บทวิเคราะห์ฉบับนี้เป็นการประเมินการยกร่างพระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่กระบวนการนิติบัญญัติ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก และผลกระทบจากข้อเสนอที่ต้องการผ่อนปรนข้อบังคับหลายประการ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของโลกจึงถูกจับตามองอย่างเข้มงวดจากนานาชาติเพื่อให้มีการควบคุมอุตสาหกรรมประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานที่ยั่งยืน ถูกกฎหมาย เป็นธรรม และมีความโปร่งใสทั้งในด้านสิ่งแวดล้อมและแรงงาน อย่างไรก็ตามกระบวนการร่างกฎหมายในปัจจุบันกลับเผยให้เห็นปัญหาด้านกฎระเบียบอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นผลมาจากอิทธิพลของภาคประมงเชิงพาณิชย์ที่ต้องการเพิกถอนกฎระเบียบอย่างกว้างขวางในอุตสาหกรรม
ข้อเสนอให้ยกเลิกกฎระเบียบหลายประการได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคมไทย นักวิชาการ หน่วยงานรัฐบาล และประชาคมโลก นอกจากนี้ยังสร้างความกังวลอย่างมากในหมู่ผู้ซื้ออาหารทะเลระดับโลก หน่วยงานรัฐบาล และสถาบันต่าง ๆ หากไม่มีมาตรการรับมือที่เข้มแข็ง ข้อเสนอเหล่านี้อาจทำลายความก้าวหน้าที่สั่งสมจากการปฏิรูปการประมงที่ก้าวหน้ามาตลอดหลายปีที่ผ่านมา รวมถึงทำลายความเชื่อมั่นของประเทศไทยในตลาดอาหารทะเลโลกอีกครั้ง ข้อเสนอตั้งต้นที่อาจนำไปสู่การถดถอยของภาคการประมงในร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ อาทิ
· ยกเลิกมาตรการคุ้มครองแรงงานในภาคการแปรรูปอาหารทะเล (มาตรา 10/1, 11, 11/1)
· การอนุญาตใช้อวนล้อมจับช่องตาอวนขนาดเล็กล่อด้วยการปั่นไฟในเวลากลางคืน (มาตรา 69)
· อนุญาตการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเลระหว่างเรือประมงได้อีกครั้ง (มาตรา 85/1)