ ถือเป็นการเข้าถึงพื้นทีทางสังคมที่ปลอดภัยของผู้ได้รับผลกระทบ ไม่ควรถูกทำให้เป็นอาชญากรรม”
สอบถามเพิ่มเติม คอรีเยาะ มานุแช ทนายความ และผู้ประสานงานเครือข่ายประชากรข้ามชาติ 091 838 6265