จดหมายเปิดผนึก
8 เมษายน 2563
เรื่อง ข้อเสนอเรื่องการบริหารจัดการคนต่างชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
เรียน นายกรัฐมนตรี
สำเนาถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมถึงการประกาศปิดด่านผ่านแดนทั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งการประกาศห้ามเคลื่อนย้ายคนต่างด้าวเข้าเขตจังหวัดต่างๆ หลายจังหวัดรวมถึงจังหวัดชายแดน ส่งผลให้คนต่างชาติจำนวนมาก ทั้ง นักท่องเที่ยว นักลงทุน นักธุรกิจ ครอบครัวต่างชาติของชาวไทย ฯลฯ ได้รับผลกระทบในเรื่องสถานะในการอยู่อาศัยในประเทศไทย ซึ่งต้องดำเนินการขออนุญาตอยู่ต่อในประเทศ และดำเนินการแจ้งตามกฎหมายคนเข้าเมือง ทำให้ปัจจุบันมีคนต่างด้าวจำนวนมากที่ต้องเดินทางไปดำเนินการขออยู่ในประเทศไทย รวมทั้งการไปแจ้งที่พักอาศัยทุก 90 วันตามกฎหมายที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง รวมถึงสถานเอกอัครราชทูตบางประเทศเพื่อไปขอหนังสือรับรอง ด้วยสถานที่คับแคบเมื่อเทียบกับคนจำนวนมากที่ต้องไปดำเนินการในช่วงนี้อาจจะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ง่ายมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวย่อมขัดกับมาตรการที่ทางรัฐบาลกำหนดไว้ (Social Distancing)
ดังนั้นเพื่อบรรเทาปัญหาดังกล่าวผลกระทบต่อชาวต่างชาติที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทาง และลดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ จึงมีข้อเสนอต่อ นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้รักษาการณ์ตามกฎหมายคนเข้าเมือง ใช้มาตรา 17 ของพรบ.คนเข้าเมือง เป็นวาระเร่งด่วน ดังนี้
1. ขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้อยุ่ในราชอาณาจักรให้แก่คนต่างชาติตามประเภทการตรวจลงตรา รวมทั้ง VOA กลุ่มยกเว้นการตรวจลงตราทุกกลุ่ม ซึ่งประกอบไปด้วยนักท่องเที่ยว แรงงานทักษะ นักลงทุน ชาวต่างชาติที่เป็นครอบครัวของคนไทย ฯลฯ โดยการอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรตั้งแต่ 26 มีนาคม 2563 ตั้งแต่เริ่มใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงวันที่สิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกประกาศขยายได้ตามสถานการณ์
2. ขยายระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัยตามมาตรา 37(5) รวมถึงตามประกาศกระทรวงมหาดไทยี่เกี่ยวต่าง ๆ ในกรณีคนต่างชาติที่ครบระยะเวลาการแจ้งที่พักอาศัย 90 วัน นับตั้งแต่วันที่เริ่มใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจนถึงวันที่สิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินออกไป และหากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลายให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองออกประกาสขยายได้ตามสถานการณ์
3. ขยายระยะเวลาในการอนุญาตให้อยู่อาศัยในราชอาณาจักรให้แก่คนต่างชาติที่ถือบัตรผ่านแดน และบัตรผ่านแดนชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม 2563 ซึ่งวันที่เริ่มปิดด่านชายแดนไปจนถึงวันที่มีการเปิดด่านชายแดนของประเทศที่มีชายแดนติดต่อกับประเทศไทย
4. ขยายระยะเวลาในการกลับเข้ามาประเทศเกินกว่า 1 ปีของคนต่างด้าวที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยในราชอาณาจักรที่ขอสลักหลังแจ้งออกนอกราชอาณาจักรและจะกลับเข้ามาในราชอาณาจักรตามสิทธิ เพื่อไม่ให้ขาดสิทธิในการอยู่ในราชอาณาจักร โดยให้เดินทางเข้ามาเมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศกำหนด
สำหรับคนต่างชาติอื่น ๆ ที่อาจจะยังไม่มีสถานะเข้าเมืองถูกกฎหมาย ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพิจารณาอนุญาตให้พักอยู่อาศัยในท้องที่ที่อยู่ในปัจจุบันระหว่างรอการส่งกลับ หรือจนกว่าจะมีมาตรการอื่น ๆจากรัฐตามแต่กรณี โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 54 วรรคสามและวรรคสี่มาใช้ดำเนินการตามช่วงเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินให้ดำเนินการส่งกลับหรือตามมาตรการอื่น ๆ ตามแต่กรณีเมื่อสิ้นสุดการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเมื่อสถานการณ์คลี่คลายสู่ภาวะปรกติตามที่ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยคนต่างชาติจะต้องเดินทางออกนอกประเทศภายใน 15 วันนับตั้งแต่มีประกาศจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
เมื่อสถานการณ์คลีคลายสู่ภาวะปรกติแล้ว ให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศให้มีการดำเนินการตามกฎหมายตามที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองประกาศกำหนด ทั้งนี้ต้องไม่น้อยกว่า 15 วันทำการ เพื่อให้คติได้เตรียมความพร้อมและไม่เป็นการแออัดเกินไป ทั้งนี้ในการดำเนินการสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะต้องไม่ออกประกาศและเงื่อนไขใด ที่สร้างภาระให้แก่คนต่างชาติเกิดความจำเป็น อันอาจจะเป้นการซ้ำเติมผลกระทบที่เกิดจากสถานการณ์ได้
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
-----------------------------------------------------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
โทรศัพท์ 089 788 7138 หรือ อีเมล์ [email protected] หรือ อีเมล [email protected]
Attachment | Size |
---|---|
จดหมายเปิดผนึก : เรื่อง ข้อเสนอเรื่องการบริหารจัดการคนต่างชาติในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (116.51 KB) | 116.51 KB |