Skip to main content
จดหมายเปิดผนึก: เรื่อง มาตรการตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และบริการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เลขที่ MWG005/2020

วันที่10 เมษายน 2563

เรื่อง มาตรการตรวจสุขภาพ ประกันสุขภาพ และบริการด้านสุขภาพแรงงานข้ามชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เรียน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข

สำเนาถึง

  • นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข
  • นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค
  • นพ.วัฒน์ชัย จรูญวรรธนะ ผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ

เนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ได้เห็นชอบให้มีผ่อนปรนแนวทางการบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าวปี 2562 – 2563 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 โดยให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนร์มา ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 ซึ่งนายจ้างหรือผู้ได้รับอนุญาตให้นำคนต่างด้าวมาทำงานที่ได้ยื่นบัญชีรายชื่อ(Name list)ความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวกับเจ้าหน้าที่ในสังกัดกระทรวงแรงงาน หรือยื่นผ่านระบบออนไลน์ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 เรียบร้อยแล้ว แต่ไม่สามารถดำเนินการขอตรวจอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวต่อไปเพื่อการทำงานได้ทันภายในกำหนด รวมถึงผู้ติดตาม ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 

จากการดำเนินการที่ผ่านมา พบว่ายังมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ยังไม่ได้ไปดำเนินการตรวจและประกันสุขภาพ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บางสถานพยาบาลไม่สามารถดำเนินการตรวจและประกันสุขภาพได้ทัน ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวจะสิ้นสุดลงใน วันที่ 31 มีนาคม 2563 แต่ยังติดเงื่อนไขไม่สามารถจะไปดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพได้ทัน ประกอบกับมติคณะรัฐมนตรีผ่อนปรนการดำเนินการออกไป ส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ จะไม่มีหลักประกันสุขภาพตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป นอกจากนี้ในปัจจุบัน สถานพยาบาลจำนวนมากอยู่ในช่วงดำเนินการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และให้การรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้มีข้อจำกัดไม่สามารถดำเนินการตรวจและประกันสุขภาพให้แรงงานข้ามชาติ อีกทั้งกระบวนการตรวจและประกันสุขภาพยังเป็นการทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มขึ้นไปอีก

ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ มีข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อสถานการณ์ดังกล่าวดังนี้ 

  1. กระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาดำเนินการออกแนวปฏิบัติให้มีการขยายสิทธิสำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการตรวจและประกันสุขภาพได้ทันภายในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ให้ยังสามารถใช้สิทธิประกันสุขภาพชั่วคราวออกไปก่อนแต่ไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2563 และเมื่อดำเนินการตรวจสุขภาพและประกันสุขภาพแล้วเสร็จ ให้ถือว่าสิทธิประกันสุขภาพเริ่มต้นคุ้มครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2563 เป็นต้นไป ตามแต่ระยะเวลาที่ซื้อประกันสุขภาพ นอกจากนี้เพื่อลดภาระในการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขควรพิจารณาขยายอายุใบรับรองแพทย์สำหรับผลการตรวจสุขภาพของแรงงานต่างด้าวให้มีผลถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายสิทธิประกันสุขภาพชั่วคราวข้างต้น
  2. ในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การเข้าใช้บริการในโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป อาจจะมีความไม่สะดวกและเป็นอุปสรรคต่อทั้งสถานพยาบาลที่ให้บริการและผู้ประกันตนต่างด้าว กระทรวงสาธารณสุขควรมีแนวทางการกระจายการให้บริการไปยังศูนย์บริการในระดับชุมชน เช่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ศูนย์บริการสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร เป็นต้น รวมถึงขยายกลไกการให้บริการทางด้านสุขภาพและการเฝ้าระวังโรคโควิด-19 ให้ครอบคลุมถึงหน่วยบริการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อาสาสมัครสาธารณสุขต่างด้าว และหน่วยงานภาคประชาสังคมในพื้นที่ ทั้งนี้ควรพิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณบางส่วนในการบริการให้แก่ศูนย์บริการในระดับพื้นที่ดังกล่าว 
  3. กระทรวงสาธารณสุขควรออกแนวปฏิบัติในกรณีแรงงานข้ามชาติและประชากรข้ามชาติ เป็นผู้ป่วยโรคโควิด-19 ให้สามารถดำเนินการเข้ารับการรักษา และสถานพยาบาลสามารถเบิกตามกองทุนประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าว/คนต่างด้าว กองทุนประกันสังคม หรือกองทุนประกันสุขภาพบุคคลที่มีปัญหาสถานะและสิทธิ ตามแต่กรณี เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการต่อไป 
  4. ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขได้อย่างทันท่วงทีเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขควรมีมาตรการในการให้บริการที่ระบุชัดเจนว่าทุกคนที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะมีสถานะทางกฎหมายอย่างไร สัญชาติอะไร มีประกันสุขภาพหรือไม่ จะต้องสามารถเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขทั้งในเรื่องการส่งเสริมสุขภาพ การเฝ้าระวังป้องกันโรค และการรักษาพยาบาล ได้อย่างครอบคลุม เท่าเทียม ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน และปราศจากความกังวลถึงมาตรการทางกฎหมายที่อาจจะตามมาหลังจากเข้ารับบริการด้านสุขภาพตามหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน
  5. กระทรวงสาธารณสุขต้องสร้างความมั่นใจกับบุคลากรทางสาธารณสุขว่า การปฏิบัติการการช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติ หรือประชากรข้ามชาติ เจ้าหน้าที่แพทย์ บุคคลากรทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เมื่อปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงาน หรือประชากรข้ามชาติที่ เข้าตรวจ รักษา จากการติดเชื้อไวรัสโควิค 19 แล้วนั้น จะไม่มีผลความผิดทางกฎหมาย แนวปฏิบัติใดๆที่เป็นข้อห้าม หรือเอาผิดดำเนินคดี ย้อนหลังกับผู้ช่วยเหลือได้

จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา 

ขอแสดงความนับถือ

อดิศร เกิดมงคล

ผู้ประสานงาน

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ 

โทรศัพท์ 089 788 7138 หรืออีเมล์ [email protected]