Skip to main content
จดหมายเปิดผนึก: เรื่อง มาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา

จดหมายเปิดผนึก

27 เมษายน 2563

 

เรื่อง

มาตรการป้องกันและดูแลกลุ่มประชากรข้ามชาติ จากกรณีพบผู้ป่วยต่างชาติในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา

เรียน

1. นายกรัฐมนตรี
2. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
3. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

จากสถานการณ์การพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ชาวต่างชาติในห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองสะเดา จังหวัดสงขลา จำนวน  42 คน แบ่งเป็น ชาวเมียนมา 34 คน เวียดนาม 3 คน มาเลเซีย 2 คน เยเมน 1 คน กัมพูชา 1 คน และอินเดีย 1 คน และยังมีผู้ต้องกักในห้องกักอีก 73 คนที่ไม่ติดเชื้อ นับว่าเป็นพบการระบาดของโรคโควิดในพื้นที่ห้องกักเป็นครั้งแรกของประเทศไทย จึงถือเป็นกรณีเฉพาะในการเข้าไปสอบสวนโรคและให้การรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ดี การแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่วนหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึงข้อจำกัดในการป้องกันการระบาดในสถานกักกันของรัฐอยู่พอสมควร ทั้งนี้เนื่องจากห้องกัก เป็นสถานที่กักในระยะสั้นเพื่อรอการผลักดันส่งกลับ ซึ่งในปัจจุบันอาจจะทำได้ล่าช้าเนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน อีกทั้งยังมีผู้ต้องกักอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้เนื่องจากภัยอันตรายต่อชีวิตและยังขาดมาตรการทางเลือก ทำให้ผู้ต้องกักต้องถูกกักในห้องกักเป็นเวลาหลายปี นอกจากนี้ห้องกักไม่ได้มีพื้นที่ที่กว้างขวางมากพอสำหรับผู้ต้องกักจำนวนมากในการเว้นระยะห่างทางกายภาพตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 รวมทั้งมาตรการทางด้านสุขภาพในห้องกักอาจจะมีความแตกต่างและขาดมาตรการในการดูแลและป้องกันโรคเมื่อเทียบกับพื้นที่อื่นๆ  

ซึ่งในกรณีนี้ย่อมแตกต่างกับการดูแลและเฝ้าระวังป้องกันโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติทั่วไปซึ่งประเทศไทยมีมาตรการในการให้การดูแลด้านสุขภาพทั้งในเรื่องประกันสุขภาพ/ประกันสังคม การดำเนินการในด้านการส่งเสริมป้องกันและการควบคุมโรคอย่างต่อเนื่อง โดยมีกลไกการทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุขและภาคประชาสังคม รวมถึงแรงงานข้ามชาติในการสร้างระบบอาสาสมัครด้านสาธารณสุขในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ การมีล่ามหรือพนักงานสาธารณสุขต่างด้าวในหลายๆ สถานพยาบาล ซึ่งกลไกเหล่านี้เป็นกลไกสำคัญในการเข้าระวัง และส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพให้แก่แรงงานข้ามชาติในประเทศไทยมาตลอด  การแถลงข่าวที่มีการสร้างความสับสนระหว่างผู้ต้องกักและแรงงานข้ามชาติในประเทศไทยจากการนำเสนอข่าวในครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อแรงงานข้ามชาติ และเกิดผลกระทบต่อแนวทางการจัดระบบบริการด้านสุขภาพของประเทศไทยต่อแรงงานข้ามชาติ รวมทั้งอาจจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงการบริการด้านสุขภาพ

จากสถานการณ์การพบผู้ป่วยในห้องกักครั้งนี้ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ มีความเห็นว่า การเฝ้าระวังและป้องกันโรคโควิด-19 ในกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ดี ต้องไม่ใช่การพยายามสร้างความน่าหวาดกลัวของแรงงานข้ามชาติ แต่คือการทำให้เขากลายเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมป้องกันและดูแลสุขภาพของตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของสังคมไทย รวมทั้งมีข้อห่วงใยและข้อเสนอต่อมาตรการในการป้องกันและดูแลผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ไม่มีสัญชาติไทยดังนี้

  1. รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขจะต้องกำหนดมาตรการในการดูแลและรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่พบในห้องกักสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในฐานะผู้ป่วยตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งจะต้องกำหนดแนวทางที่ชัดเจนในกรณีการเข้ารับการรักษาของผู้ป่วยที่ไม่มีสัญชาติไทยที่สอดคล้องกับประกาศของกระทรวงสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง โดยอาจจะพิจารณาเปิดโรงพยาบาลสนามเพื่อให้การรักษาผู้ป่วยในห้องกัก ทั้งนี้เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และเพื่อยืนยันว่าผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนจะได้รับการดูแลรักษาเช่นเดียวกัน
  2. รัฐบาลและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทบทวนมาตรการการกักผู้ต้องกักที่อยู่ระหว่างรอการส่งกลับในห้องกักที่มีความแออัดโดยการพิจารณาทางเลือกแทนการกักในห้องกักอื่นๆ เช่น การจัดหาพื้นที่ในการดูแลชั่วคราวสำหรับผู้ถูกกัก โดยตระหนักว่าผู้ต้องกักคือผู้ที่รอการส่งกลับหลังจากการดำเนินคดีเสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้อาจจะพิจารณาใช้บทบัญญัติตามาตรา 54 วรรคสามของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ในการจัดพื้นที่ในการดูแล หรือให้ใช้มาตรการอื่นตามอำนาจของเจ้าพนักงานตามมาตรา 54 ดำเนินการตามความเหมาะสมกับการระบาดของโรค
  3. รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขต้องตระหนักว่ามาตรการในการป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับแรงงานข้ามชาติ คือการที่ทำให้แรงงานข้ามชาติสามารถเข้าถึงการรับบริการทางสุขภาพทั้งทางด้านการรักษาพยาบาล การส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรค ควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในการทำงาน การเข้าถึงการช่วยเหลือตามกฎหมายและตามนโยบายของภาครัฐ เพราะการขาดความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การขาดความมั่นคงทางดำเนินชีวิต จะนำไปสู่การขาดความมั่นคงทางสุขภาพด้วยเช่นกัน
  4. รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขควรจะต้องมีมาตรการที่จะดำเนินการให้แรงงานข้ามชาติเข้าถึงการตรวจโรคโควิดอย่างทั่วถึง และสนับสนุนการทำงานของอาสาสมัครสาธารณสุขแรงงานข้ามชาติในการเข้าไปทำงานให้ความรู้ เฝ้าระวังและส่งเสริมสุขภาพควบคู่ไปกับการทำงานของระบบบริการสุขภาพของไทยในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อเป็นหลักประกันว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถเข้าใจ ปฏิบัติตัวตามมาตรการการป้องกันโรคโควิด-19 ของรัฐโดยปราศจากข้อจำกัดด้านภาษา
  5. กลุ่มประชากรข้ามชาติในประเทศไทยในปัจจุบันมีหลากหลายกลุ่มหลายสถานะ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย คนไร้รัฐ หรือผู้ต้องกักที่รอการส่งกลับ ซึ่งแต่ละกลุ่มต่างมีโอกาสในการเข้าบริการด้านสุขภาพที่แตกต่างกัน ดังนั้นการแถลงข่าวของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) จึงควรแถลงข้อมูลให้ชัดเจนว่าเป็นกลุ่มไหน มีข้อจำกัดในการดูแลป้องกันโรคติดต่ออย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดอคติต่อประชากร และสามารถนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดต่อไป

 

ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

-----------------------------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ

โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ [email protected]