จดหมายเปิดผนึก
18 มีนาคม 2563
เรื่อง ข้อเสนอต่อแนวทางบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติ ปี 2562-2563
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
สำเนาถึง
- อธิบดีกรมการจัดหางาน
- ปลัดกระทรวงแรงงาน
ตามที่รัฐบาลได้มีติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20สิงหาคม 2562 เรื่อง การบริหารจัดการการทำงานของแรงงานต่างด้าว ปี 2562-2563 ในลักษณะของการทำ MOU แบบพิเศษ ทางเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group (MWG) ได้เข้าสังเกตการณ์การขึ้นทะเบียนแรงงาน ณ ศูนย์การบริการเบ็ดเสร็จ และ รวบรวมประเด็นปัญหาที่ได้รับการแจ้งจากนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ โดยมีข้อค้นพบดังนี้
1. การจัดทำศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จและการยื่นเอกสารดำเนินการแบบออนไลน์เป็นเรื่องที่ดี แต่ก็พบว่านายจ้างและแรงงานข้ามชาติจำนวนมากยังไม่เข้าใจขั้นตอนและไม่สามารถดำเนินการในระบบออนไลน์ได้ ทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินการ ขณะเดียวกันการนำข้อมูลเข้าระบบยังพบเรื่องปัญหาที่ไม่มีข้อมูลของแรงงานข้ามชาติในระบบ เนื่องจากยังไม่มีการบันทึกข้อมูลแรงงานข้ามชาติ ทำให้การดำเนินการจึงเป็นไปอย่างล่าช้า ในพื้นที่กรุงเทพฯ และจังหวัดขนาดใหญ่ความล่าช้าเกิดจากการดำเนินการตรวจสุขภาพของสถานพยาบาล ช่วงแรก เช่นบางโรงพยาบาลสามารถดำเนินการตรวจได้ในวันธรรรมดาเพียง 40 คนต่อวัน ทำให้ตัวเลขของแรงงานมีจำนวนค่อนข้างน้อยในช่วงแรก และมาแออัดในช่วงท้าย คาดการณ์ว่ามีแรงงานข้ามชาติที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วประมาณ 30% ของแรงงานข้ามชาติที่ต้องดำเนินการทั้งหมด ในขณะที่เหลือเวลาไม่ถึง 1 เดือน ทำให้มีข้อกังวลว่าแรงงานข้ามชาติจะสามารถดำเนินการทันเวลาหรือไม่
2. แรงงานข้ามชาติที่เป็นกลุ่มเป้าหมายตามมติครม.นี้มีทั้งหมด 2,001,379 คน โดยแบ่งเป็น
2.1 กลุ่มที่หมดอายุก่อน 31 มีนาคม 2562 ทั้งหมด 261,491 คน
2.2 กลุ่มหมดอายุตั้งแต่ 3 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นไป จำนวน 1,739,888 คน พบว่าตัวเลขของแรงงานข้ามชาติที่นายจ้างได้ดำเนินการยื่นเนมลิสต์แล้วประมาณ 1 ล้านคน และต่อมากรมการจัดหางานได้ปรับเป้าหมายแรงงานจากเดิม 1,739,888 คน เหลือเพียง 1.1 ล้านคน ทำให้มีตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่อาจจะหายไปจากการดำเนินการมากถึงประมาณ 7 แสนคน ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ เช่น ไม่พบข้อมูลแรงงานข้ามชาติในระบบ การสิ้นสุดการอนุญาตทำงานเพราะนายจ้างเดิมแจ้งออกและไม่สามารถหานายจ้างใหม่ได้ภายใน 15 วันหลายครั้งพบว่าเป็นความไม่ชัดเจนในการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่เรื่องแนวปฏิบัติในการรับแจ้งเข้าโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการนับวันในการหานายจ้างและการแจ้งเข้า ทำให้แรงงานข้ามชาติจำนวนมากถูกปฏิเสธที่จะได้รับการแจ้งเข้า ขณะเดียวกันก็ยังไม่พบเห็นการเข้าสู่การจ้างงานในระบบ MoU แรงงานข้ามชาติกลุ่มนี้อย่างชัดเจน จึงมีข้อกังวลใจว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้ยังรอการดำเนินการ หรือยังทำงานในประเทศไทยแม้ว่าสถานะของตัวเองอาจจะไม่ถูกต้องแล้ว
3. จากสถานการร์การระบาดของโรค Covid-19 ทำให้นายจ้างและแรงงานข้ามชาติจำนวนมากมีความไม่สบายใจและรู้สึกไม่ปลอดภัยในการดำเนินการที่ศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จและหน่วยงานของรัฐที่มีจำนวนคนแออัด รวมถึงมาตรการของประเทศต้นทางที่ทบทวนเรื่องการส่งแรงงานข้ามชาติมาทำงานในประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ทำให้มีความกังวลใจในการดำเนินการตามติครม.ของนายจ้างและแรงงานข้ามชาติ ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถดำเนินการนำเข้าตามระบบ MoU ได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจ้างแรงงานข้ามชาติและการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติในระยะต่อไป
จากข้อค้นพบและข้อกังวลใจข้างต้น เครือข่ายฯ จึงมีข้อเสนอต่อกรมการจัดหางานดังนี้
- ขอให้มีการพิจารณาขยายระยะเวลาในการดำเนินการซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2563 ออกไป ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบจากจำนวนของแรงงานข้ามชาติที่ยังเข้าไม่ถึงการดำเนินการ และลดผลกระทบของการระบาดของโรค Covid-19
- ขอให้มีการพิจารณาปรับปรุงเงื่อนไขการดำเนินการทั้งในเรื่องการขอแก้ไขเรื่องฐานข้อมูลในระบบออนไลน์ การแก้ไขปัญหาของนายจ้างที่ไม่สามารถใช้ระบบออนไลน์ได้ การตรวจสุขภาพที่มีความล่าช้า และเรื่องขั้นตอน เอกสารในการดำเนินการให้มีความสะดวกมากขึ้น
- ขอให้มีการทบทวนและหามาตรการรองรับแรงงานข้ามชาติที่ไม่สามารถดำเนินการตามมติครม.ในครั้งนี้ และกลุ่มที่จะต้องดำเนินการกลับไปทำ MoU ในประเทศต้นทาง ให้มีความสะดวกในการจัดทำ MoU ในเงื่อนไขพิเศษ เพื่อลดปัญหาผลกระทบจากการเดินทางข้ามประเทศซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 และแก้ไขปัญหาการชะลออการดำเนินการของประเทศต้นทางในการจัดส่งแรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยตามระบบMoUโดยอาจจะพิจารณาให้ดำเนินการในรูปแบบ MoU พิเศษที่ไม่ต้องเดินทางกลับประเทศต้นทาง เหมือนที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้
ทั้งนี้เครือข่ายฯ เชื่อมั่นว่า การบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบ มุ่งไปสู่การพัฒนาสถานะแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายและการนำเข้าแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมายอย่างเป็นระบบตามบริบทเงื่อนไขของแรงงานข้ามชาติ ประเทศไทยและประเทศต้นทาง จะเป็นแนวทางในการจ้างแรงงานข้ามชาติอย่างยั่งยืนและนำไปสู่การย้ายถิ่นอย่างปลอดภัย
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ
----------------------------------------------------------------------
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
นายอดิศร เกิดมงคล ผู้ประสานงาน เครือข่ายประชากรข้ามชาติ โทรศัพท์ 089 788 7138
หรือ อีเมล์ [email protected] หรือ อีเมล adisorn.keadmongkol@gmail.com