สถานการณ์แงงานข้ามชาติ ฉบับที่ 3 วันที่ 20 พฤษภาคม 2564
สถานการณ์แพร่ระบาดโควิด 19 ในกลุ่มประชากรข้ามชาติยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดมีรายงานข่าวว่ามีคลัสเตอร์ใหม่ที่อำเภอบางเสาธง จังหวัดสมุทรปราการ พบผู้ติดเชื้อกว่า 142 ราย ในพื้นที่กรุงเทพบริเวณแค้มป์คนงานก็มีรายงานว่าพบผู้ติดชื้อจำนวน196 ราย นอกจากนี้มีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด 19 ในห้องกักจำนวน 21 คน และในจำนวนนี้เป็นกลุ่มประชากรข้ามชาติที่ไม่ระบุสัญชาติในห้องกักจังหวัดสงขลามากถึง 20 คน จำนวนผู้ติดเชื้อในกลุ่มประชากรข้ามชาติยังไม่มีรายงานตัวเลขที่แน่นอน ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากปัญหาเรื่อง Data dictionary ที่เปิดให้มีการกรอกข้อมูลเป็น tex แต่ไม่มีเจ้าหน้าที่ update ข้อมูลที่ทันต่อสถานการณ์
จากสถานการณ์แพร่ระบาดข้างต้นทำให้หลายพื้นที่ออกมาตรการควบคุมโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติอย่างเข้มงวด เช่น จังหวัดเชียงใหม่ประกาศมาตรการควบคุมแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา ที่มาจากพื้นที่สีแดงเข้มห้ามเข้าจังหวัดเชียงใหม่ ผลกระทบจากมาตรการควคุมโรคยังลามไปถึงเรื่องจากจดทะเบียนการเกิดของเด็กข้ามชาติที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากความล่าช้าในการดำเนินการของเทศบาล โดยพบว่าพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครแรงงานข้ามชาติที่คลอดบุตรในเดือนเมษายนยังไม่สามารถแจ้งเกิดได้และมีคิวยาวถึงเดือนพฤศจิกายนทำให้แรงงานข้ามชาติไม่สามารถใช้สิทธิในการเบิกคืนค่าใช้จ่ายในการคลอดบุตรรวมถึงเงินสงเคราะห์บุตรได้ อีกมาตรการสำคัญที่ออกมาในช่วงนี้ คือ กรมการจัดหางานออกยาแรงโดยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564 สั่งการให้บังคับใช้พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเข้มงวดและให้รายงานการตรวจสอบ ปราบปราม จับกุมและดำเนินคดีต่อผู้ประกอบการและแรงงานที่ทำงานผิดกฎหมาย ซึ่งมาตรการดังกล่าวอาจจะย้อนแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ 26 มกราคม 2564 ที่ยังอยู่ในระหว่างการผ่อนผันและการขยายระยะเวลาการตรวจโรค และอาจจะมีแรงงานข้ามชาติที่ตกงานหรือเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเนื่องจากวิกฤติโรคระบาด และในระยะเวลาอันใกล้นี้จะมีกลุ่มแรงงนข้ามชาติหลายกุล่มที่สถานะทางกฎหมายจะสิ้นสุดลง เช่น
·กลุ่มที่ถือบัตรประจำตัวผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย (บัตรสีชมพู) ที่จะหมดอายุในวันที่ 30 กันยายน 2564
·กลุ่มตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับวันที่ 20 สิงหาคม 2562
·จะมีกลุ่มที่ทยอยหมดอายุเพิ่มขึ้นอีก คือ แรงงาน MoU ที่จะครบ 4 ปีหลัง 31 ธันวาคม 2564 และ
·ตามด้วยกลุ่มแรงงานที่ขึ้นทะเบียนตามมติคณะรัฐมนตรีฉบับต่างๆที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มีนาคม 2565
แรงงานข้ามชาติเหล่านี้ที่จะได้รับผลกระทบจากแนวทางการควบคุมโรคระบาดที่ขาดวิสัยทัศน์ในการ
แก้ไขปัญหาเชิงระบบนี้
แรงงานข้ามชาติจะได้วัคซีนหรือไม่?
มีรายงานอย่างไม่เป็นทางการว่ารัฐบาลมีนโยบาย “คนในแผ่นดินไทยฉีดได้หมด” ซึ่งรวมถึงกลุ่มประชากรข้ามชาติ แรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย กลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ หรือกลุ่มที่ไม่มีเอกสารระบุตัวตนทางกฎหมายด้วย อย่างไรก็ดีปัจจุบันรัฐได้ออกแอพพลิเคชั่น “หมอพร้อม” เพื่อให้ประชาชนลงทะเบียนออนไลน์ในการจองฉีดวัคซีนฟรีที่รัฐบาลจัดหา แต่พบว่ามีข้อจำกัดเรื่องการลงทะเบียนอันเนื่องจากปัญหาเชิงเทคนิค นอกจากนี้ ปัจจุบันแอพหมอพร้อมจำกัดให้ลงทะเบียนเฉพาะกลุ่มเสี่ยง คือ ผู้สูงอายุ กลุ่มมีโรคประจำตัว คนที่มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เท่านั้น และกลุ่มประชากรข้ามชาติยังไม่สามารถลงทะเบียนผ่านแอพฯนี้ได้ นอกจากการลงทะเบียนเพื่อรับวัคซีนผ่านแอพฯหมอพร้อมแล้ว รัฐบาลยังมีนโยบายให้แต่ละโรงพยาบาลบริหารจัดการด้วยตนเองได้ด้วย เช่น อาจจะใช้ระบบ QR code หรือการ walk in เป็นต้น
นอกจากปัญหาเรื่องการจัดการให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนแล้ว MWG พบว่าอุปสรรคสำคัญอีกประการในการเข้าถึงวัคซีนในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ คือ เรื่อง ล่าม ในภาษาของแรงงานข้ามชาติ ทั้งภาษาพม่าและกัมพูชา ด้วย
ปัจจุบันแรงงานข้ามชาติสามารถลงทะเบียนเพื่อรอวัคซีนโควิด 19 ได้แล้ว ตามลิ้งค์นี้ https://vaccinecovid19.cra.ac.th/VaccineCOVI.../content/home แบบฟอร์มตามลิงค์ยังเป็นฟอร์มเฉพาะภาษาไทย และมีรายงานจากสมาชิก MWG ว่ามีแรงงานข้ามชาติทดลองลงทะเบียนแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ อย่างไรก็ดีวัคซีนที่ประเทศไทยจะให้บริการแก่ประชาชน ณ ปัจจุบัน มี 2 ยี่ห้อ คือซิโนเวคและเอกสตร้าซินิก้า และทั้งสองยี่ห้อนี้มีข้อมูลว่าสามารถลดความรุนแรงของการติดเชื้อและลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้ในปริมาณที่สูงมาก แต่เนื่องจากข้อจำกัดที่ประชาชนไม่สามารถเลือกยี่ห้อ/ประเภทของวัคซีนได้ด้วยตนเอง จึงขอให้ทุกท่านศึกษาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือก่อนรับวัคซีนให้รอบด้าน